เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก theregister.co.uk
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสามารถเข้าถึงพื้นน้ำของทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่มีอายุกว่า 20 ล้านปี โดยทะเลสาบแห่งนี้ ซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาขุดเจาะนานกว่า 20 ปี ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่า ทะเลสาบแห่งนี้อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยเมื่อในครั้งอดีต และเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น
การเข้าถึงทะเลสาบวอสต๊อค เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งพวกเขาหวังว่า อาจจะพบจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งมีชีวิตก่อนยุคน้ำเเข็ง และอาจจะพบสิ่งมีชีวิต ที่อยู่ในสภาวะเดียวกันบนเปลือกน้ำเเข็งของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นบริวารของดาวอังคาร ดาวเสาร์ หรือดาวพฤหัสบดี
นายวาเลอรี ลูคิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกี่ยวกับทวีปอาร์คติกและแอนตาร์กติดของรัสเซีย หรือ เอเออาร์ไอ กล่าวว่า ลูกทีมของเขาสามารถเข้าถึงผิวน้ำของทะเลสาปน้ำจืดได้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งการเจาะเข้าไปถึงทะเลสาปครั้งนี้ เปรียบเทียบได้กับความพยายามของสหภาพโซเวียตที่จะไปถึงดวงจันทร์ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับสหรัฐอเมริกา เขาได้บอกกับทางสื่อของรัสเซียว่า เขารู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่านี่จะไม่ใช่ทะเลสาปน้ำจืดที่ลึกที่สุดก็ตาม และสภาพอากาศอันเลวร้ายในทวีปแอนตาร์กติก รวมไปถึงสถานที่ที่ห่างไกล ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการทำงานในครั้งนี้
นายเลฟ ซาวาทิวกิน นักวิทยาศาสตร์จาก เอเออาร์ไอ กล่าวว่า ไม่มีพื้นที่ไหนบนโลก ที่ถูกทิ้งร้างยาวนานกว่า 20 ล้านปี และการค้นพบในครั้งนี้ ก็หวังว่าเราจะพบแบคทีเรีย ที่สามารถขยายขอบเขตความรู้เกี่ยวกับจุดกำเนิดของชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม โปรเจ็คท์การค้นหาในครั้งนี้ ได้ใช้น้ำมันหล่อลื่นและสารต้านการแช่เเข็งกว่า 66 ตันในการเจาะลึกลงไปในน้ำเเข็ง ซึ่งเกรงว่า สารเหล่านี้อาจจะปนเปื้อนในทะเลสาบก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชาวรัสเซียต่างก็ยืนยันว่า พวกเขาเจาะลึกลงไปเพียงแตะพื้นผิวหน้าของทะเลสาบเท่านั้น แล้วจึงเพิ่มความดันขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้น้ำไหลขึ้นมาตามท่อจนเเข็งไปในที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้สารเคมีไหลลงไปในทะเลสาบได้ หลังจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อฤดูร้อนในทวีปแอนตาร์กติกมาถึง
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แม้ว่าทะเลสาบจะมืดและลึก แต่เชื้อจุลินทรีย์จะสามารถอาศัยได้ แม้ว่าจะมีความกดดันสูงและหนาวเย็นตลอดเวลาก็ตาม ซึ่งสภาพเเบบนี้ จะเหมือนกันกับสภาพที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบได้บริเวณเปลือกน้ำเเข็งของดาวอังคาร และดวงจันทร์ ที่ชื่อว่า ยูโรป้า ซึ่งเป็นบริวารดาวพฤหัสบดี รวมถึงดวงจันทร์ที่ชื่อว่า เอ็นเซลาดัส ซึ่งเป็นบริวารของดาวเสาร์ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนยังหวังว่า การศึกษาจากทะเลสาบวอสต๊อค และทะเลสาบใต้น้ำแข็งทั้งหลาย จะช่วยเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับสภาวะอากาศของโลก และสามารถคาดเดาทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้
รายงานระบุด้วยว่า การสำรวจทะเลสาบใต้น้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกนี้ เริ่มขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์และนักปฏิวัติแนวอนาธิปไตยอย่าง เจ้าชายปีเตอร์ โครพอทกิน เมื่อตอนหมดยุคศตวรรษที่ 19 ต่อมา นายอังเดร คาปิสซ่า นักภูมิศาสตร์ชาวรัสเซีย ได้ชี้จุดที่น่าจะเป็นบริเวณทะเลสาบ และตั้งชื่อตามปฏิบัติการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของสหภาพโซเวียต ในปี 1950-1960 จนกระทั่งถึงปี 1994 ที่มีนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียและอังกฤษสามารถพิสูจน์ว่า ทะเลสาบใต้น้ำเเข็งมีจริง
ในอนาคตข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย มีแผนว่าจะสำรวจทะเลสาบใต้น้ำเเข็งโดยการใช้หุ่นยนต์ที่ติดตั้งกล้องเอาไว้ ซึ่งจะให้หุ่นยนต์ช่วยเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนบริเวณก้นทะเลสาบ ซึ่งโครงการเหล่านี้ ยังคงรอคำอนุมัติจากองค์กรที่ทำงานด้านสนธิสัญญาแอนตาร์กติกอยู่