x close

ก.คลัง เล็งตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ หวังเทียบชั้นเทมาเส็ก







คลังปัดฝุ่นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ชงครม.ใหม่ตามรอย"หมอเลี้ยบ" (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กระทรวงการคลัง

          คลังเร่งศึกษาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหนุนลงทุนภาครัฐ-รองรับวิกฤติเศรษฐกิจ ชี้อาจดึงเงินทุนสำรองหรือรายได้รัฐเป็นทุนจัดตั้ง หวังเทียบชั้น "เทมาเส็ก" พบสมัย "พลังประชาชน" เคยดันมาแล้ว

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) โดยหลักการเรื่องการจัดตั้งกองทุนนี้ ถือว่าสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ ทั้งยังเป็นกลไกการรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจด้วย

          ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่มีนโยบายให้ตั้งกองทุน SWF เพื่อบริหารเงินทุนของประเทศ เหมือนกับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น คลังจึงต้องศึกษาความพร้อมเพื่อเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุน SWF ก็มีผลกระทบในหลายด้านด้วย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียด เช่น การบริหารความเสี่ยง ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และความพร้อมของบุคลากร เป็นต้น

          "แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มี SWF ในเร็ววันนี้ แต่ประเทศไทยควรจะมีการเตรียมความพร้อมของประเทศในฐานะผู้รับเงินลงทุนจาก SWF จากต่างประเทศ ที่มีการจัดตั้งกองทุนนี้จำนวนมาก ซึ่งการตั้งกองทุน SWF จะเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลที่มีทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศ และมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ โดยแหล่งที่มาของเงินทุนอาจมาจากเงินสำรองระหว่างประเทศหรือรายได้ของภาครัฐ" นายนริศกล่าว

          สำหรับกองทุน SWF นี้ เริ่มมีการตั้งกันมากว่า 50 ปีแล้ว โดยก่อตั้งครั้งแรกในประเทศคูเวต แต่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากที่สถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม ทำให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งผู้ที่เข้าช่วยในการซื้อหุ้นหรือเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ เป็นกองทุน SWF ของประเทศในแถบอาหรับและอาเชียน

          "การตั้งกองทุน SWF คือ การบริหารจัดการเงินทุนให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากเกินความจำเป็นที่จะใช้ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน นอกจากนี้ SWF ยังใช้เป็นทางเลือกในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนทางอ้อมเพื่อไม่ให้ค่าเงินของตนแข็งค่าจนเกินไปอีกด้วย" นายนริศกล่าว

          นายนริศกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีกองทุน SWF รวมจำนวน 49 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ ซาอุดีอาระเบีย จีน สิงคโปร์ คูเวต และรัสเซีย ซึ่งเรียงตามลำดับประเทศที่มีขนาดสินทรัพย์ในกองทุน SWF ที่ใหญ่ที่สุด ส่วนในอาเซียนปัจจุบันมี 4 ประเทศที่ได้มีการตั้ง SWF แล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

          ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งมี นพ.สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เคยมีความพยายามให้จัดตั้งกองทุน SWF ขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง โดยนำเงินจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.3 แสนล้านบาทมาเป็นทุนประเดิม โดยขณะนั้นทุนสำรองฯ มีประมาณ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก.คลัง เล็งตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ หวังเทียบชั้นเทมาเส็ก อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2554 เวลา 15:45:52 5,479 อ่าน
TOP