x close

พรรคเพื่อไทยเสียงแตก เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยแก้ รธน.





เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม

          วาระ 3 ของประชุมร่วมรัฐสภา ส่อเค้าวุ่นไม่เลิก เมื่อสมาชิกภายในพรรคเพื่อไทย มีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีการลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญภายในวาระการประชุมนี้หรือไม่

          หลังจากเกิดกรณีพิพาทภายในพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการลงมติในวาระที่ 3 ของการประชุมรัฐสภา ที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จนกระทั่งต้องมีการชะลอการลงมติดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้เปิดช่องว่างให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้เพียงบางมาตราเท่านั้น

          ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า การที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ลงมติ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากภาคประชาชน เหมือนเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยิ่งในเวลาต่อมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศการประชุมในพรรคเพื่อไทย รวมถึงในสภา มีความคิดเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝ่าย อย่างเห็นได้ชัด

          โดยในเบื้องต้น ฝ่ายที่เห็นด้วยอย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ที่เร่งให้มีการลงมติวาระ 3 นั้น ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ที่ต้องการเร่งให้ลงมติในวาระ 3 เนื่องจากไม่ต้องการปล่อยให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจควบคุมเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะจะทำให้การปกครองของไทยไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งนายก่อแก้วยังเร่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ตัดสินใจให้รัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทันที โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญด้วย

          ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการลงมติ วาระ 3 อย่าง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ตัดสินใจเลื่อนการลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 รวมถึงเลื่อนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติออกจากสมัยวาระการประชุมนี้ เพราะมองว่าเรื่องดังกล่าวละเอียดอ่อน ทำให้นายสมเกียรติถูกคนในพรรคเพื่อไทยบางส่วนต่อต้าน และมองว่าเป็นคนที่ไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ

          ในขณะที่ท่าที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่อยากให้มีเลื่อนการลงมตินี้ออกไป และยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะรัฐบาลยังเหลืออายุการทำงาน 4 ปี ซึ่งหากการแก้รัฐธรรมนูญเสร็จเร็ว อาจจะเป็นช่องว่าง หรือประเด็นที่ทางฝ่ายค้านจะกดดันให้รัฐบาลยุบสภา ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม

          ซึ่งความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงมุมมองต่าง ๆ จากคนในพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะมองข้อดี ข้อเสีย ในการลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนุญที่ต่างกันนั้น ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ในพรรคเพื่อไทยขณะนี้กำลังอึมครึม และไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นคงต้องจับตามองกันต่อไปว่าบทสรุปของการลงมติในวาระที่ 3 นั้น จะมีความชัดเจนขึ้นหรือไม่ หรือจะลงเอยเช่นไร


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พรรคเพื่อไทยเสียงแตก เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยแก้ รธน. โพสต์เมื่อ 12 มิถุนายน 2555 เวลา 15:44:48 1,603 อ่าน
TOP