x close

ไม่รอด! พาณิชย์ชี้ชัด ดีแทค เป็นบริษัทต่างด้าว

 


โทรศัพท์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          พาณิชย์ฟันธง ดีแทค เป็นบริษัทต่างด้าว หลังพบผู้ถือหุ้นแทนต่างชาติ เตรียมเอาผิดนอมินี

          ยืดเยื้อกันมานาน สำหรับกรณีที่บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในข้อหากระทำผิดตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่าวด้าว พ.ศ.2542 โดยกลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทมีพฤติกรรมสนับสนุนคนต่างด้าว ให้สามารถทำธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่มีการสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะกับนิติบุคคลไทย 

          สืบเนื่องจาก บริษัท ทรู มูฟ จำกัด พบว่า ในบริษัทดีแทคมีนิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นถึง 71.35% แต่กลับแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวกับกระทรวงพาณิชย์ไว้เพียง 49% เท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างชัดเจน  

          แต่ทว่าในเวลาต่อมา นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกมาแถลงถึงเรื่องนี้ว่า จากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่ดีแทคได้ยื่นต่อกรมฯ พบว่า ดีแทคมีทุนจดทะเบียน 4,744 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรวม 33,528 คน ในจำนวนนี้มีนิติบุคคลถือหุ้น 56 ราย ซึ่งจากการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น เป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 51% ต่างชาติถือหุ้น 49% เท่ากับว่าดีแทคเป็นบริษัทคนไทยตามหลักฐานทางทะเบียนที่มีอยู่

          แต่อีกด้านหนึ่ง คณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพาณิชย์ กลับพบว่า ข้อกล่าวหาว่าดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าวมีมูล เนื่องจากดีแทคมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่ามีการถือหุ้นแทน และเตรียมจะสอบสวน ก่อนจะแถลงข่าวถึงผลการตรวจสอบในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้

          และล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ได้แถลงข่าวถึงผลการตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หลังจากได้มอบหมายให้นายสัญญา สถิรบุตร ประธานที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์ ไปศึกษาผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม และข้อร้องเรียนของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เสร็จสิ้นแล้ว โดยผลการตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า ดีแทคมีการถือหุ้นแทนต่างด้าวจริง ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีสถานะเป็นต่างด้าวไปด้วย 

          ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดีแทคแล้ว พร้อมกับให้พิจารณาว่า ผู้ถือหุ้นรายใดของบริษัทเข้าข่ายกระทำผิดฐานเป็นนอมินีต่างชาติ เพื่อให้ทางกรมฯ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ถือหุ้นรายนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป ตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และให้แจ้งผลการดำเนินการให้ทราบภายใน 7 วัน

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในเครือข่ายดีแทค


 

[5 กรกฎาคม] ดีแทค ส่อเค้าต่างด้าว ชงตำรวจสืบ


            "พาณิชย์" สรุปผลตรวจสอบดีแทค พบเข้าข่ายเป็นบริษัทต่างด้าวหลังพบพฤติกรรมนอมินี แต่ยังไม่ฟันธงว่าผิด 100 % พร้อมส่งตำรวจสอบเชิงลึก บอร์ดทีโอทีพร้อมลาออก ตามมารยาท ไม่หวั่นถูกตามเช็กบิล

            นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่า ได้มีความเห็นชอบตามผลของการตรวจสอบโดยคณะทำงานฯ ในชั้นนี้ ที่ยังฟันธงไม่ได้ 100% ว่า ดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่า มีมูลที่เข้าข่ายเป็นต่างด้าวได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงหลายส่วนที่อาจมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมมือกับคนต่างด้าวทำธุรกิจ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งผลสอบดังกล่าวนี้ จะมีการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งรายละเอียดการสอบสวนทั้งหมดให้กับเจ้า หน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นการต่อยอดสอบสวนเชิงลึกต่อไป โดยจะส่งรายละเอียดทั้งหมดให้ตำรวจได้ภายในวันที่ 5 ก.ค.นี้ 

            ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบ พบว่า มี ผู้ถือหุ้นของดีแทคในลำดับชั้นถัดไป จากบริษัท ไทย เทลโก โฮลดิ้ง มีข้อสงสัยว่าจะว่ามีการถือหุ้นแทน เพราะเงินที่ซื้อหุ้น เป็นการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งหากเป็นนักลงทุนไทยจริง ทำไมไม่กู้เงินในประเทศ ซึ่ง คณะทำงานฯ ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกได้ว่าการกู้เงินตรงนี้เป็นอย่างไร การโอนเงินส่งเงินเป็นยังไง หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้เป็นอย่างไร เพราะมีเรื่องต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

            "ผลตรวจสอบยังขาดข้อมูลเชิงลึก ที่ผู้ที่ถือหุ้นในลำดับชั้นถัดๆ ไปของดีแทคนั้น ไม่ได้มาให้ข้อมูล ซึ่งผลจากการตรวจสอบ ก็พบว่า ดีแทคมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่ามีการถือหุ้นแทน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สรุปออกมาได้ แต่ในด้านข้อมูลเชิงลึก เช่น การตรวจสอบการกู้เงินและการพิสูจน์ว่าเป็นบริษัทไทยนั้น ต้องส่งให้ตำรวจตรวจสอบต่อยอดต่อ" นายยรรยงกล่าว

            รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า บริษัท ไทย เทลโก้ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 1 ของดีแทค มีผู้ถือหุ้นที่เข้าข่ายน่าสงสัย คือ บริษัท โบเลโร จำกัด และบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย จำกัด

            นายประพันธ์ บุณยเกียรติ กรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในกรณีที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ โดยในฐานะที่ตนเป็นบอร์ดนั้นเข้าใจว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จำเป็นต้องเปลี่ยนบอร์ดด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นมารยาท แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ทำงานอยู่นี้พร้อมทำงานอย่างเต็มที่จนถึงวินาทีสุดท้าย

            ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการเช็กบิลในโครงการที่บอร์ด ได้มีการอนุมัติไปแล้ว เช่น การอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง 3จี ให้กิจการร่วมค้าเอสแอลคอนซอร์เตียม ซึ่งนำโดยกลุ่ม บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น ขอตอบว่าไม่กังวลเนื่องจากที่ผ่านมาบอร์ดมีการพิจารณาก่อนอนุมัติภายใต้หลัก การโปร่งใส เป็นธรรม ชัดเจน และอธิบายได้

            นอกจากนี้ ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เช่าใช้โครงข่ายเพื่อทำ ตลาด (เอ็มวีเอ็นโอ) นั้น เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ทำให้คณะกรรมการกำกับดูแล 3จี มีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด



พาณิชย์ยัน ดีแทค บริษัทไทย ต่างด้าวถือไม่เกิน 49%



[17 มิถุนายน] พาณิชย์ยัน ดีแทค บริษัทไทย ต่างด้าวถือไม่เกิน 49%


           กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายันตามข้อมูลทางทะเบียน "ดีแทค" เป็นบริษัทคนไทยชัวร์ "บรรยงค์" รับพร้อมตรวจสอบข้อมูลตามที่ "ทรูมูฟ" ร้อง ซัดกลับ "อธึก" หากข้อมูลของกรมฯ เชื่อถือไม่ได้ ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร ด้านทรมูฟดิ้นอีก ยื่นตรวจสอบดีแทคซ้ำ ยันไม่ได้กลั่นแกล้งคู่แข่ง

           เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงกรณี บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการตำรวจปราบปรามกรณีปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ว่า จากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่ดีแทคได้ยื่นต่อกรมฯ พบว่า ดีแทคมีทุนจดทะเบียน 4,744 ล้านบาท มีผู้ถือรวม 33,528 คน ในจำนวนนี้มีนิติบุคคลถือหุ้น 56 ราย ซึ่งจากการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น เป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 51% ต่างชาติถือหุ้น 49% เท่ากับว่าดีแทคเป็นบริษัทคนไทยตามหลักฐานทางทะเบียนที่มีอยู่

           ส่วนกรณีทรูมูฟไปร้องทุกข์กล่าวโทษดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว เกิดจากการวิเคราะห์เชิงลึก โดยการพิจารณาจากบริษัท 56 รายที่ถือหุ้นในดีแทค ซึ่งทรูมูฟอาจจะพบว่ามีคนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ จนสรุปออกมาว่ามีหุ้นต่างชาติถือในดีแทค 71.35% และมีคนไทยถือหุ้นเพียง 28.65% ขณะที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือถึงกรมฯ แจ้งผลการตรวจสอบ 2 บริษัทโทรคมนาคม คือทรูมูฟและดีแทค ว่า ดีแทคมีการถือหุ้นของคนต่างชาติสลับซับซ้อน โยงกันไปมา น่าเข้าข่ายมีคนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49% และขอให้กรมฯ ทบทวนกฎหมายเพื่อหาทางป้องกัน 

           "จากการพิจารณาตามหลักฐานทางทะเบียน ดีแทคเป็นบริษัทคนไทย เพราะตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่ให้คิดนิยามคนต่างด้าวแค่ชั้นเดียว ตรงไปตรงมาตามที่แจ้ง ดีแทคแจ้งมาแบบนี้ ก็ต้องยึดตามที่แจ้ง แต่กฎหมายก็บัญญัติไว้อีกว่า ถ้าปรากฏมีข้อสงสัยหรือปรากฏว่ามีนอมินีคอยช่วยเหลือ ให้การสนับสนุน จะเข้าข่ายมาตรา 36 ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไปนายบรรยงค์กล่าว

           ส่วนกรณีนายอธึก อัศวนนท์ รองประธานฝ่ายกฎหมาย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า ข้อมูลของกรมฯ เชื่อถือไม่ได้ เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบนั้น นายบรรยงค์ยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่เชื่อถือได้ ถ้าเชื่อถือไม่ได้จะไปเชื่อถือข้อมูลของใคร โดยกรมฯ เป็นนายทะเบียน ดูแลนิติบุคคลทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านราย มีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทมหาชนประมาณ 1 พันราย หากไม่เชื่อถือข้อมูลตรงนี้ ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร

           นายบรรยงค์ กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าดีแทคมีต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจริง จะถือว่าความผิดสำเร็จ ก็ต้องไปดูว่าความผิดเกิดขึ้นเมื่อไร ย้อนหลังไปแค่ไหน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 (21) ที่คนต่างชาติถ้าจะมาประกอบธุรกิจ ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวก่อน แต่ถ้าไม่ขอ ถือว่าประกอบธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท และศาลจะมีคำสั่งให้ยุติประกอบกิจการ ถ้าไม่ยุติ จะมีโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีแทคและทรูมูฟได้ส่งตัวแทนเข้ามาฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

           วันเดียวกัน นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ตัวแทนทรูมูฟ กล่าวภายหลังเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบสถานะของดีแทค ว่า ต้องการให้ตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนในแง่ของกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว โดยยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ต้องการทำลายคู่แข่ง เพียงต้องการทำให้เกิดความชัดเจนในแง่กฎหมายเท่านั้น

 





[16 มิถุนายน] ส.โทรคมนาคมฯ ชี้กรณี ทรู-ดีแทค เป็นปกติ 

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

         นายกสมาคมโทรคมนาคมฯ ชี้ กรณี ทรู - ดีแทค เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่แข่งขันกัน พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลใหม่

         นายวิชัย เบญจรงคกุล นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า กรณีพิพาทระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC นั้น ตนไม่ขอออกความเห็น เนื่องจากไม่เกี่ยวของกับสมาคมฯ เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนที่ให้บริการระบบโทรคมนาคม มีข้อพิพาทกันบนพื้นฐานการแข่งขันกันทางธุรกิจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและผลกระทบกับภาพรวมการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐบาลในการเดินหน้าพัฒนาระบบโครงข่าย 3G

         อย่างไรก็ตาม นายวิชัย ยังกล่าวถึง การบริหารจัดการในระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ในรัฐบาลใหม่ ว่า นโยบายของทุกพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ดีต่อระบบอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ และมีผลไปยังผู้บริโภคในหลายข้อ ซึ่งทางสมาคมฯ จะคอยติดตาม และช่วยส่งเสริมนโยบายให้เป็นจริง และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่ออุตสาหกรรมจะได้เติบโต และส่งผลกับมาสู่ประชาชนอย่างสูงสุด

โทรศัพท์มือถือ



[15 มิถุนายน] ทรู แจ้งความ ดีแทค เป็นบริษัทต่างด้าว

        ทรู รวบรวมหลักฐานนาน 3 ปี พบ ดีแทค ปิดบังข้อมูลเป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นใหญ่

        วันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ อายุ 32 ปี ตัวแทน บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในข้อหากระทำผิดตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่าวด้าว พ.ศ.2542 โดยกลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทมีพฤติกรรมสนับสนุนคนต่างด้าว ให้สามารถทำธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่มีการสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะกับนิติบุคคลไทย

        นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อหาให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน โดยนางศุภกรณ์ ได้นำเอกสารสรุปการถือหุ้นของบริษัทดีแทค มาชี้แจงว่า ดีแทคเป็นบุคคลต่างด้าวตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นโดยคนไทยร้อยละ 28.65% และมีนิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นถึง 71.35% แต่ดีแทคได้แจ้งสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว กับกระทรวงพาณิชย์ไว้เพียง 49% ซึ่งเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างชัดเจน 

        นางศุภสรณ์ เปิดเผยว่า ทรู ได้ติดตามเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปี  ส่วนสาเหตุที่ต้องเข้ามาทำเรื่องนี้ ก็เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่กลับมีการตีความบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้อง จึงต้องการให้มีการตีความเรื่องสัญชาติของดีแทคอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อจะได้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในกฎเกณฑ์เดียวกัน และเท่าเทียมกันทุกบริษัท

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่รอด! พาณิชย์ชี้ชัด ดีแทค เป็นบริษัทต่างด้าว อัปเดตล่าสุด 11 กรกฎาคม 2554 เวลา 16:51:23 94,182 อ่าน
TOP