x close

เปิดประวัติ ไทฟ้า ชยวรประภา เจ้าของรถปอร์เช่ชนฟอร์จูนเนอร์


เปิดประวัติ นายไทฟ้า ชยวรประภา เจ้าของรถปอร์เช่ชนฟอร์จูนเนอร์
ไทฟ้า ชยวรประภา 





           จากกรณีเมื่อคืนวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ยี่ห้อหรู ปอร์เช่ชนกับรถฟอร์จูนเนอร์ บนโทลล์เวย์ดอนเมือง เป็นเหตุให้คนขับรถทั้งคู่เสียชีวิตคาที่ ซึ่งข่าวดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้เสียชีวิตทั้งคู่เป็นคนที่มีชื่้อเสียง โดยคนที่ขับรถฟอร์จูนเนอร์ คือ พ.ต.ศักดิภัทร ปทุมารักษ์ ลูกชาย นายชาญชัย ปทุมารักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นนักธุรกิจชื่อดังย่านข้าวสาร นั่นก็คือ ไทฟ้า ชยวรประภา คนขับรถปอร์เช่  ซึ่งหลายคนอาจไม่ค่อยรู้จักว่า ไทฟ้า ชยวรประภา เป็นใคร มาจากไหน วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบค่ะ

           ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน นักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า หนุ่มเมืองจันท์ ณ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจมติชนสุดสัปดาห์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ไทฟ้า ชยวรประภา และนำมาเขียนในหนังสือ ฝันใกล้ไกล ไปช้าช้า จึงทำให้เราได้ทราบหลายเรื่องราวในชีวิตของเขา ชีวิตที่หลายคนคิดว่าจะหวือหวาเหมือนการขับรถของเขาหรือเปล่านั้น แท้จริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย

           ไทฟ้า ชยวรประภา เกิดเมื่อวันที่่ 17 มกราคม พ.ศ. 2501 ปัจจุบัน อายุ 54 ปี จบการศึกษาแค่ชั้น ม.ศ.5 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และด้วยฐานะยากจนเขาจึงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น ๆ โดยในบทสัมภาษณ์ ไทฟ้า ชยวรประภา ได้บอกว่า  เขาจะต้องไปศึกษาต่อที่ Royal field university หรือ มหาวิทยาลัยสนามหลวง  ซึ่งแท้จริงแล้วเขาต้องไปนั่งขายของริมถนน ขายตั้งแต่กระดาษหอม  ถุงโชคดี แหวน และกระเป๋านักเรียน หรือจะเรียกว่า เขาเป็นนักสู้ข้างถนนก็ว่าได้ จนกระทั่ง ไทฟ้า ชยวรประภา หันมาทำธุรกิจที่ถนนข้าวสาร

            ด้วยความที่ ไทฟ้า ชยวรประภา เป็นคนดิ้นรนต่อสู้ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก จึงทำให้การทำธุรกิจ และมีวิธีคิดในเรื่องของการใช้ชีวิตของเขามีแง่มุมที่แตกต่างจากประสบการณ์ชีวิตที่ราบรื่นของคนอื่น ๆ และเชื่อได้เลยว่าหลายคนที่ได้อ่านวิธีคิดของเขาสามารถนำไปเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาสู้ชีวิตได้เป็นอย่างดี สำหรับชีวิตของ ไทฟ้า ชยวรประภา นั้น เขาบอกว่าไม่มีใครเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต แต่เขาจะใช้ "ความอยู่รอด" เป็นแนวทางดำรงชีวิต

           พร้อมกันนี้ ไทฟ้า ชยวรประภา ยังกล่าวว่า เขาเป็นเพียงแค่เมล็ดมีเปลืองบาง ๆ ไม่ได้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีรากแก้ว เพราะชีวิตเขาไม่ได้เกิดมาในตระกูลดัง หรือมีกิจการที่สืบทอดต่อกันมา แต่เขาเริ่มต้นด้วยตัวเขาเอง  อย่างไรก็ตาม ไทฟ้า ชยวรประภา ยังได้กล่าวคำพูดหนึ่งที่โดนใจมาก โดยเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วน ๆ  คือ "มีคนบอกว่าเริ่มต้นยาก สำเร็จยาก แต่รักษาความสำเร็จยากกว่า ผมว่าไม่จริง  การรักษาความสำเร็จไม่ยาก เพียงแค่ว่าเราอย่าคิดว่าต้องเป็น..ที่สุด แค่นั้นก็รักษาได้แล้ว"

           นอกจากนี้ ไทฟ้า ชยวรประภา ยังมีทฤษฎี 3 เหลี่ยม ของการใช้ชีวิต ที่เขาบอกว่า "คนเราเมื่อรู้สึกว่ายืนอยู่บนยอดสุดของสามเหลี่ยมเมื่อไร จะ..รู้สึกตัน นั่นก็เพราะพื้นที่บนยอดสามเหลี่ยมน้อยเกินกว่าจะยืนหยัดอยู่ได้ จุดที่ดีที่สุดของการยืน คือ ตรงประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ของสามเหลี่ยม ซึ่งสูงพอประมาณ และมีพื้นที่กว้างพอที่จะยืนแบบไม่โดดเดี่ยว และ ทุกครั้งที่ต้องการยืนให้สูงขึ้นในระดับสูงสุดของสามเหลี่ยม เราต้องสร้างสามเหลี่ยมใหม่ที่ฐานกว้างขึ้น เพราะฐานเมื่อกว้างขึ้น ปลายสุดของยอดสามเหลี่ยมใหม่ก็จะสูงกว่าเดิม จุดสูงสุดของสามเหลี่ยมเก่าที่เราต้องการก็ตรงกับ 75 เปอร์เซ็นต์ ของสามเหลี่ยมใหม่ เราก็จะได้ยืนสูงขึ้น โดยที่ยังมีพื้นที่ให้กับคนอื่น"

           ส่วนในมุมมองด้านธุรกิจ เมื่อถามว่า หลักการบริหารธุรกิจเล็ก ๆ กับธุรกิจใหญ่ ๆ แตกต่างกันอย่างไร ไทฟ้า กล่าวว่า หลักการบริหารเงิน 1 บาท 100 บาท หรือ 1 ล้านบาท เหมือนกัน คือ การใช้เงิน จนทำให้เขากลายเป็นนักธุรกิจโรงแรมแบรนด์ไทยรายใหญ่ ซึ่งฐานธุรกิจของเขาเริ่มต้นที่ถนนข้าวสาร นั่นก็คือ บริษัท บัดดี้ กรุ๊ป จำกัด จากชื่อเดิม คือ บริษัท ไทฟ้า และเพื่อน จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2539 จนมาถึงปัจจุบัน ไทฟ้า และเพื่อน คือ นายประสิทธิ์ สิงห์ดำรงค์ นายมาโนช วงษ์มาก ขยายเครือข่ายธุรกิจมีกิจการในรูปบริษัท 25 บริษัท ครบวงจรธุรกิจโรงแรมบูติค ท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์

           ธุรกิจในรูปบริษัท 25 บริษัทของ ไทฟ้าและเพื่อน มีดังนี้

             1. บริษัท บัดดี้ กรุ๊ป จำกัด  
             2. บริษัท ไซด์วอล์ค คาเฟ่ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด  
             3. บริษัท บัดดี้ ลอดจ์ จำกัด  
             4. บริษัท ฟ้าละไม จำกัด   
             5. บริษัท ฟ้าอรุณ จำกัด  
             6. บริษัท ภูมิฟ้า จำกัด     
             7. บริษัท มิส มอลลี่ จำกัด   
             8. บริษัท วังวารี สิริเจ้าพระยา จำกัด   
             9. บริษัท ข้าวสารเนอร์ จำกัด   
             10. บริษัท คุ้มสามพระยา จำกัด       
             11. บริษัท ชยวรประภา จำกัด    
             12. บริษัท ซามูดี จำกัด   
             13. บริษัท ไซด์วอร์ค ราชดำเนิน จำกัด     
             14. บริษัท ต้มยำกุ้ง จำกัด    
             15. บริษัท บัดดี้ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด    
             16. บริษัท บัดดี้ บูติก อินน์ จำกัด   
             17. บริษัท บัดดี้ บูติค โฮเต็ล กรุงเทพ จำกัด    
             18. บริษัท บัดดี้ มารีน จำกัด   
             19. บริษัท บางกอก รอยัล อาร์ต จำกัด    
             20. บริษัท บ้านหินทราย เฉวงน้อย บูติค รีสอร์ท จำกัด    
             21. บริษัท บำรุงเมือง จำกัด  
             22. บริษัท พังการีสอร์ต จำกัด    
             23. บริษัท หินตา หินยาย บีช รีสอร์ท จำกัด   
             24. บริษัท บัดดี้ โฮลดิ้ง จำกัด     
             25. บริษัท มิลเลี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

           โดยเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ผู้บริหาร บัดดี้กรุ๊ป เปิดเผยสถานะทางธุรกิจของกลุ่มว่า ปัจจุบัน บัดดี้ กรุ๊ป เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ลงทุนโดยคนไทย และเป็นโรงแรมแบรนด์ของคนไทย จุดต่างที่สำคัญของโรงแรม คือ ขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ละแห่งไม่เกิน 70-80 ห้อง สามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วถึง ประกอบกับการใช้กลยุทธ์แบบคนไทย เช่น นำเสนอห้องพักในราคารวมอาหารเช้า หรือ ที่ บัดดี้ ลอดจ์ จะฟรีมินิบาร์ นอกจากนั้น ทุกโรงแรมของ บัดดี้ กรุ๊ป ยังมีบริการฟรีไวไฟ (wifi) ตอบสนองไลฟ์สไตล์การเดินทาง เพราะลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมรูปแบบนี้ส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ช่องทางการจองผ่านอินเทอร์เน็ต

           ปัจจุบัน บัดดี้ กรุ๊ป เป็นเจ้าของโรงแรม 6 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่ 3-5 ดาว ได้แก่ โรงแรมบัดดี้ ลอดจ์ (กรุงทพฯ) โรงแรมโฮเต็ล เดม๊อค (กรุงเทพฯ) โรงแรมบัดดี้ บูติค อินน์ (กรุงเทพฯ) โรงแรมบัดดี้ โอเรียลทอล ริเวอร์ไซด์ ปากเกร็ด (นนทบุรี) โรงแรม บัดดี้ โอเรียลทอล สมุย บีช รีสอร์ท และมาร์โคโปโล โฮสเทล (กรุงเทพฯ) ในระยะสั้นยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่ม แต่ก็เตรียมมองหาโลเคชั่นเพื่อขยายการลงทุน มองที่พัทยาและภูเก็ตเป็นหลัก เพราะ 2 พื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของต่างชาติ ที่เดินทางมาประเทศไทย โดยเน้นที่ตั้งที่เป็นโลเกชั่น สะดวก มีระบบสาธารณูปโภค พร้อมสรรพ
 
           แม้วันนี้ ไทฟ้า ชยวรประภา จะเหลือเพียงชื่อ แต่ธุรกิจในเครือบัดดี้ของเขาก็ยังอยู่ต่อไป ด้วยการวางรากฐานที่ยอดเยี่ยมจากวิธีคิดจากการใช้ชีวิตที่มีแง่มุมอันแตกต่างของเขา สุดท้ายนี้ กระปุกดอทคอมขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ "ไทฟ้า ชยวรประภา" ขอให้ดวงวิญญาณของเขาไปสู่สุคติด้วยค่ะ
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ ไทฟ้า ชยวรประภา เจ้าของรถปอร์เช่ชนฟอร์จูนเนอร์ โพสต์เมื่อ 30 เมษายน 2555 เวลา 14:55:55 18,262 อ่าน
TOP