x close

ศาลรับฟ้อง นพดล ลงนามร่วมเขมร ยกเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก


นพดล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ศาลรับฟ้อง ป.ป.ช. คดีนพดลเซ็นแถลงการณ์ร่วม ยกเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านสภา นัดพิจารณาคดียกแรก 5 กรกฎาคมนี้ ด้าน นพดล ตอกกลับทันควัน ลั่นข้อหาเป็นเท็จ พร้อมพิสูจน์ความจริง

          วันนี้ (26 เมษายน) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังจากที่ลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551
 
          ทั้งนี้ ศาลได้นัดพิจารณาคดีและคำให้การของนายนพดลครั้งแรก วันที่ 5 กรกฎาคมนี้ เวลา 13.30 น. อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าว องค์คณะพิพากษาไม่ได้ออกบัลลังก์อ่าน มีแต่ทนายความ ป.ป.ช. เดินทางไปรับคำสั่งเอง

           ขณะเดียวกัน ล่าสุด 12.00 น. ที่ผ่านมา นายนพดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Noppadon Pattama ระบุว่า 

          "คำแถลง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาลเพราะทำไปเพื่อปกป้องดินแดน

           ตามที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้รับคำฟ้องในคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องตนในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภานั้น ตนพร้อมไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ตนไม่เคยมีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 190 ของ รัฐธรรมนูญปี 50 เลย เพราะมาตรา 190 ไม่ชัดเจน คลุมเครือ จนต้องมีการแก้ไขถึงสองครั้ง

          นอกจากนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในปี 2551 ก็แนะนำว่าแถลงการณ์ร่วมไม่เข้าข่ายมาตรา 190 เพราะไม่เป็นหนังสือสัญญาและไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปเติมคำว่า "อาจ" เข้าไปในมาตรา 190 และตัดสินว่าแม้คำแถลงการณ์ร่วมไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแต่ "อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต" ซึ่งถือว่าตัดสินเกินรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้วุฒิสภาเคยลงมติไม่ถอดถอนตน และอัยการสั่งไม่ฟ้องตนแล้ว เพราะเห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิด

         แต่ทาง ป.ป.ช. ก็ยังอยากจะฟ้องเองโดยตั้งทนายฟ้อง และการบรรยายฟ้องก็เต็มไปด้วยความเท็จ และเป็นการใส่ร้าย เช่น ระบุว่า ตนย้ายทูตวีรชัย เพราะท่านทูตไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วมซึ่งเป็นความเท็จ ถ้าไม่เชื่อก็ควรไปถามท่านทูตจะดีที่สุด

         นอกจากนั้น ยังกล่าวหาว่า ตนลุกลี้ลุกลนอำพรางเสนอเรื่องเข้าสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วยกระดาษแผ่นเดียวก็เป็นความเท็จ เพราะมีการประชุมเป็นขั้นเป็นตอนและที่ประชุมก็เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ร่วมไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารที่ร่วมประชุมในขณะนั้น

         ตนขอย้ำอีกครั้งว่า คำแถลงการณ์ร่วมที่ทำไปกระทำเพื่อปกป้องดินแดนพี้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ทำร่วมกับเพื่อนข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ท่านทูตวีรชัยก็ยืนยันว่า กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและไม่รุกล้ำแนวเขตแดนตามมติ ครม.

         ดังนั้น แนวทางของแถลงการณ์ร่วมจึงเป็นการปกป้องดินแดนพื้นที่ทับซ้อน และคณะทนายที่ต่อสู้คดีในศาลโลกก็เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยและต้องการใช้ยื่นเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลปกครองได้ตัดสินให้แถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะไปแล้วจึงไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ ตนพร้อมที่จะไปต่อสู้คดีในศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน เพราะตนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและทำไปเพราะมีเจตนาปกป้องดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร และหวังว่าศาลจะให้ความยุติธรรม"

นพดล ปัทมะ
26 เมษายน 2556


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลรับฟ้อง นพดล ลงนามร่วมเขมร ยกเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2556 เวลา 15:12:58 1,580 อ่าน
TOP