x close

นายกฯ สั่งเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูง นำร่องสายเหนือ







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
        
            นายกฯ สั่งเร่งโครงการไฮสปีดเทรน 4 สายทาง นำร่องสายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561 หลังเยี่ยมชมกิจการรถไฟซินกันเซ็น-รถไฟความเร็วสูงในจีน

 
            วานนี้ (22 เมษายน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ได้เดินทางไปยังศูนย์ควบคุมการจราจร และสถานีรถไฟฮากาตะ เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานของกิจการรถไฟซินคันเซ็น และระบบความปลอดภัย หลังจากที่นายกฯ และคณะได้เดินทางไปดูงานรถไฟความเร็วสูงและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสถานีรถไฟกรุงปักกิ่ง (หนานจ้าน) สถานีรถไฟเมืองอู่ซิงของจีน เพื่อนำมาศึกษาปรับใช้เป็นแนวทางในโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย
                    
            ทั้งนี้ หลังจากที่นายกฯ กลับจากการเยือนจีนและญี่ปุ่น ได้มีแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น โดยในขณะนี้ รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมปรับแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4 สายทาง ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่อีกรอบ โดยให้ปรับระยะทางการก่อสร้างให้สั้นลง เพื่อให้สามารถผลักดันโครงการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ให้มีผลงานเกิดเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น และให้เป็นจริงมากที่สุดภายใน 4-5 ปีนี้ ตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ
 
            โดยรายละเอียดแผนและเส้นทาง 4 สายทาง มีดังนี้
 
            1. สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 328 กิโลเมตร เงินลงทุน 121,014 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิม 745 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 229,809 ล้านบาท

            2. สายกรุงเทพฯ-พัทยา ระยะทาง 187 กิโลเมตร เงินลงทุน 59,000 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิมเป็นสายกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งระยะทางรวม 221 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 72,265 ล้านบาท

            3. สายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 256 กิโลเมตร เงินลงทุน 96,826 ล้านบาท

            4. สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร เงินลงทุน 82,166 ล้านบาท
 
            ทั้งนี้ จาก 4 สายทาง กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการก่อสร้างสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เป็นลำดับแรก เนื่องจากสายนี้ทางประเทศจีนมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนทั้งก่อสร้างและขายระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งมีประเทศญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจจะเข้าลงทุนด้วยเช่นกัน สำหรับความคืบหน้าของโครงการปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการให้แล้วเสร็จในปี 2555 และมีแผนจะเปิดประมูลและก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ สั่งเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูง นำร่องสายเหนือ โพสต์เมื่อ 23 เมษายน 2555 เวลา 14:08:11 3,726 อ่าน
TOP