x close

เสื้อแดง แถลงขอบคุณ รัฐเยียวยาศพ 7.75 ล้าน





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม

          แกนนำ นปช. แถลงขอขอบคุณ ครม. จ่ายเยียวยาศพละ 7.75 ล้าน วอนรัฐบาลจับตัวชายชุดดำมาลงโทษโดยเร็ว

           เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว นางธิดา โตจิราการ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. ร่วมแถลงประจำสัปดาห์ โดยนายวรวุฒิ กล่าวว่า นปช. ขอบคุณมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง ยืนยันว่าเราต่อสู้อย่างสันติ ปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลก่อนหน้านี้อ้างถึงชายชุดดำ จึงขอให้รัฐบาลติดตามว่าชายชุดดำมาจากไหน ขอให้นำความจริงมาให้ได้ว่า ใครเป็นคนทำร้ายประชาชน เพื่อนำตัวมาลงโทษโดยเร็ว

           นางธิดา กล่าวต่อไปว่า วันนี้ (12 มกราคม) เวลา 14.00 น. จะไปพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อถามถึงขั้นตอนการเยียวยาและขอบคุณที่นำเรื่องเข้าสู่ ครม. อย่างรวดเร็ว


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




[11 มกราคม] เคาะแล้ว! ชดเชยศพเสื้อแดงได้เบ็ดเสร็จ 7.75 ล้าน



สรุปประเด็นโดยกระปุกดอทคอม

             ครม.ชดเชยศพเสื้อแดงได้เบ็ดเสร็จ 7.75 ล้าน แจงค่าเสียชีวิต 4.5 ล้าน ฟื้นฟูจิตใจอีก 3 ล้าน ให้ค่าปลงศพรายละ 2 แสน ด้านประชาธิปัตย์ วอนให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อโจรใต้ด้วย เหน็บอย่าเลือกปฏิบัติ

             วานนี้ (10 มกราคม)  นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยา และฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบให้เหมาะสมเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักนิติธรรม นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอ

             โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เป็นการชดเชยเยียวยา และฟื้นฟูที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติเดิม ทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างโอกาสในการดำรงชีพและประกอบอาชีพตามปกติ โดยเทียบเคียงให้มีมาตรฐานเป็นสากลกับการกำหนดค่าชดเชยของสหประชาชาติ  และได้กำนดกรอบอัตราเงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย ได้แก่...

             1.เงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท

             2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท/ราย

             3.เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4.5 ล้านบาท/ราย)

             4.เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น

                     4.1 สูญเสียอวัยวะสำคัญอัตราร้อยละ 80 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต
                    
                     4.2 สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต

             5.เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ แบ่งเป็น

                     5.1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (1,125,000 บาท/ราย)
                     
                     5.2 ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (675,000 บาท/ราย)
        
                     5.3 ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต

             6.เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แบ่งเป็น

                     6.1 กรณีเสียชีวิต ได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย
       
                     6.2 กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย
       
                     6.3 กรณีสูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย
       
                     6.4 กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัสอัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี
       
                     6.5 กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท/ราย/ปี
       
                     6.6 กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท/ราย/ปี

             7.เงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แบ่งเป็น
              
                     7.1 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทยปี พ.ศ.2553 (150,177 บาท/ปี)
       
                     7.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/พิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก

             8.เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ แบ่งเป็น
       
                     8.1 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ อัตรา 3 ล้านบาท/ราย
       
                     8.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และได้ถูกควบคุมหรือคุมขังก่อนศาลมีคำสั่ง/พิพากษาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 180 วัน อัตรา 1.5 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 750,000 บาท/ราย
       
                     8.3 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก เป็นระยะเวลาเกินกว่า 180 วัน อัตรา 1 ล้านบาท/ราย และเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 500,000 บาท/ราย

             นางฐิติมา กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ประมาณการวงเงินไว้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยาจะครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงปลายปี 48 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ

             ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเสียชีวิตรัฐบาลให้ 4,500,000 บาท เงินเยียวยาความรู้สึกครอบครัว 3,000,000 บาท และเงินปลงศพ 250,000 บาท โดยเงิน 4,500,000 บาท คอป.จะไปศึกษาข้อมูลในการนำเงินส่วนนี้ไปฝากในกองทุน หรือไปลงทุนในที่ไม่มีความเสี่ยง ภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนเงินเยียวยาครอบครัว 3,000,000 บาท และเงินปลงศพ 250,000 บาท จะให้ประสานสำนักงบประมาณจ่ายโดยเร่งด่วนผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

             ทั้งนี้ ทางด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ระบุให้หลักเกณฑ์นี้เป็นวาระพิเศษ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า ให้ ปคอป.ไปดูผลกระทบข้างเคียงด้วย เพื่อความสมานฉันท์ปรองดอง ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธาน ปคอป. ไปดูผลกระทบเรื่องของร้านค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบด้วย

             ส่วน นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าภาคใต้ ในฐานะ รมว.ยุติธรรมเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ที่รัฐบาลก่อน ๆ ได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาด้วย เพราะเป็นเรื่องแนวคิดต่างทางการเมืองเชิงลึกเช่นกัน ที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในยุครัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งเสียชีวิตมาแล้ว 4,825 ราย บาดเจ็บ 8,561 ราย กรณี 32 ศพที่มัสยิดกรือเซะ และ 87 ศพที่ตากใบ จะเพิ่มให้หรือไม่ รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมการเมืองเดือนพฤษภาคม 2535  โดยเฉพาะผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการตัดตอนยาเสพติด 2,500 ศพชัดเจน เช่น น้องฟลุค, นายนิคม และนางกัญญา อุ้นแก้ว สองสามีภรรยาที่ จ.นครราชสีมา ที่ถูกหวย 6 ล้านบาท

             นายถาวร กล่าวปิดท้ายว่า ประเด็นคือรัฐบาลนี้ จะช่วยเหลือคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนของตัวเอง แต่อ้างเหตุการณ์อื่น ๆ ในอดีต ผมไม่อิจฉาหรือคัดค้าน ชีวิตคน พันล้านก็แลกไม่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลใจกว้างให้กลุ่มอื่นด้วย ถามกลับว่าการเยียวยาแบบนี้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของรัฐบาลนี้มีให้แค่กลุ่มตัวเองเพียงเท่านั้น



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสื้อแดง แถลงขอบคุณ รัฐเยียวยาศพ 7.75 ล้าน อัปเดตล่าสุด 12 มกราคม 2555 เวลา 09:56:33 56,303 อ่าน
TOP