x close

นักวิชาการเตือนรัฐบาลรับมือ สินค้าเกษตร ขาดแคลน





เตือนรัฐบาลรับมือ สินค้าเกษตร ขาดแคลน (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟชบุ๊ก Jerome

          นักวิชาการด้านฐานทรัพยากรชีวภาพชี้น้ำท่วมกระทบความมั่นคงทางอาหาร ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูง หวั่นนายทุนฮุบที่ดินเพาะปลูกในภาคกลางผูกขาดผลประโยชน์ธุรกิจการเกษตร เผยชาวนาไม่มีข้าวกิน สะท้อนความเปราะบางความมั่นคงอาหารระดับครัวเรือน กระตุ้นรัฐบาลเร่งตั้งระบบสำรองอาหารในยามภัยพิบัติ

          นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมต่อความมั่นคงทางอาหารว่า ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว สูญหายไปถึง 1 ใน 3 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคกลางไม่สามารถผลิตข้าวได้อย่างน้อย 1 ฤดูกาลใน 1 ปี พื้นที่บางแห่งที่มีน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานหลายเดือน อาจไม่มีการปลูกข้าว 2 ฤดูกาล สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในภาคกลาง ส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการลงทุนทั้งค่าปุ๋ยและค่ายา เมื่อพื้นที่ปลูกข้าวน้ำท่วมทำให้ได้รับความเดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น เพราะผลผลิตเสียหายและไม่ได้รับการเยียวยา ในที่สุดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนมือครอบครองพื้นที่ปลูกข้าวจากเดิมเป็นของเกษตรกรมาเป็นกลุ่มนายทุน

          นายวิฑูรย์กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชผลการเกษตรเปลี่ยนมาอยู่ในมือนายทุนว่า เนื่องจากขณะนี้สินค้าการเกษตรมีราคาแพง จากการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวและพืชผักสวนครัวในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปได้ว่าหลังน้ำลดลงทำให้พื้นที่เพาะปลูกสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่ราคาสินค้าการเกษตรไม่ปรับลดลงตามแน่นอน ด้วยเหตุปัจจัยนี้จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนรายใหญ่และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติต่างหันมาจับตามองพื้นที่ในภาคกลางเพื่อลงทุนภาคการเกษตรมากขึ้น โดยเตรียมกว้านซื้อหรือเช่าที่ดินที่เกษตรกรมีหนี้สินไว้แล้ว

          "ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลเตรียมแผนการจัดการหลังน้ำลดให้ดีเพื่อไม่ให้ความเดือดร้อนซ้ำเติมกลุ่มชาวนา โดยต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าปล่อยให้นายทุนหรือเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่รุกคืบเป็นเจ้าของพื้นที่การเกษตร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางอาหาร คือ ราคาสินค้าการเกษตรแพง กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน ค่าครองชีพพุ่งสูง แต่นายทุนได้ประโยชน์ ส่วนชาวนาเป็นเพียงแรงงานต้องหาเงินซื้อข้าวกิน ไม่สามารถกินข้าวที่ตนเองปลูกได้" นักวิชาการด้านฐานทรัพยากรชีวภาพกล่าว

          เขาบอกอีกว่า ระบบการจัดการน้ำของภาครัฐยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งขึ้นทั้งล่อง คือ ห้ามชาวนาปลูกข้าวในฤดูแล้ง เพราะน้ำระบบชลประทานไม่เพียงพอ เมื่อถึงฤดูฝนก็ประกาศงดทำนา เพราะน้ำท่วมเสียหาย ที่ผ่านมาระบบชลประทานมักจะเอื้อประโยชน์ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตร 

          "สถานการณ์น้ำท่วมที่อยู่ในภาวะวิกฤติขณะนี้ยังไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนที่ทำให้ปริมาณอาหารขาดแคลนและราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่เกษตรกรรายย่อยเองยังเดือดร้อนด้านอาหารเช่นกัน มีพี่น้องเกษตรกรในเครือข่ายทางจังหวัดนครสวรรค์ยังต้องรอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เพราะไม่มีการสำรองอาหารไว้ในเวลาเกิดภัยธรรมชาติ แสดงถึงความเปราะบางของความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน"

          ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องหันมาจัดตั้งระบบการสำรองอาหารอย่างเป็นทางการ ระบบการสำรองอาหารแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ครัวเรือน ชุมชน และประเทศ เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากเวลาเกิดน้ำท่วมจะเห็นได้ชัดเจนว่าเกษตรกรและประชาชนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากไม่มีพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมดยังอยู่ในมือศูนย์การค้าและผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย หากมีการกักตุนสินค้าก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น ดังนั้นระบบสำรองอาหารในเวลาภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญมาก รัฐบาลจะต้องจัดการเรื่องนี้ด้วย






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการเตือนรัฐบาลรับมือ สินค้าเกษตร ขาดแคลน อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2554 เวลา 17:59:12 6,408 อ่าน
TOP