x close

โพลชี้ ขึ้นค่าแรง 300 บาท คุณภาพชีวิตเท่าเดิม-ข้าวของแพงขึ้น



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          แม่โจ้โพลล์ เผยผลสำรวจแรงงานใน 8 จังหวัด พบ 49.2% ระบุว่า การปรับค่าแรง 300 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตเหมือนเดิม ขณะที่ 83.7% เห็นว่าทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าปรับราคาตามต้นทุน
 
          วันนี้ (26 เมษายน) ผศ.ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของแรงงานในพื้นที่เขตจังหวัดอุตสาหกรรม ประกอบด้วย จ.ลำพูน จ.ชลบุรี  จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง ถึง "เสียงสะท้อนแรงงานไทยกับค่าแรง 300 บาท" เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยหลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผลปรากฏ ดังนี้
 
          ร้อยละ 49.2 เห็นว่า มีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิม
         
ร้อยละ 39.1 เห็นว่า มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากเดิม
         
ร้อยละ 11.7 เห็นว่า คุณภาพชีวิตแย่ลงจากเดิม
 
เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท ส่งผลดีอย่างไรบ้างนั้น 3 อันดับ แรกมีดังนี้

          ร้อยละ 78.1 เห็นว่า นโยบายค่าแรง 300 บาท ทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้น
         
ร้อยละ 31.2 เห็น ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม
         
ร้อยละ 16.0 เห็นว่า ทำให้แรงงานที่มีฝีมือได้รับการสนับสนุน
 
ขณะที่แรงงานไทยสะท้อนผลเสียของการขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยเรียงตามลำดับได้ดังนี้ 

          ร้อยละ 83.7 เห็นว่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้ามีการปรับราคาขึ้นตามไปด้วย
         
ร้อยละ 57.5 เห็นว่า ทำให้ถูกลด โอที และสวัสดิการ
         
ร้อยละ 50.2 เห็นว่า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง
         
ร้อยละ 43.2 เห็นว่า ทำให้มีปริมาณงานที่ทำ/รับผิดชอบมากขึ้น
         
ร้อยละ 35.7 เห็นว่า ทำให้มีความเครียดจากการทำงานมากขึ้น
 
          ผศ.ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า แรงงาน ร้อยละ 70.3 เห็นว่าการปรับค่าแรง 300 บาท มีผลกระทบต่อองค์กร เนื่องจากบริษัทจะต้องมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทจะมีรายได้ลดลงและเสี่ยงต่อการขาดทุน มีเพียงร้อยละ 29.7 เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่ส่งผลต่อองค์กร/บริษัท เนื่องจากบริษัทมีรายได้และทำผลกำไรมากอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัททำการลดเงินค่าล่วงเวลาและให้พนักงานทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันได้มีการสอบถามความพึงพอใจ โดยรวมต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่า มีคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 3.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน
 
          อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุรชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้นโยบาย 300 บาท/วัน จะเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนที่เป็นแรงงานในด้านของค่าครองชีพ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับค่าจ้างให้เป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศนั้น ย่อมส่งผลต่อบริษัทหรือองค์กรให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษีให้แก่บริษัท องค์กรธุรกิจ แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าวบริษัทหรือองค์กรอาจจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น แรงงานไทยอาจประสบกับปัญหาภาวการณ์เลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทอาจขาดทุนและปิดกิจการก็เป็นได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหามาตรการที่ยั่งยืนเพื่อผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  ให้เกิดประโยชน์แก่แรงงานไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วย
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โพลชี้ ขึ้นค่าแรง 300 บาท คุณภาพชีวิตเท่าเดิม-ข้าวของแพงขึ้น โพสต์เมื่อ 26 เมษายน 2556 เวลา 15:14:16 1,409 อ่าน
TOP