x close

แรงงานอยุธยาหนีซบชลบุรี-ระยอง รับค่าแรง 300 บ.


แรงงานอยุธยาหนีซบชลบุรี-ระยอง รับค่าแรง 300 บ.

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          แรงงานในจังหวัดอยุธยาทยอยลาออกจากระบบผู้ประกันตนกว่า 31,000 คน หันไปซบโรงงานใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เพื่อรับค่าแรง 300 บาท ด้าน ผอ.พัฒนาแรงงานชี้ ขึ้น 300 บาท ทุกจังหวัดมีผลเสียมากกว่าผลดี

          วันนี้ (3 พฤษภาคม) นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัดนำร่อง ทำให้แรงงานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ในระบบผู้ประกันตน กว่า 31,000 คน เริ่มทยอยลาออกจากงาน ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานในจังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เพราะค่าแรงงานขั้นต่ำของอยุธยาอยู่ที่ 265 บาท/วัน

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องเริ่มปรับตัวโดยการจ่ายค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจแรงงาน โดยบางแห่งยอมจ่ายค่าแรงสูงถึง 365 บาท/วัน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ แรงงานจากธุรกิจเอสเอ็มอีจะไหลไปสู่โรงงานขนาดใหญ่มากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 1-2 ปี แรงงานอาจขาดแคลนได้

          ด้านนายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า มีแรงงานย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดชลบุรี และมาขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานจังหวัด ประมาณ 5% แต่เชื่อว่ามีแรงงานที่ไม่ขึ้นทะเบียนแต่ไปสมัครงานด้วยตนเอง เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งจะจูงใจโดยการจ่ายค่าจ้างมากกว่า 300 บาท หากรวมค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/วัน ทว่า ขณะนี้ชลบุรียังขาดแคลนแรงงานอีก 20,000 ตำแหน่ง

          ขณะที่ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความเป็นห่วงต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากับ 300 บาท ทั่วประเทศ ในปี 2556 ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ 2 อาจทำให้เกิดผลกระทบใหญ่ เนื่องจากจะเป็นการปรับขึ้นในอีก 70 จังหวัด ที่มีค่าจ้างห่างจาก 300 บาท ขณะที่ 7 จังหวัดที่ปรับไปก่อน หากไม่มีการปรับเพิ่ม ด้วยค่าครองชีพก็จะทำให้อำนาจซื้อลดลง

          ทั้งนี้ ดร. ยงยุทธ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลยืนตามนโยบายที่ให้ปี 2556 ทุกจังหวัดมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกับให้ค่าจ้างคงที่จนถึงปี 2558 อาจทำให้อำนาจซื้อจากเงิน 300 บาท ลดลงไปพอ ๆ กับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 299 บาท โดย 7 จังหวัดแรกที่ได้ขึ้นค่าจ้างไปก่อนจะเสียเปรียบกว่า โดยกรุงเทพมหานครมีค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเหลืออยู่ที่ 293 บาท นครปฐมเหลือ 290 บาท ปทุมธานีเหลือ 292 บาท นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ตเหลือ 289 บาท สุดท้ายสมุทรสาครเหลือ 287 บาท

          พร้อมกันนี้ ดร.ยงยุทธ ยังเสนอ 3 แนวทางเลือกเพื่อให้ลูกจ้างไม่จนลง และนายจ้างมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ดังนี้

       1) ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 2 งวด โดยปี 2556 ขึ้นค่าจ้าง 27-55 บาท เพิ่มอีก 18 จังหวัด และในปี 2557 ขึ้นค่าจ้าง 56-78 บาท ให้กับอีก 52 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ในปี 2557 มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

       2) ให้ขึ้นค่าจ้างครั้งเดียว 40%  และทุกปีปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีค่าครองชีพแต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาท

       3) ทำตามข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ขอเลื่อนการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้น ต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเป็นเดือนมกราคม 2558 และต้องปรับค่าครองชีพ (CPI) ให้กับแต่ละจังหวัดโดยอัตโนมัติ
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรงงานอยุธยาหนีซบชลบุรี-ระยอง รับค่าแรง 300 บ. โพสต์เมื่อ 3 พฤษภาคม 2555 เวลา 15:03:38 4,716 อ่าน
TOP