x close

สรุป 7 วันอันตราย ปี 54 อุบัติเหตุลด-ตายน้อยลง

 
 
  7 วันอันตราย 2554


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน สงกรานต์ 2554 เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 3,215 ครั้ง เสียชีวิตรวม 271 คน บาดเจ็บรวม 3,476 คน

            นายชวรัตน์  ชาญวีรกูล  ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวม สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนี้

            เกิดอุบัติเหตุรวม 3,215 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (3,516 ครั้ง) 301 ครั้ง ร้อยละ 8.56

            ผู้เสียชีวิตรวม 271 คน ลดลงจากปี 2553 (361 คน) 90 คน ร้อยละ 24.93

            ผู้บาดเจ็บรวม 3,476 คน ลดลงจากปี 2553 (3,802 คน) 326 คน ร้อยละ 8.57

            มีผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลสถาบันการแพทย์ ฉุกเฉินแห่งชาติ 24,533 ราย ลดลงร้อยละ 18.96 

            จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช  135 ครั้ง รองลงมา นครสวรรค์ 115 ครั้ง

            จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 19 คน รองลงมา นครสวรรค์  13 คน กรุงเทพฯ 12 คน 

            จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 144 คน รองลงมา นครสวรรค์ เชียงราย จังหวัดละ 121 คน

            สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 38.76 

            พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยสูงถึง ร้อยละ 32.59  โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 81.12  ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.73 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.18  ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 33.00 

            ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 31.73

            ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 53.77  และกลุ่มเด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 28.08

            การเรียกตรวจยานพาหนะ 4,910,038 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 646,837 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 202,956 ราย ร้อยละ 31.38 รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 192,535 ราย ร้อยละ 29.77

            นายชวรัตน์  กล่าวต่อไปว่า  แม้ความพยายามของทุกฝ่ายในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554  จะสามารถลดความสูญเสียลงได้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมตลอดทั้งปี อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูง  โดยมีปัจจัยหลักสำคัญจากการเมาแล้วขับ ศปถ. จึงขอกำชับให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นในทุกระดับ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน

            นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะเร่งดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์สอดคล้องกับสถานการณ์และส่งผลถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ศปถ. จะได้นำผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

            "ผมเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็งดังเช่นการดำเนินงานลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 ก็จะช่วยให้การดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในระยะต่อไปเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานทศวรรษแห่งความปลอดภัยของประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น"

            นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ในการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด อำเภอ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ อย่างเคร่งครัด เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุทางถนน โดยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายจราจรและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เขตเล่นน้ำสงกรานต์ ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน 

            อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานลดและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในระยะต่อไปประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนทั่งระบบ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน ยานพาหนะ พฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ศปถ. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลดภัยทางถนน และปี พ.ศ.2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ 


7 วันอันตราย



[17 เมษายน] 7 วันอันตราย ผ่านไป 6 วันตาย 229 ราย เจ็บ 3,170 คน

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณชัย (ปภ.) สรุป 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผ่านไปแล้ว 6 วัน ระหว่างวันที่ 11 - 16 เมษายน 2554 มีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 229 ราย บาดเจ็บ 3,170 คน

          จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จำนวน 13 ราย รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 11 ราย

          สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ยังคงเป็นเมาสุราและขับ ที่ร้อยละ 31.03 จากจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด และประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นรถจักรยานยนต์

          สำหรับอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 16 เมษายน 2554 เกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 348 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 41 คน ผู้บาดเจ็บ 386 คน


อุบัติเหตุ

[16 เมษายน] 7 วันอันตราย สงกรานต์วันที่ 5 สังเวย 188 ศพ
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          วันนี้ (16 เมษายน) พล.ต.ท.ดนัยธร วงศ์ไทย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%” เกิดอุบัติเหตุ 443 ครั้ง เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 (521 ครั้ง) ลดลง 78 ครั้ง ร้อยละ 14.97 ผู้เสียชีวิต 40 คน เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 (46 คน) ลดลง 6 คน ร้อยละ 13.04 ผู้บาดเจ็บ 470 คน  เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 (585 คน) ลดลง 115 คน ร้อยละ 19.66

          ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.05 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ร้อยละ 30.98  ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.58  ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 58.92 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 40.18 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.96  ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.50 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 49.22 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 20 ครั้ง

          สำหรับจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 5 คน รองลงมา ลพบุรี 4 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 21 คน รองลงมา นครสวรรค์ ราชบุรี สุพรรณบุรี จังหวัดละ 18 คน ทั้งนี้  ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,507 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 70,546 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 746,175 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 103,461 ราย โดยมีความผิดฐาน ไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 31,576 รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 30,811 ราย
     
          สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 11 – 15 เมษายน 2554) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,584 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (2,863 ครั้ง) 297 ครั้ง ร้อยละ 9.75  ผู้เสียชีวิตรวม 188  คน  ลดลงจากปี 2553 (257 คน) 69 คน ร้อยละ 26.85 ผู้บาดเจ็บรวม 2,786 คน ลดลงจากปี 2553 (3,104 คน) 318 คน ร้อยละ 10.24 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 117 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 100 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 10 คน รองลงมา กรุงเทพฯ 9 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 124 คน รองลงมา เชียงราย 107 คน


อุบัติเหตุ

[15 เมษายน] 7 วันอันตราย สงกรานต์ 4 วัน สังเวยแล้ว 148 ศพ เจ็บ 2,316

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 เมษายน 2554 นายกมล รอดคล้าย รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100% สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 14 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,141 ครั้ง ลดลงจากที่แล้ว 374 ครั้ง ร้อยละ 14.87  ผู้เสียชีวิตรวม 148 คน ลดลงจากปีที่แล้ว  64 คน ร้อยละ 30.19 ผู้บาดเจ็บรวม 2,316 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 418 คน ร้อยละ 15.29

          จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 97 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 93 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 8 คน รองลงมา สุพรรณบุรี เชียงใหม่ จังหวัดละ 7 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 103 คน รองลงมา เชียงราย 100 คน


นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต
           
[14 เมษายน] 7 วันอันตราย วันที่ 3 ดับแล้ว 116 ราย

          ปภ. แถลงยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบ รวมทั้งประเทศ ตายแล้ว 116 ราย

            นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 แถลงสรุปยอดการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย ประจำวันที่ 13 เมษายน 2554 ว่า มียอดการเกิดอุบัติเหตุ 733 ครั้ง โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช มียอดการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 40 ครั้ง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 784 ราย ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิต 57 ราย โดย กรุงเทพทมหานคร และขอนแก่น มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 4 ราย

            ขณะที่ ยอดรวมการเกิดอุบัติเหตุตลอด 3 วัน พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุ 1,760 ราย โดยจังหวัดเชียงราย มียอดผู้บาดเจ็บสูงสุด 85 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตรวมตลอด 3 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 116 ราย และ กรุงเทพมหานคร มียอดรวมสูงสุด 7 ราย

            ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุมาจากการเมาสุราและขับรถเกิดกว่าที่กฎหมาย กำหนดโดยมีสถิติการจับกุมดำเนินคดีเรื่องของสุราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีถึง 61%


7วันอันตราย



[13 เมษายน] 7 วันอันตราย วันที่สองดับรวม 59 ศพ

            สงกรานต์วันที่ 2 ยอดดับรวม 59 ศพ ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุ และผู้เสียชีวิตน้อยลงกว่าปีก่อน

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 2554  ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%" ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 528 ครั้ง (ลดลงจากปี 2553 342 ครั้ง) มีผู้เสียชีวิต 30 คน (ลดลงจากปี 2553 39 คน) ผู้บาดเจ็บ 576 คน (ลดลงจากปี 2553 353 คน)

          ขณะที่เมื่อสรุปอุบัติเหตุสะสมตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 893 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 534 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 37.42 มีผู้เสียชีวิตรวมสองวัน 59 คน ลดลงจากปี 2553 55 คน คิดเป็นร้อยละ 48.25 มีผู้บาดเจ็บรวม 976 คน ลดลงจากปี 2553 560 คน คิดเป็นร้อยละ 36.46

          ทั้งนี้ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด คือ เชียงราย 52 ครั้ง ตามมาด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช 38 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี จังหวัดละ 4 คน ขณะที่จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงที่สุด คือ เชียงราย มีจำนวน 54 คน รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช 40 คน

          อย่างไรก็ตาม สาเหตุอันดับที่ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุ ยังคงเป็น เมาแล้วขับ ร้อยละ 38.07 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 21.40  ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.95 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 56.25 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.28 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.20 ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.60 ขณะที่ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 59.08


วันสงกรานต์ 7 วันอันตราย


[12 เมษายน] 7 วันอันตรายสงกรานต์วันแรกตาย 29 เจ็บ 400

          ปภ. แถลง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ประเดิมวันแรก มีผู้เสียชีวิตแล้ว 29 ราย จังหวัด นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และประจวบคีรีขันธ์ ครองแชมป์ สาเหตุเมาสุราแล้วขับเป็นหลัก

          ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2554 หรือช่วง 7 วันอันตราย รายงานผลการสรุปการเกิดอุบัติเหตุวันแรกของการรณรงค์  (11 เมษายน) พบว่า มีจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุรวม 365 ครั้ง โดย จ.นครศรีธรรมราช เกิดอุบัติเหตุสูงสุดจำนวน 22 ครั้ง

          ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 29 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดจังหวัดละ 3 ราย ประกอบด้วย จ.นนทบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้นรวม 400 ราย โดย จ.เชียงราย มีผู้บาดเจ็บสูงสุด จำนวน 22 ราย ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดนั้น พบว่า การเมาสุราแล้วขับยังสูงสุดคือ ร้อยละ 30.14 และขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการเกิดอุบัติเหตุในปีนี้ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนอุบัติเหตุลดลง 192 ครั้ง ผู้เสียชีวิตลดลง 16 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บลด 207 ราย


วันสงกรานต์ 7 วันอันตราย


[7 เมษายน] ปภ. กำหนด 7 วันอันตราย วันสงกรานต์ 11-17 เม.ย.นี้
 
          อธิบดี ปภ. เผย กำหนดเปิดศูนย์เฝ้าระวังอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายสงกรานต์ ระว่าง 11-17 เม.ย.นี้

          นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย เพื่อเล่นน้ำปลอดเหล้า และขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่รณรงค์ไม่ให้มีการจำหน่าย หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ รวมทั้งรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่อย่างดี

          ทั้งนี้ ในวันที่ 11 เมษายนนี้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ที่ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เพื่อย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยอย่างเข้มงวด ซึ่งปีนี้กำหนดช่วง 7 วัน ระวังอันตราย ไว้ในวันที่ 11-17 เมษายน พร้อมเปิดศูนย์อำนวยการฯ ในเวลา 11.00 น. โดย ศปถ. ตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ให้ได้ร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมา

          ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า ควรตั้งเป้าให้สูงกว่าร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 เพราะหากมีการตั้งเป้าไว้สูง จะดูแลและช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุตามที่ ศูนย์ตั้งเป้าไว้ ก็น่าจะดำเนินการได้




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
     , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 7 วันอันตราย ปี 54 อุบัติเหตุลด-ตายน้อยลง อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2554 เวลา 12:17:05 40,246 อ่าน
TOP