x close

หมอกควันเชียงใหม่ยังวิกฤติ ประชาชนป่วยพุ่ง 1.8 หมื่นคน


แฟ้มภาพ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  ครอบครัวข่าว 3

          ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบนยังวิกฤติ วัดค่าฝุ่นละอองที่เชียงใหม่ได้ 192 เกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รมว.ทรัพยากรฯ เร่งประชุมหาทางแก้ปัญหา
 
          วันนี้ (25 มีนาคม) รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประเมินสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ขณะที่หลายจังหวัดสถานการณ์ยังคงวิกฤติ
 
          โดยสถานการณ์หมอกควันที่ปกคลุม จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือหลายจังหวัด ยังอยู่ในระดับวิกฤติติดต่อกัน จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ รายงานค่ามลพิษใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จากค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่ายังมีอยู่ 5 จังหวัดที่ค่ามลพิษสูง โดยค่าฝุ่นละอองที่เชียงใหม่ วัดได้ 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จุดฮอตสปอตสูงถึง 100 จุด ส่วนอีก 8 จังหวัด ก็มีค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานเช่นกัน สูงสุดอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 323 ไมโครกรัม
 
          ด้านนายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงวันที่ 1-21 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้เริ่มส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นอย่างมาก โดยมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น 18,406 ราย และคาดว่าหลังจากนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม อัตราของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก 5 เปอร์เซ็นต์
 
          สำหรับพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดอยู่ใน 3 อำเภอ คือ สันป่าตอง แม่ริม และสันทราย เนื่องจากเป็นแอ่งกระทะใหญ่ จึงรับหมอกควันมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและต้องเฝ้าระวัง 4 โรค คือ โรคหัวใจ หลอดเลือด ตาอักเสบ ทางเดินหายใจ และผิวหนังอักเสบ
 
          ทั้งนี้ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้แจกให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นผู้ป่วยตามโรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งละ 3,000 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 80,000 ชิ้น และสำรองไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่อีก 20,000 ชิ้น ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดทำ Safety Clean Air Zone โดยดัดแปลงโรงยิม หรือหอประชุมให้มีม่านน้ำไว้ป้องกัน หรือเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยในกรณีที่ค่ามลพิษอากาศวิกฤติเกินกว่า 320 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- tnews.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอกควันเชียงใหม่ยังวิกฤติ ประชาชนป่วยพุ่ง 1.8 หมื่นคน โพสต์เมื่อ 25 มีนาคม 2556 เวลา 13:35:04 2,236 อ่าน
TOP