x close

64 ปี พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตำนานพรรคเก่าแก่ที่สุดของไทย





          หายใจโล่งไปอีกเปลาะ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินยกคำร้องที่ กกต.ยื่นขอยุบ พรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีแจ้งการใช้เงิน 29 ล้านบาทไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในสมัยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจาก กกต.ยื่นฟ้องมิชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่า ตำนานพรรคการเมืองอันเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยยังคงอยู่ และเดินหน้าต่อไป 

          งานนี้กระปุกดอทคอม ก็ขอนำเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานถึง 64 ปีมาบอกกัน

          พรรคประชาธิปัตย์ หรือชื่อย่อ ปชป. (Democrat Party) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489 โดยนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก โดยวัตถุประสงค์ที่ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในสมัยนั้น เพื่อเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการให้ยุคนั้น โดยคำว่า "ประชาธิปัตย์" หมายถึง "ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย"

          ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2551 ว่า มีสมาชิกพรรคทั้งหมด 2,874,860 คน และมีสาขาพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 195 สาขา 





สัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

          มีสัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีฟ่อนข้าวประดับอยู่เป็นขอบ แสดงความหมายถึงการเอาชนะมาร หรือความชั่วร้ายต่าง ๆ ฟ่อนข้าว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ 

          โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดปราศรัยที่สนามหลวงแล้ว ฝนเกิดตกลงมา แต่ผู้ที่มาฟังไม่มีใครวิ่งหลบเลย ยังคงนั่งฟังกันต่อ จึงมีผู้ปรารภขึ้นมาว่า น่าจะใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ ต่อมานายควงได้จัดรถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคเหนือ ที่ข้างรถตู้คันหนึ่งมีสัญลักษณ์รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมติดอยู่ จึงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์พรรค

          ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สีฟ้าเป็นสีประจำพรรค ซึ่งหมายถึง อุดมการณ์อันบริสุทธิ์ และมีคำขวัญของพรรค ว่า สจฺจํเว อมตา วาจา หมายความว่า คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

          พรรคประชาธิปัตย์ ได้กำหนดอุดมการณ์ของพรรคไว้ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งพรรค ทั้งหมด 10 ข้อคือ

          1. พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์

          2. พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน

          3. พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลัก กฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

          4. พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด ๆ

          5. พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เนื่องจากความใกล้ชิด ขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

          6. พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมีที่ทำกิน-ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

          7. พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค

          8. พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง การศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลปะ, วรรณกรรม, จารีต ประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน

          9. พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุงกำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัยทั้งคุณภาพ และปริมาณเท่าที่จะเหมาะสมแก่แผนการทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง

          10. พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ


การจัดตั้งรัฐบาล และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 7 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2491 , พ.ศ.2518, พ.ศ.2519 (2 ครั้ง), พ.ศ.2535, พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2551 โดยได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 4 ครั้ง และทำหน้าที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน 16 ครั้ง ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ มีหัวหน้าพรรคทั้งหมด 7 คน ได้แก่

          1. นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ.2489-2511

          2. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2511-2522

          3. พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2522-2525

          4. นายพิชัย รัตตกุล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2525-2534

          5. นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2534-2546

          6. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2546-2548

          7. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2548-ปัจจุบัน 


          ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีผู้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย 4 คน คือ 





นายควง อภัยวงศ์


1. นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 สมัย คือ 

          - สมัยแรก : 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 

          - สมัยที่ 2 : 31 มกราคม พ.ศ. 2489 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2489

          - สมัยที่ 3 : 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 

          - สมัยที่ 4 : 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491 




หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช


2. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 สมัย คือ

          - สมัยแรก : 17 กันยายน พ.ศ. 2488 – 31 มกราคม พ.ศ. 2489

          - สมัยที่ 2 : 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518

          - สมัยที่ 3 : 20 เมษายน พ.ศ. 2519 - 25 กันยายน พ.ศ. 2519

          - สมัยที่ 4 : 25 กันยายน พ.ศ. 2519 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519





นายชวน หลีกภัย



3.นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย คือ

          - สมัยแรก : 23 กันยายน พ.ศ. 2535 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

          - สมัยที่ 2 : 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543




นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


4.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน

          ขณะที่เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญของพรรค ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วย

          1. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่ง 6 เมษายน 2489 - 16 กันยายน 2491

          2. นายเทพ โชตินุชิต     ดำรงตำแหน่ง 17 กันยายน 2491 - 25 มิถุนายน 2492

          3. นายชวลิต อภัยวงศ์  ดำรงตำแหน่ง มิถุนายน 2492 - 29 พฤศจิกายน 2494

          4. นายใหญ่ ศวิตชาติ     ดำรงตำแหน่ง 30 กันยายน 2498 - 20 ตุลาคม 2501

          5. นายธรรมนูญ เทียนเงิน ดำรงตำแหน่ง 26 กันยายน 2513 - 6 ตุลาคม 2518

          6. นายดำรง ลัทธิพิพัฒน์  ดำรงตำแหน่ง 13 พฤศจิกายน 2518 - 6 ตุลาคม 2521

          7. นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ดำรงตำแหน่ง 3 กุมภาพันธ์ 2522 - 26 พฤษภาคม 2522

          8. นายมารุต บุนนาค ดำรงตำแหน่ง 26 พฤษภาคม 2522 - 3 เมษายน 2525

          9. นายเล็ก นานา ดำรงตำแหน่ง 3 เมษายน 2525 - 5 เมษายน 2529

          10. นายวีระ มุสิกพงศ์ ดำรงตำแหน่ง 5 เมษายน 2529 - 10 มกราคม 2530

          11. พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่ง 10 มกราคม 2530 - 10 สิงหาคม 2543

          12. นายอนันต์ อนันตกูล  ดำรงตำแหน่ง 17 สิงหาคม 2543 - 6 พฤษภาคม 2546

          13. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์  ดำรงตำแหน่ง 6 พฤษภาคม 2546 - 10 กุมภาพันธ์ 2548

          14. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดำรงตำแหน่ง 5 มีนาคม 2548 - ปัจจุบัน 


บทบาทคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์

          ในปี พ.ศ.2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน จึงได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล และเสนอแนวทางการบริหารประเทศควบคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบรัฐบาลเงาของประเทศอังกฤษ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
64 ปี พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตำนานพรรคเก่าแก่ที่สุดของไทย อัปเดตล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2553 เวลา 16:47:25 24,339 อ่าน
TOP