x close

นักเศรษฐศาสตร์ติง 14 นโยบาย พท. คิดให้รอบคอบก่อนทำ







เกจิ เศรษฐกิจ ติง 14โครงการ ปูจ๋า น่ากังวล (ไทยโพสต์)


           นักเศรษฐศาสตร์ติง 14 นโยบาย พท. คิดให้รอบคอบก่อนทำ "ค่าแรง 300-แจกบัตรเครดิต-แจกแท็บเล็ต" น่าห่วงสุด ด้านผู้ประกอบการรุมต้านขึ้นค่าจ้าง หอการค้าไทยชี้รัฐต้องโปะภาคธุรกิจทันที 1.4 แสนล้าน เชื่อจีดีพีเพิ่ม 1-1.3% หากไม่ชดเชยลดลงแน่ 0.2-0.4% แนะทยอยเพิ่มค่าแรงใน 2 ปีแทน หวั่นต่างชาติย้ายฐานหนี "ปู" ยันเดินหน้านโยบายหาเสียง แต่ให้เกิดผลกระทบน้อยสุด

           เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "นโยบายที่หาเสียงไว้ของรัฐบาลชุดใหม่ กับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วง" โดยสำรวจความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง จำนวน 62 คน พบว่า จากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 26 นโยบาย มีถึง 14 นโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์รู้สึกเป็นห่วงและอยากให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนโดยตรง

           โดยนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกเป็นห่วงและต้องการให้คิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ภายใน 90 วัน (ร้อยละ 93.5),  แจกเครดิตการ์ดให้เกษตรกร  เพื่อใช้ซื้อปัจจัยการผลิต (ร้อยละ 80.6) และแจกแท็บเล็ตพีซีให้เด็กนักเรียน  (ร้อยละ 80.6) ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าเป็นนโยบายที่ดีและต้องการให้เดินหน้าอย่างเต็มที่

           รวมถึงนโยบายด้านสังคม ที่เชื่อมั่นว่าดีและต้องการให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ 3 ลำดับแรก คือ จัดให้มีศูนย์ฝึกในอาชีวศึกษาทุกแห่ง (ร้อยละ 93.5), ขจัดยาเสพติดใน 12  เดือน (ร้อยละ 87.1) และจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ (ร้อยละ 79.0)

           ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มีข้อคิดเห็นในการดำเนินนโยบายทั้ง 26 นโยบาย อาทิ ห่วงว่าจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย,  เงินงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินโครงการอยู่ในระดับสูง, การดำเนินบางโครงการอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันในสินค้าส่งออกลดลงอันเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น, บางโครงการอาจสุ่มเสี่ยงหรือมีช่องทางให้มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ เช่น โครงการรับจำนำข้าว, บางโครงการอาจสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น

           นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการต่อนโยบายและผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค.54 พบว่า

ทัศนะเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท

    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 39.4% ไม่เห็นด้วยเลย
    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่47.2% เห็นด้วยน้อย
    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่11.9% เห็นด้วยปานกลาง
    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่1.5% เห็นด้วยมาก

ส่วนทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับนโยบายการเพิ่มเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน

    46.0% ไม่เห็นด้วยเลย
    32.3% เห็นด้วยน้อย
    11.4% เห็นด้วยปานกลาง
    2.3% เห็นด้วยมาก
 
           ซึ่งการปรับตัวของภาคธุรกิจในกรณีขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนนั้น กลุ่มตัวอย่าง 53.5% ระบุว่าให้มีการปรับขึ้นเฉพาะที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 24.8% ระบุว่าปรับขึ้นทั้งหมดในสัดส่วนต่างกัน และ 18.4% ระบุว่าให้มีการปรับขึ้นทั้งหมดในอัตราเท่ากัน และหากรัฐบาลขึ้นค่าแรงตามนโยบายดังกล่าวโดยไม่มีจ่ายชดเชยให้ กลุ่มตัวอย่าง 94.1% จะแบกรับภาระไม่ได้ โดยกลุ่มตัวอย่าง 48.6% ระบุว่าต้องให้เงินชดเชยแรงงานขั้นต่ำ 28.1% ระบุว่าต้องลดภาษีนิติบุคคลมากขึ้น และ 16.4% ระบุว่าต้องจัดอบรมฝีมือแรงงาน

           โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น กลุ่มตัวอย่าง 53.4% มองว่าควรปรับไปตามกลไกตลาด และ 46.6% มองว่าดำเนินการได้ แต่ต้องมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนนั้นกลุ่มตัวอย่าง 51.0% ให้มีการปรับขึ้นในจังหวัดนำร่องก่อน, 44.6% ค่อย ๆ ปรับขึ้นหลายครั้งจนครบจำนวน และ 4.4% มองว่าปรับขึ้นทันทีพร้อมกันหมดทั่วประเทศ

           อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือน ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวน 1.4 แสนล้านบาท โดยหากรัฐบาลมีการชดเชยเงินเต็มจำนวนให้ผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีและการอุดหนุนอื่นๆ จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 1-1.3 % เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.8-1.0% แต่หากรัฐบาลไม่มีการชดเชยให้ผู้ประกอบการเลย จะทำให้จีดีพีลดลง 0.2-0.4 % และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.1-1.3%

           "จากการสำรวจพบว่าต้นทุนธุรกิจที่ใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีในภาคบริการสาธารณะ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบมาก หากมีการขึ้นค่าแรงแต่ไม่ได้รับการชดเชยมากเท่าที่ควร ภาครัฐจะต้องใช้เงินในการชดเชยให้ผู้ประกอบโดยทันทีในระยะสั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มิเช่นนั้นจะต้องใช้มาตรการในการปรับค่าแรงและขึ้นเงินเดือนแบบค่อยเป็นค่อยไปภายในเวลา 2 ปี หรือทยอยปรับในจังหวัดพื้นที่นำร่อง โดยรัฐจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในเรื่องเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนด้วย หากขึ้นค่าแรงเร็วเกินไป เม็ดเงินลงทุนอาจจะหายไปลงทุนในประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าไทยได้" นายธนวรรธน์ระบุ

           นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากปรับอัตราค่าแรงขึ้นทันที 300 บาท จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น 40% จากค่าแรงใน กทม.ขั้นต่ำปัจจุบันที่ 215 บาท และจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 20% รวมทั้งหลังจากมีนโยบายดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติเริ่มส่งสัญญาณย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย เช่น กัมพูชา ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าไทยถึง 50% สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และอิเล็กทรอนิกส์

           "เข้าใจว่ารัฐบาลใหม่ก็ต้องเจออุปสรรคในการทำงานเยอะ แต่ไม่ใช่ออกนโยบายอะไรที่มันทิ่มแทงผู้ส่งออกกันอย่างนี้ ผมกลัวว่าวันหนึ่งเราจะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ ที่ค่าแรงสูง เงินเฟ้อสูง และไม่มีชาติไหนเข้าไปลงทุน ทางออกที่ดีที่สุดคือการปรับขึ้นเงินเดือนตามกลไกตลาด ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะส่งผลดีทั้งเราในฐานะผู้ส่งออก และผู้ใช้แรงงานที่ไม่ต้องถูกเลิกจ้าง" นายวัลลภกล่าว

           นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า รู้สึกลำบากใจกับนโยบายหลายเรื่องของพรรคเพื่อไทยที่สัญญาไว้ว่าจะทำ เพราะรู้ว่าทำไปแล้วจะเกิดความเสียหายตามมา อย่างเช่นโครงการพักหนี้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท แค่เฉพาะในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีผลให้มีการระงับการชำระหนี้ถึง 70% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร และยังต้องใช้เงินภาษีชดเชยให้ ธ.ก.ส.อีกถึง 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังจะต้องมีที่ออมสิน กรุงไทย และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ อีกเท่าไร?

            นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต่อจากนี้มีหลายเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำ อาทิ การขึ้นค่าแรง 300 บาท การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งขอเอาใจช่วยให้ทำเรื่องนี้สำเร็จ คนจะได้มีรายได้มีกำลังซื้อมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า แต่ที่กังวลใจคือจะเอางบประมาณที่ไหนไปจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แจกเด็กนักเรียน

           ทางด้านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องภารกิจรัฐบาลใหม่โดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามความคาดหมายคือพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าการชนะการเลือกตั้งจนได้จำนวน ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งปัจจัยความสำเร็จมาจากนโยบายการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชนชั้นล่างของสังคม คือ นโยบายการปรับค่าจ้างทันที 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีแรกเข้าทำงานในอัตรา 15,000 บาทต่อเดือน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำทันทีใน 2 เรื่องดังกล่าว

           สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อนโยบายใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,334 คน ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.54 สรุปผลได้ดังนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 41.08 มั่นใจว่านโยบายของรัฐบาลใหม่ กรณีค่าแรง 300 บาท ทำได้แน่นอน และส่วนใหญ่ร้อยละ 39.05 ระบุกรณีเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเริ่มที่ 15,000 บาท ทำได้จริงเช่นกัน

           ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเลี้ยงของพรรคเพื่อไทย  "ร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาประชาชน" ว่า เราเข้ามาแก้ปัญหาประชาชน ทุกคนอาจจะเหนื่อย ก็ไม่รู้วันนี้หายเหนื่อยหรือยัง แต่ภารกิจที่อยู่เบื้องหน้าสำคัญซึ่งจะทำให้เราต้องเหนื่อยต่อไปอีก เพราะประชาชนให้คะแนนมามาก ดังนั้นต้องทำงานให้สมกับที่ประชาชนมอบความไว้วางใจพรรคเพื่อไทย สำหรับภารกิจเร่งด่วนคือ แก้ไขปัญหาปากท้อง ไม่ใช่แค่การเพิ่มค่าแรง เพิ่มเงินเดือน แต่จะสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

           "ขณะนี้คณะทำงานที่ร่างนโยบายร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน เราต้องทำงานกับภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การผลักดันนโยบายเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ โดยจะต้องให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเศรษฐศาสตร์ติง 14 นโยบาย พท. คิดให้รอบคอบก่อนทำ อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:32:58 15,515 อ่าน
TOP