x close

ส่อเค้าเลื่อนประมูล 4G เป็นปลายปี 57 เหตุ กสท. ขอคืนคลื่นช้า


ประมูล 4G
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เตรียมชงบอร์ด กสทช. เซ็นตั้งคณะทำงานประมูล 4G คาดเสร็จทันปลายปี 2557 เลื่อนจากกรอบเวลาเดิมเป็นเวลา 1 ปี

            เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมการรองรับการเปิดให้บริการ 4G ในอนาคตว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทค. ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการจัดการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะเป็นคณะทำงานสำหรับจัดการประมูลคลื่นความถี่ 4G (LTE)

            โดยคณะทำงานชุดนี้ จะมีลักษณะคล้ายกับคณะทำงานจัดการประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยจะมีการจัดทำแผนการประมูล วิธีการประมูล ราคาคลื่นความถี่ทั้ง 20 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4 ชุดคลื่นความถี่ จำนวนชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ว่าจะมีราคาเท่าไร โดยแผนการประมูล 4G นี้ เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในตุลาคม 2556 แต่ต้องเลื่อนไปปลายปี 2557 เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย และยอมรับว่าติดปัญหาการเรียกคืนคลื่นจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

            พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมบอร์ด กทค. วันที่ 20 มีนาคมนี้ หากอนุมัติตั้งคณะทำงานแล้วเสร็จ เราก็จะเดินหน้าเตรียมการประมูลทันที ซึ่งการเตรียมการจะทำควบคู่ไปกับการร่างแผนการเยียวยาลูกค้าที่อยู่ในระบบ 2G และการหาข้อสรุปในประเด็นกฎหมายด้วย

            ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบัน กสท. ได้ให้สัมปทาน คลื่น 1800 กับ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) และสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 โดยมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบราว 18 ล้านราย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะยกร่างแผนเยียวได้เสร็จภายใน 3 เดือน หรือราวเดือนมิถุนายน 2556 ส่วนทาง กสท. ผู้เป็นเจ้าของสัญญาสัมปทานก็ต้องส่งแผนและมาตรการเยียวลูกค้า เพื่อดูแลลูกค้าในระบบด้วยเช่นกัน

            ทางด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช. จะขอความร่วมมือในการขอคืนคลื่น แต่หากไม่ให้ความร่วมมือก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางแพ่ง และอาญา ซึ่งกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เช่น ไปสนับสนุนให้มีการลงทุน หรือหาลูกค้าเพิ่ม ก็เท่ากับว่ามีเจตนาจะกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงขอเตือนว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องรับความเสี่ยงต่อบทกำหนดโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนบทบาทของ กสทช. เอง ก็ต้องดำเนินการ มิฉะนั้นจะโดนข้อหาฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่อเค้าเลื่อนประมูล 4G เป็นปลายปี 57 เหตุ กสท. ขอคืนคลื่นช้า โพสต์เมื่อ 19 มีนาคม 2556 เวลา 10:08:40
TOP