x close

รุมสับหาเสียงประชานิยม ส่อเค้าเหลว-ค้านขึ้นค่าแรงเว่อร์


เงิน


สับประชานิยมส่งงบสมดุล58ส่อเค้าเหลวเป๋ว (ไทยโพสต์)

        เสียงบ่นนโยบายประชานิยมหาเสียงระงม "สรรพสามิต" ชี้คืนภาษีรถคันแรก ยกเว้นเก็บน้ำมัน ผิดหลักการสิ่งแวดล้อม "สอท." ค้านขึ้นค่าแรงเว่อร์ นิด้าโพลเผยประชาชน 87% ไม่เคยเห็นพรรคชูนโยบายสิ่งแวดล้อม

        นโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคการเมือง ใช้หาเสียง เริ่มถูกวิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเมื่อวันอาทิตย์ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า กรมสรรพสามิตได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามข่าวสารเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกี่ยว ข้อง โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรกที่จะคืนภาษีให้ผู้ซื้อไม่เกิน 1 แสนบาท ของพรรคเพื่อไทย (พท.) เพราะกระทบรายได้ภาษี รวมทั้งการตรวจสอบว่าเป็นรถยนต์คันแรกทำได้ลำบาก เพราะอาจมีการใช้ชื่อผู้อื่นซื้อได้

        นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะผิดหลักการเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับส่งเสริมให้ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการยกเว้นให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ซื้อรถรายอื่น เช่นเดียวกับนโยบายเลิกเก็บภาษีน้ำมันจากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ชพผ.) เพราะแนวโน้มภาษีสรรพสามิตต่อไปจะเน้นดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาษีน้ำมันยังทำรายได้เข้ารัฐปีละ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วลดภาษีดีเซลไปก็ทำให้รายได้หายไปราว 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังดีที่เป็นมาตรการชั่วคราว
 
         "ถ้ายกเว้นภาษีไปเลย เงินจะหายไป 1.6 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 10% ของรายได้รัฐบาล ถ้าจะทำก็ต้องลดรายจ่าย ฝ่ายการเมืองจะเอาหรือเปล่า" นายพงษ์ภาณุกล่าว และว่า รู้สึกเป็นห่วงผลกระทบทางด้านวินัยทางการคลังจากนโยบายหาเสียงต่างๆ ที่เน้นประชานิยม ไม่พูดถึงการหารายได้ภาษีเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายก็โตขึ้นมาก ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางนี้ การจัดทำงบสมดุลในปี 2558 คงไม่มีทางทำได้ โดยฐานะการคลังของประเทศตอนนี้ถือว่าเสี่ยงอยู่แล้ว ทั้งงบชำระดอกเบี้ย 2 แสนล้านบาทต่อปี รายจ่ายที่เยอะ ทั้งเบี้ยยังชีพ ค่ารักษาพยาบาลฟรี ค่ารักษาข้าราชการ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ และโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่หาเสียงอีก

         นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ส่งแบบสำรวจผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายพรรคการเมืองที่ ได้หาเสียงไปยังสมาชิกเพื่อให้ตอบกลับมา หลังจากนั้นจะนำสำรวจเพื่อสรุปแนวทางดำเนินการวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ ในวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปกำหนดนโยบายต่อไป

        นายธนิตยืนยันว่า ฐานค่าแรงในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่วันละ 210 บาท หากปรับขึ้นให้สะท้อนกับอัตราเงินเฟ้อ ก็ควรปรับขึ้นเพียง 11 บาท มาอยู่ที่ 221 บาทต่อวัน หรือปรับ 6.2% แต่ถ้าพิจารณาตามคุณภาพชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นอีก 37 บาท มาอยู่ที่วันละ 247 บาท หรือเพิ่มขึ้น 17.6% ฉะนั้นนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ ควรปรับขึ้นไม่เกิน 20 บาทต่อวัน หรือปรับขึ้น 10% เพื่อพบกันตรงกลาง และยืนยันว่าการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ใช่การเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยม 
วันเดียวกัน นิด้าโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจประชาชนเรื่อง "นโยบายสิ่งแวดล้อม" จำนวน 1,230 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 86.75% ไม่เคยได้ยินนโยบายหาเสียงเรื่องนี้เลย มีเพียง 13.25% ที่ได้ยินจาก ปชป. และ 3.82 ได้ยินจาก พท.

        และเมื่อสอบถามถึงความ เชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหากพรรคการเมืองเข้ามาเป็น รัฐบาล พบว่า เชื่อมั่นมากที่สุด คือ พท.ได้ 12.93%, ปชป. 5.69%, พรรคภูมิใจไทย 1.63% และพรรครักษ์สันติ 1.14%  แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบ 40% ขึ้นไปไม่แน่ใจในการดูแลนโยบายสิ่งแวดล้อม




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รุมสับหาเสียงประชานิยม ส่อเค้าเหลว-ค้านขึ้นค่าแรงเว่อร์ อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2554 เวลา 16:26:35 8,979 อ่าน
TOP