x close

คนกรุงเซ็ง! รถคันแรก - รถไฟฟ้า ทำจราจรวิกฤติถึงปี 2558


รถติด
 

          คนกรุงเทพฯ ทำใจ เจอรถติดยาว 3 ปี จนถึง พ.ศ. 2558 เนื่องจากโครงการรถคันแรก และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สาย ทำจราจรวิกฤติหนัก

          สืบเนื่องจากปัจจุบัน "กรุงเทพมหานคร" ได้ติดโผเป็นเมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีปริมาณรถยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนนประมาณ 6.8 ล้านคัน เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ มีถนนรองรับประมาณ 5,887 กิโลเมตร จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณรถกับเส้นทางที่ใช้นั้น

          ล่าสุด วันนี้ (19 กันยายน) กระทรวงคมนาคมได้เผยว่า มีแผนนำระบบขนส่งมวลชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งนอกเหนือจากการตัดถนนใหม่ ๆ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง 3 สาย มีกำหนดพร้อมเปิดให้บริการอีก 3-4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2558-2560 ประกอบด้วย

          1. สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร กำหนดเปิดบริการเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558

          2. สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร เปิดบริการธันวาคม พ.ศ. 2559

          3. สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตร เปิดบริการเมษายน พ.ศ. 2560

          นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพปริมาณการจราจรของกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากมีรถยนต์ใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในบางพื้นที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ทำให้ปัญหาการจราจรติดขัดเริ่มรุนแรงมากขึ้น

          นายจุฬา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สนข. กำลังกังวลเรื่องอนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่ปริมาณการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะสาหัสมากขึ้นไปอีก เนื่องจากรถป้ายแดงตามโครงการรถคันแรกของรัฐบาลกำลังทยอยออกมาใน พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2558 ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมกำลังจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่อีกหลายสาย กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (มักกะสัน-พญาไท-ดอนเมือง) สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช) เป็นต้น

          สำหรับการหาแนวทางรับมือกับวิกฤติการจราจรในปีหน้า คงจะหาเส้นทางเลี่ยงจุดวิกฤติจราจรยาก ดังนั้น สนข. จึงมีไอเดียใหม่ และเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ปรับเวลาทำงานของหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เพราะปัญหาวิกฤติจราจรช่วงเช้า เป็นผลมาจากเวลาทำงานที่ใกล้ ๆ กัน คือช่วงเวลา 8 โมงครึ่งถึง 9 โมง ส่วนช่วงเย็นจะมีปัญหาไม่มากนัก เพราะคนกลับบ้านช้า หรืออาจจะเสนอห้ามนำรถยนต์มาทำงาน และให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ รวมถึงในระยะยาวอาจมีการเก็บภาษีรถที่วิ่งเข้ามาในเมืองด้วย

          ทั้งนี้ นายจุฬา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่ต้องเดินทางอาจจะต้องทำใจ เนื่องจากหลีกเลี่ยงวิกฤติจราจรได้ยากจริง ๆ เพราะเมื่อช่องจราจรหายไปฝั่งละ 1 ช่อง เท่ากับพื้นที่ในการสัญจรหายไป 33.33% ในทางกลับกันก็จะก่อให้เกิดปัญหารถติดเพิ่มขึ้นอีก 33% เพราะจะต้องบีบจราจรให้แคบลงเพื่อนำผิวจราจรมาใช้เป็นไซต์ก่อสร้างนั่นเอง
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนกรุงเซ็ง! รถคันแรก - รถไฟฟ้า ทำจราจรวิกฤติถึงปี 2558 โพสต์เมื่อ 19 กันยายน 2555 เวลา 15:13:45 2,601 อ่าน
TOP