x close

วิจารณ์เละ! ชาวเน็ตผู้หวังดีตั้งกลุ่มช่วยหามือวางระเบิดบอสตัน

วิจารณ์เละ! ชาวเน็ตผู้หวังดีตั้งกลุ่มช่วยหามือวางระเบิดบอสตัน

วิจารณ์เละ! ชาวเน็ตผู้หวังดีตั้งกลุ่มช่วยหามือวางระเบิดบอสตัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ชาวเน็ตอเมริกันหลายรายวิจารณ์เละ เมื่อมีผู้หวังดีตั้งกลุ่มในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อรวบรวมรูปถ่ายบุคคลต้องสงสัยมาตัดสินกันเอง หวังช่วยเอฟบีไอระบุตัวคนร้ายวางระเบิดงานวิ่งมาราธอนที่บอสตัน หลังจากที่สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ได้ออกมาขอให้ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดบอสตัน ส่งรูปถ่ายหรือคลิปติดผู้ต้องสงสัยมาให้ทางเอฟบีไอพิจารณา

          รายงานระบุว่า นายริชาร์ด เดอลอรีเออร์ส เจ้าหน้าที่สืบสวนพิเศษเอฟบีไอ ผู้นำทีมสืบสวนเหตุระเบิดในบอสตัน ได้ออกมาเปิดเผยขอความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าร่วมชมการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่บอสตันเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาว่า อยากให้ประชาชนที่ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอในวันนั้น ช่วยกันสังเกตบุคคลที่แสดงท่าทีผิดปกติในภาพถ่ายหรือคลิป แล้วส่งภาพหรือคลิปที่มีบุคคลต้องสงสัยนั้นมาให้ทางเอฟบีไอได้พิจารณาโดยตรง เพราะอาจจะได้เบาะแส หรือหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน

          ทั้งนี้ ริชาร์ด ได้เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่ามีภาพและวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ระเบิดถูกอัพโหลดหรือโพสต์ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้คนสมัยนี้จะมีสมาร์ทโฟนติดตัวเพื่อถ่ายภาพเหตุการณ์น่าระทึกเอาไว้ ดังนั้น เป็นไปได้ว่า อาจมีภาพถ่ายหรือคลิปดี ๆ สักคลิป ที่จะช่วยให้ทางเอฟบีไอระบุตัวผู้ก่อการร้ายได้

          อย่างไรก็ดี หลังการเปิดเผยของริชาร์ด ได้ทำให้ชาวเน็ตมีการตั้งกลุ่มรวบรวมรูปภาพบุคคลต้องสงสัยมาวิเคราะห์กันเองในเรดดิท (Reddit) โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมของชาวอเมริกัน ซึ่งแต่ละภาพที่โพสต์ลงในกลุ่มนี้ จะถูกนำมาถกเถียงกันก่อนว่ามีวี่แววเป็นบุคคลต้องสงสัยได้หรือไม่ ก่อนที่จะส่งภาพที่ผ่านการคัดเลือกให้ทางเอฟบีไออีกครั้ง

          งานนี้จึงนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหลายแห่ง หรือแม้แต่ผู้คนชาวเน็ตว่า การที่ประชาชนผู้หวังดีบางคน ลุกขึ้นมาตั้งกลุ่มสังเกตผู้ต้องสงสัยในภาพถ่าย เช่น บุคคลที่ถือของหนัก หรือมีท่าทีพิรุธนั้น ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะบุคคลต้องสงสัยในสายตาของประชาชนธรรมดาที่ไม่ใช่ตำรวจหรือเอฟบีไอนั้น อาจจะเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีพิษสงใด ๆ แล้วยิ่งมีการเผยรูปภาพต้องสงสัยกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กอีก อาจทำให้คนบริสุทธิ์คนหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ และนำภาพถ่ายติดเขาไปเผยแพร่ต่อให้เกิดการวิจารณ์กล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย

          ดังนั้น ความหวังดีของชาวเน็ตในการช่วยจับผิดและหาตัวบุคคลต้องสงสัยครั้งนี้ จึงอาจเป็นการสร้างความวุ่นวาย และอาจทำให้การสืบสวนยากขึ้นไปอีก ผู้คนจำนวนไม่น้อย จึงขอให้การสืบสวนและหาตัวผู้ต้องสงสัยนั้น เป็นหน้าที่ของเอฟบีไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจดีกว่า




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจารณ์เละ! ชาวเน็ตผู้หวังดีตั้งกลุ่มช่วยหามือวางระเบิดบอสตัน โพสต์เมื่อ 18 เมษายน 2556 เวลา 17:16:30
TOP