x close

ชี้ 10 ปี ไทยเจอ วิกฤติสูงอายุ จน-สุขภาพแย่




ชี้10ปีไทยเจอ วิกฤติ‘สูงอายุ’ จน-สุขภาพแย่ (ไทยโพสต์)


         เปิดผลวิจัยสุขภาวะครอบครัวไทย นักวิชาการชี้พ่อแม่บกพร่องดูแลลูก ส่งผลวัยรุ่นท้องไม่พร้อม ชี้อีก 10 ปีผู้สูงอายุไทยคุณภาพต่ำ เหตุไม่มีเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องเงินออม-สุขภาพ-ที่อยู่อาศัย เผย "รัฐบาล" ดูแลฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ

         เมื่อวันอาทิตย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ได้เผยผลวิจัยเรื่อง "สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2554-2555" ซึ่งสำรวจครอบครัวไทยทั่วประเทศ 4,000 ตัวอย่าง จาก 9 จังหวัดในทุกภาค

         โดย ผลวิจัยพบว่า ครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญคือ การเตรียมบุตรหลานให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอปกป้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะการตั้งรับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรง โดยผลวิจัยชี้ว่า ครอบครัวไทย 10% ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม และ 13.7% แทบไม่ได้เตรียมเลย 

         "ครอบครัว ไทย 23% กำลังบกพร่องต่อการทำหน้าที่สำคัญ ทั้งที่ความจริงครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่คนทุกคนหวังให้เป็นที่พึ่งพิงทั้ง ทางกายและจิตใจ การบกพร่องในการทำหน้าที่จึงเท่ากับสังคมได้ขาดกลไกสำคัญในการตั้งรับกับ ปัญหาที่รุนแรงและสลับซับซ้อนอย่างปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม"

        ดร.วิมล ทิพย์ยังระบุว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว และคนทำงานกำลังกลายเป็นคนสูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีความสุข และไม่เป็นภาระของลูกหลาน ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเกษียณใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ

        1.เตรียมตัวด้านเงินออม

        2.เตรียมตัววางแผนอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ

        3.ออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ

        4.เตรียมตัวเพื่อการพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย

         แต่งานวิจัยระบุว่าครอบครัวไทยราว 6.4% แทบไม่มีการวางแผนเรื่องเงินออมเลย ในขณะที่ครอบครัวอีก 23.3% ไม่มีการวางแผนเรื่องอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ 15.9% ไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และ 14.4% ยังไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยเลย

         "ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขใน อีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศจะมีทรัพยากรมนุษย์เกิดจากความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจนำมาซึ่งโอกาสที่จำกัด และสุดท้ายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ และเวลาเดียวกันจะได้แรงงานสตรีราคาถูก เพราะออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด ภาครัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลตนเองได้ในระดับต่ำ ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินออมดูแลตนเอง ไม่มีอาชีพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงงบประมาณมหาศาลที่ภาครัฐต้องทุ่มลงไป" ดร.วิมลทิพย์ กล่าว

         ดร.วิมลทิพย์ ระบุว่า หลายประเด็นเป็นเรื่องที่จัดการได้ด้วยระบบและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญกว่านโยบายคือการลงมือทำ อาทิ

        1.ทุกหน่วยงานควรร่วมสร้างและจรรโลงสังคมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

        2.ปัญหาใหญ่เกินกว่ามีเจ้าภาพเจ้าเดียว เพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้องการการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม เพราะหากสังคมไม่น่าอยู่ สุดท้ายทุกคนก็ไม่มีใครอยู่ได้อย่างมีความสุข

         พญ.พรรณ พิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยนอก ซึ่งต้องการพื้นที่สำหรับครอบครัวที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ส่งผลกระทบโดยตรง และเตรียมทักษะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ส่งผลต่อตนเองและครอบครัวในอนาคต การเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้ครอบครัวเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วม โดยกลไกรัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน และสร้างนโยบายส่งเสริมครอบครัวที่มีศักยภาพร่วมกับมาตรการการดูแลครอบครัว ที่ขาดโอกาส





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชี้ 10 ปี ไทยเจอ วิกฤติสูงอายุ จน-สุขภาพแย่ โพสต์เมื่อ 23 เมษายน 2555 เวลา 13:04:36 1,016 อ่าน
TOP