x close

เปิดมุมมอง ปรองดองได้อย่างไร ฉบับ คอป.


กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คลิปรายการตอบโจทย์ โพสต์โดยคุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          เมื่อพูดถึงเรื่องการปรองดองในทางการเมืองแล้ว อีกหนึ่งองค์กรที่มีความพยายามจะผลักดันให้เกิดการปรองดองขึ้นให้ได้ ก็คือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งจะหมดวาระในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รายการตอบโจทย์ จึงได้เชิญ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หนึ่งในคณะกรรมการ คอป. มาพูดคุยว่า ปัญหาของการปรองดองในสังคมไทยวันนี้ อยู่ที่ตรงไหน

          ก่อนอื่น พิธีกรได้ถามปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า ตั้งแต่ทำงานมาอุปสรรคของ คอป.คืออะไร นายกิตติพงษ์ บอกว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คอป. ก็ไม่ได้มองตัวเองว่า จะเป็นผู้ที่มาสร้างความปรองดอง เพราะชื่อหน่วยงานในภาษาอังกฤษจริง ๆ หมายถึง ผู้ที่เข้ามาระงับไม่ให้เกิดความรุนแรง และเสนอแนะแนวทางที่จะนำไปสู่ความปรองดอง แต่ในช่วงแรกที่เข้ามาบรรยากาศรอบ ๆ ก็ยังไม่ค่อยดี งบประมาณก็มีปัญหา แม้ตอนนี้บรรยากาศจะดีขึ้น แต่หลายฝ่ายก็มองว่า มีการเร่งรัดกระบวนการปรองดอง ทำให้ คอป.ทำงานยากขึ้นไปอีก

          นอกจากนั้นแล้ว นายกิตติพงษ์ ยังยอมรับว่า มีปัญหาที่ภายในองค์กรด้วย เพราะคณะกรรมการฯ แต่ละคนไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน และไม่มีใครที่รู้เรื่องการเมืองมาก่อนด้วย การจะเสนอแนะสักเรื่องหนึ่งก็ต้องมีการทำวิจัย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การทำงานทุกอย่างจึงค่อนข้างล่าช้า แต่ภาพรวมก็ทำมาได้ในระดับหนึ่ง คือ อย่างน้อยได้เสนอแนะ ทักท้วง เสนอกลไกที่จะนำไปสู่ความปรองดอง

          เมื่อถามว่า จากการทำงานมาทั้งหมด คอป.ได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องข้อเท็จจริง ทั้งจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม และส่วนที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ซึ่งกำลังจะเสร็จสิ้น และกำลังจะเปิดเผยข้อเท็จจริงออกมา เมื่อครบวาระ ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ คอป.ที่เสนอต่อสังคม โดยข้อเท็จจริงนี้จะนำเสนออย่างตรงไปตรงมา จากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ 

          ทั้งนี้ หลายคนคงตั้งข้อสังเกตว่า คอป.กำลังจะพ้นวาระ แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่หมดอายุตาม คอป.ไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจะเดินต่อไปทางไหน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเห็นว่า อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่า คอป.ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่จะนำไปสู่การปรองดอง เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเสนอแนวทาง และวิธีทางที่จะนำไปสู่การปรองดองเท่านั้น ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มาร่วมทำงานกับ คอป. ก็ได้แนะนำให้ คอป. เสนอแนวทางในขั้นต่อไปด้วย ซึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนต่อต้องอยู่ภายใต้พื้นฐาน "ความน่าเชื่อ" หรือ Trust เพราะที่ผ่านมา สังคมขาดตรงนี้ ไม่ว่าตั้งอะไรก็ไม่มีคนเชื่อ เพราะมีความขัดแย้งสูง

          ปลัดกิตติพงษ์ ให้ความเห็นด้วยว่า สังคมไทยควรจะมาคุยกันให้มากขึ้น ว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป อาจจะมีองค์กร กลไก มาทำหน้าที่ตรงนี้ต่อจาก คอป. เชื่อว่า สังคมไทยก็อยากเห็นความปรองดอง เพราะหากนำประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้ง ก็ถือเป็นความเสียหายของประเทศอย่างมหาศาล ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญมากต้องตั้งสติให้ดี อย่าทำอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ แล้วหากลไกต่าง ๆ ที่จะทำความปรองดองให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม 6-7 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่ง นายกิตติพงษ์ มองว่า จากที่เคยคุยกับหลายฝ่าย บางคนให้ความเห็นว่า หากความขัดแย้งมันลงรากลึกจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้อย่างถาวรเลย เพราะคนจะรับรู้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนกลุ่มนี้ก็อาจจะเลือกเสพข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งได้ หากปล่อยไว้นาน ๆ คำว่า "สยามเมืองยิ้ม" อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่อาจจะเป็นเหมือนสถาบันอาชีวะ ที่แค่ชื่อสถาบันต่างกัน ก็พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร นี่จึงเป็นสิ่งที่กังวลในเชิงสังคม

          ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ นายกิตติพงษ์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนใหม่ในแถบนี้ เพราะทางเลือกของประเทศอื่นมากกว่าเรา อินโดนีเซียปฏิรูปประเทศไปมากกว่าเราแล้ว มาเลเซียก็กำลังจะแก้ไขปัญหาภายในได้ ไม่นับกัมพูชา เวียดนาม พม่า ที่กำลังจะก้าวต่อไป ดังนั้น ประเทศไทยไม่ควรจะทำร้ายตัวเองอีก เพราะจริง ๆ เราไม่มีปัญหาอะไรเลย โดยมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

          ปลัดกระทรวงยุติธรรม เสนอแนะอีกว่า การจะเดินไปสู่การปรองดองได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการหยุดไม่สร้างปัญหาใหม่ อย่ามาเอาชนะกันในเรื่องเล็ก ๆ และรับฟังข้อเท็จจริงที่กำลังจะออกมาจากสถาบันต่าง ๆ ว่า เราทะเลาะกันเรื่องอะไร ส่วนที่สามคือ ต้องมีกระบวนการเพื่อหาทางออก หรือสานเสวนากับคู่ขัดแย้ง เพื่อหาทางออก สุดท้ายก็คือ ต้องมีกลไกที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือ เพราะฉะนั้น จะต้องไม่มีทางลัด ก็คือ การนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่ใช่การปรองดอง สังคมต้องได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า ทะเลาะกันเรื่องอะไร คนที่ทำผิดไปมีตรงไหนให้อภัยได้ไหม สังคมต้องมาคิดร่วมกัน อย่างไรก็ตาม บางเรื่องที่ไม่ได้หนักหนาสาหัส ก็อาจมีกระบวนการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรื่องไหนหนักหนาสาหัส สังคมโดยรวมบอกว่า ยอมไม่ได้ ก็ต้องฟ้องคดี

          เมื่อถามว่า ข้อเท็จจริงที่จะปรากฏออกมาจะนำไปสู่การปรองดองได้อย่างไร เพราะจะต้องมีผลกระทบกับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนั้นก็คงไม่ยอม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกิตติพงษ์ ยอมรับว่า เป็นความยากของประเทศไทย เพราะไม่เคยมีกระบวนการแบบ คอป. แบบนี้มาก่อนในประเทศอื่น โดยส่วนตัวก็หวังว่า รายงานจะออกมาพร้อมกับข้อเท็จจริงของปัญหา ขณะที่สังคมไทย และคู่ขัดแย้งก็ต้องมีสติที่จะไม่เอาแพ้เอาชนะในประเด็นเล็ก ๆ แต่มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

          นอกจากนี้ นายกิตติพงษ์ ยังระบุด้วยว่า กระบวนการที่จะสร้างความปรองดองทั้งหมดจะต้องไม่ถูกนำโดยคู่ขัดแย้ง รัฐบาล หรือรัฐสภา แต่เป็นกระบวนการของประชาชนในทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งประชาชนก็ต้องมีสติรับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับมองว่า แม้จะดึงเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ ณ ปัจจุบัน ประชาชนก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ คือ ยืนอยู่บนความขัดแย้งและเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองเหมือนกับนักการเมือง เรื่องนี้ นายกิตติพงษ์ มองว่า การที่ประชาชนแยกขั้วส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนได้รับข้อมูลที่สับสน และมักจะเลือกเสพสื่อที่ตัวเองพอใจ ถ้าปล่อยเป็นเช่นนี้ก็จะยิ่งลงรากลึกไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายซึ่งยังมีความรักชาติอยู่ ต้องตระหนักแล้วว่า เรื่องนี้มันเสียหายมาก และกลับมาเหมือนเดิมไม่ง่าย แต่มันจะยิ่งยากจนเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากนี้ ยังต้องการความเสียสละอย่างยิ่งที่จะให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า

          ถ้าเช่นนั้น คอป.มองว่า บทบาทของสื่อในตอนนี้ควรเป็นเช่นไร เพราะบางสื่อก็แบ่งขั้วชัดเจน และรดน้ำพรวนดินให้ความขัดแย้งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี้ นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า อยากให้สื่อถอยมาทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะถ้ามองแต่ในมุมที่ตัวเองมองมานานก็อาจทำให้เราเชื่อไปอย่างนั้นจริง ๆ แต่หากถอยออกมา มองอย่างเป็นธรรมทั้งสองคน เราจะมองเห็นว่า จริง ๆ ปัญหามันอยู่ตรงไหน และจะทำให้คนมีความคิดเห็นเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียตรง ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเมื่อรวมกันมากขึ้น ก็อาจจะเป็นแสงสว่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างยกนิติรัฐ นิติธรรม มาอ้างจนสั่นคลอนไปหมด จะทำเช่นไรให้ นิติรัฐ นิติธรรม เป็น นิติรัฐ นิติธรรม ที่แท้จริงได้ นายกิตติพงษ์ ตอบว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ โดยในต่างประเทศมีคำว่า Rule of Law กับ Rule by Law คำว่า Rule by Law คือ เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือของอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ส่วน Rule of Law คือ หลักนิติธรรม ที่กฎหมายต้องออกมาโดยชอบ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ กระบวนการบังคับใช้ องค์กรบังคับใช้ ตุลาการ ต้องโปร่งใสทั้งหมด เป็นกลางจริง ๆ ซึ่งตรงนี้พูดง่าย แต่บ้านเราเจอโจทย์ยาก เพราะเจอความขัดแย้งขนาดใหญ่

          "หากทุกคนมองว่า หากหลักนิติธรรมถูกคลอนแคลนไปแล้วเป็นเรื่องใหญ่ แล้วถอยมาตั้งสติ ช่วยกันประคับประคองเล่นกันไปตามกติกา อย่าดึงเอาสถาบันอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง ดูแลรักษาหลักนิติธรรมไว้ให้มั่นคง ความปรองดองก็จะเกิดได้" ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว

          แล้วจะทำเช่นไรให้ความเชื่อใจ ความเชื่อมั่น กลับมาในสังคมได้ ประเด็นนี้ ปลัดกิตติพงษ์ แสดงความเห็นว่า วันนี้คงหาคนกลางยาก เพราะต่างไม่แน่ใจว่า คนนี้สีอะไร คนนั้นสีอะไร แต่ถ้าเริ่มต้นทำเรื่องนี้กันเป็นเครือข่ายก็อาจจะเริ่มได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าไปไกลถึงปรองดอง เอาแค่หยุดความขัดแย้ง มาคุยกันเพื่อแสวงหาแนวทางลดความขัดแย้งยังไงดีกว่า ซึ่งวันนี้ต้องเริ่มต้นได้แล้ว อาจจะไปคุยกับคู่ขัดแย้งว่า อะไรบ้างที่รับได้ อะไรบ้างที่รับไม่ได้ เอาสิ่งที่รับได้มาคุยกัน เดินร่วมกันไปก่อน สิ่งที่รับไม่ได้ก็ค่อย ๆ ดูกันไป ไม่ควรให้สภาฯ เป็นผู้เริ่มต้น เพราะควรให้กระบวนการต่าง ๆ ชัดเจนก่อน แล้วสภาฯ ค่อยมาทำหน้าที่ออกกฎหมายตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

          ในตอนท้าย ปลัดกิตติพงษ์ ได้วิเคราะห์ด้วยว่า หากสิ่งที่คุยมาทั้งหมดไม่เกิดขึ้น และไม่มีกระบวนการทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ไม่อยากจะคิดว่า จะเกิดขึ้นอะไรในสังคมไทย เพราะในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็เคยเกิดปัญหาเช่นนี้แล้วกลับมาไม่ได้เลย อย่างที่นายโคฟี่ แอนนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งมาร่วมให้คำแนะนำกับ คอป. เคยพูดว่ากังวลเรื่องนี้เช่นกัน และเตือนประเทศไทยว่าอย่าตายใจ

          "เอาแค่วันนี้ ประเทศไทยอยู่เฉย ๆ ประเทศเพื่อนบ้านก็แซงไปแล้ว ตอนนี้ที่สำคัญ ต้องตั้งสติ หยุดสร้างความขัดแย้ง ประคับประคองไปด้วยกัน มันไม่มีอะไรที่ง่าย แต่ต้องมาร่วมกันทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน แล้วดูว่าจะก้าวเดินร่วมกันอย่างไรต่อไป" ปลัดกิตติพงษ์ กล่าวในที่สุด




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดมุมมอง ปรองดองได้อย่างไร ฉบับ คอป. โพสต์เมื่อ 20 กรกฎาคม 2555 เวลา 15:37:12 1,535 อ่าน
TOP