x close

วิเคราะห์เจาะลึก น้ำท่วมกรุง 23 ต.ค. โดย อ.ศศิน







เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ศศิน เฉลิมลาภ

            เชื่อว่าขณะนี้หากใครที่ได้ติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งเสนอแนวทางต่าง ๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผ่านคลิปวิดีโอได้อย่างเข้าใจง่าย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดแต่ละคลิปที่อาจารย์ศศินนำมาเผยแพร่ถึงฮอตฮิต และมีผู้ที่นำไปแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก

            ล่าสุด อาจารย์ศศิน ก็ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2554 ผ่าน เฟซบุ๊ก ศศิน เฉลิมลาภ เนื้อหามีดังนี้…

            แม่บอกผมว่าควรหยุดออกTV มันเฝือแล้ว ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน เรามาเลยจากที่ตั้งใจไปเยอะแล้ว ผมมีภารกิจบางอย่างในป่าตะวันตก แต่จะใช้ FB สื่อสารมากขึ้นแทนครับ เราต้องช่วยตัวเอง ชุมชน สังคม ผมทำเท่าที่ทำได้ในการเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นสังคมให้ใช้ความรู้ ข้อมูล เหตุผล ในการดูแลตัวเอง ส่วนเรื่องแก้ไขปัญหาระดับชาติมันไม่มีความพร้อมในขณะนี้  ผมไม่สนุกเท่าไหร่ในการวิ่งออกสื่อ พูดมากไปแล้วจะขอมาสื่อสารใน FB เป็นหลักเหมือนเดิม แต่ก็แล้วแต่สถานการณ์ครับผมคิดว่า เราบอกที่เรารู้ไปหมดแล้ว ต่อไปนี้คงคิดถึงการจัดการในภาวะวิกฤติถ้าน้ำท่วมจริง ๆ จะดีกว่า

            มีคนถามว่า ทำไมต้องเป็น "แจ้งวัฒนะ" เพราะอย่างนี้ครับ จริง ๆ ตรงไหนก็ได้ ผมไม่สนใจในรายละเอียด ถ้าที่อื่นทำทัน ก็ทำได้ แต่ยกแจ้งวัฒนะมา เพราะแนวตรง แข็งแรง จัดการง่าย สี่เลน ใช้ได้ฝั่งหนึ่งในการขนของมาทำ และที่เสนอคิดว่าเป็นแนวสุดท้ายในกรณีมันกำลังจะล้นคันมาอยู่แล้วไง ๆ ก็ดีกว่าพังหมด ฉุกเฉินแล้วจริง ๆ ผมว่าคนในก็รู้ว่ามีตรงไหนอีกที่ทำได้ใกล้กว่าไม่เกี่ยงครับ

            ตอนนี้ผมว่าเขากำลังพยายามเต็มที่ในการผลักน้ำไปทุ่งรังสิต ออกบางปะกง และลงมหาสวัสดิ์ที่กำลังมีแนวโน้มว่าจะล้นเข้าทวีวัฒนาแน่ ผมจะเล่าให้ฟังว่าถ้าเป็นอย่างนี้อะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป เพราะอะไร...

            ตั้งแต่ผมเริ่มออกมาพูดเรื่องนี้ ที่คาดผิดเรื่องใหญ่ คือคิดว่าน้ำจะเข้าเขตคลองสามวา และหนองจอก ตั้งแต่หลายวันก่อน เพราะผมดูตามโครงสร้างการป้องกันน้ำท่วม กทม. ที่มีคันกั้นน้ำหทัยราษฎร์-บางพลี ผ่า กทม.ออกเป็นซีกตะวันออก แต่วันนี้ก็ยังไม่เข้าเท่าไหร่เนื่องจาก เขาพยายามเต็มที่ที่จะเบี่ยงน้ำออกทุ่งรังสิตตามคลองหลักสามคลอง คือ ระพีพัฒน์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวา และอาจจะเก็บเต็มพื้นที่ระหว่างคลอง 1 - 16 ครับ ถ้าเขาทำสำเร็จ กรุงเทพฯ ก็จะไม่ต้องท่วมแบบมวลน้ำใหญ่หลากผ่านได้ 100 %

            เรื่องผันน้ำเข้าทุ่งรังสิตเต็มที่เป็นเรื่องใหญ่ คือนอกจาก บ้านในทุ่งรังสิต (จัดสรร โรงงาน ธรรมกาย สวนส้ม ทุ่งนา ฯลฯ) จะจมยาวแล้ว ปริมาณน้ำมหาศาลก็จะติดแหง็กอยู่ที่ทุ่งอยูธยาและจังหวัดด้านบนไปอีกแสนนาน เพราะอัตราที่เขาผันไปได้นั้นเทียบไม่ได้ กับการปล่อยลงทุ่งคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง ที่มีระบบสูบน้ำลงทะเลที่ดีที่สุด ที่สุวรรณภูมิ และคลองต่าง ๆ รวมทั้งสภาพทางธรรมชาติที่น้ำต้องกลากลงหนองงูเห่าอยู่แล้ว

            การระบายน้ำของบางปะกงไม่มีทางเทียบได้กับการผันน้ำลงทุ่งคลองสามวา เมืองมีนบุรี ซึ่งเราพยายามเสนอความคิดให้เขาเปิดทางน้ำไหลที่มอเตอร์เวย์พาดผ่าน บางนาตราด และสุขุมวิทสายเก่า ตลอดจนทะลวงท่อต่าง ๆ ของคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อผันน้ำทั้งมวลที่สะสมในภาคกลางลงทะเลให้เร็วสุด


สีดำ คือมวลน้ำ จะเห็นว่ามวลน้ำยังอยู่เหนือ กทม. ส่วนทีลูกศร คือ ทัพหน้าที่กำลังจะมา

            น้ำจะท่วมกรุงเทพทั้งหมด เมื่อไหร่ ?? เมื่อข้ามคันหลักหก ก็คือถนนสายรังสิตนครนายกต่อ ลำลูกกา สายไหม และนับว่าต่อจากนั้นสักสิบวันก็คงท่วมเต็มพื้นที่ การฝืนระบบ แบบแผนการระบายน้ำเดิม และธรรมชาตินี้ อาจจะมีเป้าหมายเพื่อชะลอน้ำไม่ให้เข้าท่วม กทม. ในเขตนอกคันหทัยราษฎร์ และรู้ว่า นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอื่น ๆ ในละแวกนี้ ตลอดจนสนามบินไม่มีทางรับน้ำปริมาณขนาดนี้ได้ เลยพยายามสู้เต็มที่ ผลการทำเช่นนี้คาดการณ์ว่าคันที่สายรังสิต-นครนายก พหลโยธิน สายไหม ต้องทำงานหนักมาก และน้ำอาจล้นคันเข้ามาได้ทุกวินาทีจากนี้ไป คันนอกจากล้นแล้วถ้าเสริมคันสูงก็อาจจะรับน้ำหนักไม่ไหว นอกจากจะทำคันน้ำดันน้ำเสริมหลัง ไม่มีใครรู้ว่าวินาทีนั้นจะมาเมื่อไหร่ ถ้าแผ่นน้ำที่จ่อติดคันด้านเหนือที่ผมว่าสามารถข้ามคันมาได้ ก็นับหนึ่งได้ในการเกิด "น้ำหลาก" ท่วมทั้งกรุงเทพ โดยไล่เรียงมาจากด้านเหนือ ใช้เวลา 5-10 วันในการท่วมทั้งพื้นที่กรุงเทพ โดยมีลำคลองต่าง ๆ เป็นตัวกระจายน้ำลงทางใต้และตะวันออก ให้เป็นทัพหน้าของน้ำท่วมทะลุไปถึงก่อน รวมถึงขึ้นจากท่อระบายน้ำ ทั้งหมดนี้น่าจะนับหนึ่งหลังจากวัน "คันแตก" ดังนั้นนี่คือการตอบคำถามว่ากรุงเทพจะท่วมเมื่อไหร่นะครับ

            ถ้าเป็นอย่างที่ผมคาดการณ์ กรุงเทพชั้นในจากวันคันแตกก็จม-ยาว ครับ ข้างบนยังไม่ไม่อั้นและระบบที่หลากลงไปสูบน้ำออกก็คงรับไม่ไหว คุมไม่ได้ เหตุการณ์คันแตกนี้รวมทุ่งกรุงเทพตะวันออก (สามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง) ซึ่งหากไม่ได้ลุยเรื่องคลองระบายน้ำที่มอเตอร์เวย์ และบางนา-ตราดขวางให้เสร็จก่อน จะหลากถึงนี่ก็จะทำงานยาก และทำให้ท่วมยาวเหมือนกันเพราะไม่มีน้ำลงไปถึงระบบสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพของกทม. และกรมชลประทาน รวมถึงสุวรรณภูมิ ประกอบกับถนนต่าง ๆ วางทางน้ำหลากไว้ สิ่งที่ผมเป็นห่วงคืนนี้ พรุ่งนี้ คือ ชุมชนฝั่งตะวันตก นับแต่บางกรวย ซึ่งอยู่เหนือคันกั้นน้ำคลองทวีวัฒนา เขาเร่งระบายน้ำลงทุ่งนี้ โดยบอกเหตุผลว่ามวลน้ำใหญ่กำลังลงมาทางฝั่งนี้ ซึ่งไม่แน่ใจนักขอตรวจสอบเหตุจริง ๆ อีกที หลังจากทางสามโคกประตูแตก วันนี้ระดับน้ำบางบัวทอง บางใหญ่ บางกรวย จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะปะทะคันทวีวัฒนา หรือคันคลองมหาสวัสดิ์

           ....เขตบางพลัด คือพื้นที่เสี่ยงที่สำคัญในคืนนี้ จะมีน้ำล้นจากเจ้าพระยา และคลองอ้อมบางบัวทองเข้าท่วม หลังจากนั้นอยากให้นับว่าเมื่อไหร่ที่น้ำข้ามคลองมหาสวัสดิ์ได้ นั่นคือข้ามทางรถไฟศาลายา น้ำจะ "หลาก" เข้าท่วมทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางกอกน้อย ในเวลาอันรวดเร็ว น้ำแรงนะครับเพราะอั้นมานาน แผ่เข้าท่วมด้านล้างคือ บางแค ภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ ก่อนจะชะลอตัวที่คลองภาษีเจริญ และล้นต่อเข้าหนองแขม จอมทอง บางบอน และธนบุรี-คลองสาน จึงจะต่อไปบางขุนเทียน เหล่านี้ จะมีคลองเป็นตัวนำน้ำมาป็นสัญญาณท่วมก่อน และมาตามท่อระบายน้ำผุดขึ้นมาก่อนด้วย

            จากที่ผมคาดการณ์ทั้งหมด วันนี้ผู้คนจะต้องสร้างระบบเตือนภัย จากโทรศัพท์ไปหาเพื่อนฝูงที่อยู่ด้านบน โดยเริ่มสัญญาณที่ผมบอกว่าต้องเริ่มนับเวลาเมื่อคันกั้นน้ำถูกน้ำหลากผ่าน และสร้างเครือข่ายระวังภัย พื้นที่ฝั่งตะวันตกนี้น่าจะมาแน่ ต่างกับตะวันออกที่มาเมื่อเขายื้อออกรังสิตไม่ไหว ซึ่งอาจจะได้อีกพักหนึ่ง แต่ตะวันตก มาชัวร์ นอกจากนี้ช่วงนี้น้ำจากเจ้าพระยาจะสูงไปอีกอาทิตย์ ซึ่งหากมีมวลน้ำด้านเหนือนำมาก็ท่วมแนวกั้นน้ำฝั่งกรุงเทพ และฝั่งธนได้ทุกเมื่อ ต้องระวังทั้งน้ำล้นเจ้าพระยา และน้ำหลากจากคันแตกครับ จุดอ่อนของน้ำเมื่อข้ามคันคือ มาไม่เร็วครับ ถ้าบอกกันก่อนก็น่าจะเก็บของเตรียมการทัน (ถ้าเตรียมไว้แล้ว) ประมาณว่า 2-5 กม. /ชม. แต่จากคลองจะเร็วกว่าหลายเท่าตัวนำมาก่อนครับ

            นอกจากนี้ขอให้ดูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพด้วย นับแต่ คลองประปา เปรมประชากร ลาดพร้าว แสนแสบ ประเวศ และสำโรง ว่าเขาเปิดประตูน้ำเมื่อไหร่ สองฝั่งคลองก็ท่วมเหมือนคลองประปา สามารถเฝ้าระวังได้จาก "โทรศัพท์ " เพื่อนที่อยู่ต้นคลอง น้ำวิ่งประมาณ 5-10 กิโลเมตร/ชั่วโมง คำนวณได้ว่ามาถึงเราเมื่อไหร่ รีบหาซื้อแผนที่ กทม. (แนะนำให้ซื้อชัดกูเกิ้ลปรินออกมาดูยากกว่ามากครับๆ) มาศึกษาและเฝ้าระวัง หาเป็นกระดาษมาติดไว้เลยครับ เปิดคอมช้าไม่ชัดเสียเวลา จำไม่ได้หรอก

            เรื่องคลองนี้ถ้าประตูน้ำพังก็มีสภาพเหมือนเปิดคลอง แต่ก็จะคุมน้ำท่วมไม่ได้ คือถ้าเขาเปิดคลองจะคุมได้ให้ท่วมเท่าไหร่ แล้ว กทม.จะสูบออกทัน ปิดเมื่อสูบไม่ไว้น้ำขึ้นสูง ซึ่งถ้าประตูน้ำในคลองแตก ก็จะเหมือนคันแตก คือน้ำท่วมกรุงเทพค่อยแผ่ทั้งพื้นที่แต่ช้า ๆ กว่าคันแตก ลองศึกษาดูนะครับ ผมกำลังคิดเรื่อง เขาทำอย่างนี้กับทุ่งตะวันออกมันเพราะอะไร จะสำเร็จ หรือล้มเหลวไหม หรือแค่ชะลอให้สุวรรณภูมิ นิคม และขุดลอกคลองเสร็จ นี้ไม่รู้จริง ๆ ครับ เดี๋ยวดึก ๆ มาคุยต่อนะครับ

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์เจาะลึก น้ำท่วมกรุง 23 ต.ค. โดย อ.ศศิน อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2554 เวลา 10:02:15 45,808 อ่าน
TOP