x close

คลอดแล้ว! ใบอนุญาต 3G - กสทช. ลั่น มอบเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย


ใบอนุญาต 3G


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        กสทช. ออกแถลงการณ์ มอบ 3G ของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ระบุทั้ง เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ได้ใบอนุญาตหมด แย้มอัตราค่าบริการลดร้อยละ 15 แต่รอชี้ชัดตัวเลข และเงื่อนไขต่าง ๆ อีกที หลังแจกใบอนุญาต

        วันนี้ (7 ธันวาคม) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกแถลงการณ์เรื่อง "กสทช. มอบ 3G เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน" โดยมีเนื้อหาระบุว่า...

        "นับตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่  บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งภายหลังจาก กทค. มีมติรับรองผลการประมูลในวันที่ 18 ตุลาคม 2555 โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เสนอราคาประมูลสูงสุด 14,625 ล้านบาท บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค เสนอราคาประมูลเท่ากันคือ 13,500 ล้านบาท

        ทั้งนี้ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม ได้ร่วมประชุมกันในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 45/2555 วันที่ 7 ธันวาคม มีวาระพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz (3G) แล้ว โดยมีมติให้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกอบกิจการตามขอบเขตการอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูล ภายหลังจากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว
        
        สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้ว บริษัททั้ง 3 บริษัท มีการดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามเงื่อนไขในการดำเนินการ จึงเห็นควรเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณาอนุมัติให้ทั้ง 3 บริษัท ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile  Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz

        นอกจากนี้ เรื่องที่ กทค. ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภคในหัวข้อมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ว่า "ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพ" ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ทาง กทค. จึงมีมติในที่ประชุมให้กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต เรื่องอัตราค่าบริการ ดังนี้...

        1. ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ "ในการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ให้คณะกรรมการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยเฉพาะของผู้รับใบอนุญาตให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนการให้บริการกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต โดยอย่างน้อยต้องกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มให้บริการ รายละเอียดของลักษณะ หรือประเภทการให้บริการ อัตราค่าบริการ การให้บริการแจ้งข้อมูลผู้ใช้เลขหมายโทรคมนาคม และการอื่นที่จำเป็นในการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ"

        2. ตามประกาศ กทช. เรื่อง "เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม" ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามไว้ในหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 8 ซึ่งผู้รับใบอนุญาตแบบที่สามทุกรายต้องปฏิบัติ ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมไว้
   
        3. นอกจากนี้ ตามข้อ 16.8.5 ของประกาศ กสทช. เรื่อง "หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1GHz พ.ศ. 2555" ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตเป็นพิเศษว่า "ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ... ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเพื่อให้ไม่ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จึงเห็นควรกำหนดกรอบเงื่อนไขให้มีการลดค่าบริการในร้อยละที่กำหนดตามที่ กทค. ได้แสดงเจตนารมณ์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการฯ

        4. สำหรับเงื่อนไขใบอนุญาตที่ให้มีการลดค่าบริการเป็นร้อยละนั้น เห็นควรกำหนดเป็นร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
   
          4.1 ที่มาของการลดลงร้อยละ 15 นั้น เนื่องจากทิศทางและแนวโน้มอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาดปัจจุบันแล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงประมาณร้อยละ 10 และคาดว่า หากมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นในตลาด จะก่อให้เกิดระดับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้รับใบอนุญาตรายใหม่มีภาระต้นทุนบางส่วนที่ลดลง อันจะส่งผลให้อัตราค่าบริการมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ถึงร้อยละ 15

          4.2 การกำกับดูแลอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาต โดยข้อมูลที่จะใช้ในการตรวจสอบอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาจากการรายงานโครงสร้างและอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตนำส่งแก่สำนักงานทุกวันสิ้นเดือน ตามข้อ 16 ของประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

          4.3 สำหรับเหตุผลสนับสนุนการกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาต

            4.3.1. การกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะก่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าจะคำนวณอัตราค่าบริการให้ลดลงร้อยละ 15 โดยอาศัยฐานตัวเลขใดในการพิจารณา

            4.3.2. การใช้ฐานการคำนวณจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายเนื่องจากใช้ตัวเลขเฉลี่ยจากอัตราค่าบริการทั้งหมดในตลาด ทำให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ

            4.3.3. การกำหนดอัตราค่าบริการเฉลี่ยดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลล่วงหน้าและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการส่งเสริมการขายล่วงหน้าได้ทันก่อนการเปิดให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามเงื่อนไขการอนุญาตดังกล่าว

            4.3.4. การกำหนดให้อัตราค่าบริการลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับค่าบริการที่ลดลงแน่ๆ โดยไม่ต้องรอให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเสียก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี จึงเท่ากับเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าก่อนออกประกาศดังกล่าว ผู้ประกอบการจะถูกควบคุมโดยเงื่อนไขการอนุญาตว่าค่าบริการจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15

        อย่างไรก็ตาม การให้ใบอนุญาตในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสารของประเทศจากระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบการให้ใบอนุญาต โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการนำคลื่นความถี่มาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการได้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น

        นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมสิทธิในการติดต่อสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้มีความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช. ต้องกำกับดูแลอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และเกิดการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลก ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในระดับสากลต่อไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลอดแล้ว! ใบอนุญาต 3G - กสทช. ลั่น มอบเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย โพสต์เมื่อ 7 ธันวาคม 2555 เวลา 15:41:10 1,862 อ่าน
TOP