x close

ภรรยา ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ เผยความรักที่จบลงด้วยน้ำตา ในศึกน้ำผึ้งพระจันทร์

ชาติวุฒิ บุณยรักษ์

ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ ภรรยา


            ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ เสียชีวิต ล่าสุด ภรรยา ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ เผยความรักที่จบลงด้วยน้ำตา ในศึกน้ำผึ้งพระจันทร์
 
            ติดตามเรื่องราวชีวิตรักของ ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ นักเขียนเรื่องสั้นและบทกวี ผ่านการบอกเล่าของภรรยาที่ดูแลและเคียงข้างเขาตลอดเวลา หลัง ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ ก่อเหตุอัตวินิบาตกรรม จนต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี จนกระทั่ง ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ เสียชีวิตในที่สุด
 
            ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ หรือ เป้ นักเขียนหนุ่มที่มีผลงานคุณภาพประเภทเรื่องสั้นและบทกวี รวมทั้งได้รับรางวัลมากมายจากงานเขียนของเขา กระทั่งเขาได้เสียชีวิต เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เนื่องมาจากอาการปอดบวมและติดเชื้อในกระแสเลือด หลังจากพักรักษาตัวจากเหตุลั่นกระสุนใส่ศีรษะตนเอง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากความเครียด แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้จบลงในทันที เมื่อ ชาติวุฒิ ยังมีชีวิตอยู่ต่อเป็นเวลากว่า 1 ปี 7 เดือน โดยระหว่างนั้นได้มีคน ๆ หนึ่งคอยอยู่เคียงข้างและดูแลเขาจวบจนสาระสุดท้าย นั่นก็คือ คุณศิริวรรณ การงานอันวิจิตร์ หรือ กิ๊ฟท์ ภรรยาของเขานั่นเอง
 
            ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องราวของคุณชาติวุฒิเป็นอุทาหรณ์สอนใจทุกคน รายการศึกน้ำผึ้งพระจันทร์ (17 มิถุนายน 2556)  จึงได้เชิญคุณศิริวรรณ มาเล่าย้อนเรื่องราวความรักของทั้งคู่ จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายที่ต้องจากกัน ซึ่งในช่วงต้นรายการได้มีการนำเสนอส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สั้นเรื่อง The GIFT ที่ชนะเลิศการประกวดในงาน เทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติ กรุงเทพฯ 2555 ซึ่งเป็นผลงานของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สร้างจากเรื่องจริงของคุณชาติวุฒิกับคุณศิริวรรณให้ทุกคนได้รับชม

ศิริวรรณ การงานอันวิจิตร์
 
            โดย คุณศิริวรรณ เล่าว่า คุณชาติวุฒิเสียชีวิตหลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นเรื่องดังกล่าว 9 วัน ซึ่งวันที่คุณชาติวุฒิเสียชีวิตนั้นก็ทำใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณศิริวรรณทราบดีว่า อาการของอีกฝ่ายแย่ลงตามลำดับ ส่วนการพบกันครั้งแรกนั้น เนื่องจากคุณศิริวรรณทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ขณะที่คุณชาติวุฒิดูแลเรื่องสถานที่และเป็นนักเขียนด้วย ทำให้ทั้งคู่ได้มีการติดต่อประสานงานกัน และได้มีโอกาสคุยกันเรื่อยมา จนกระทั่งคุณชาติวุฒิชวนคุณศิริวรรณไปเที่ยวชมนกชมไม้ที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แทนที่จะชวนไปดูหนังหรือเดินห้าง เหตุการณ์นั้นจึงทำให้คุณศิริวรรณรู้สึกสนใจในตัวคุณชาติวุฒิขึ้นมา
 
            ระหว่างที่มีการติดต่อกัน คุณชาติวุฒิมักส่งข้อความหวาน ๆ ไปหาคุณศิริวรรณตลอด เช่น บอกว่าคุณศิริวรรณเป็นสิ่งเติมเต็มในชีวิตของเขา และยามว่างคุณชาติวุฒิก็จะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจให้คุณศิริวรรณอ่านตลอด นอกจากนี้คุณชาติวุฒิที่มีอายุมากกว่า ยังคอยสอนแนะนำเรื่องต่าง ๆ ให้กับคุณศิริวรรณเสมอ ซึ่งเมื่อคบหาดูใจกันได้ระยะหนึ่งแล้ว คุณชาติวุฒิก็เล่าความฝันให้ฟังว่า เขาเกิดมาเพื่อเขียนหนังสือ และอยากเขียนหนังสือต่อไป โดยไม่ขออะไรมาก แค่ตื่นเช้าขึ้นมามีกาแฟกิน มีข้าวกิน ได้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศดี  เหมาะสำหรับการเขียนหนังสือและได้อยู่กับคนที่รักก็พอ เมื่อคุณศิริวรรณได้ฟังดังนั้นจึงตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกับคุณชาติวุฒิในที่สุด
 
            จากนั้นทั้งคู่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ปากช่อง เนื่องจากคุณชาติวุฒิได้ซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองไว้ ซึ่งถนนแถวนั้นยังเป็นดินลูกรังแบบชนบทจริง ๆ แต่ก็มีไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง ทว่า ทั้งคู่ได้ตัดสินใจรองน้ำฝนมาต้มกิน และมีการปลูกผักสวนครัว เพราะคิดว่า อาชีพนักเขียนไม่ใช่อาชีพที่รวยมาก ดังนั้นต้องพึ่งพาตัวเองเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้จะไปจ่ายตลาดเดือนละ 2 ครั้ง เพราะการเดินทางไม่ค่อยสะดวก โดยรายได้ในขณะนั้นมาจากการที่คุณชาติวุฒิมีผลงานลงในนิตยสารต่าง ๆ รวมทั้งผลงานรวมเล่มตีพิมพ์ก็ทำให้มีเงินก้อน คุณศิริวรรณจะเป็นคนบริหารค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนหนึ่งจะมีรายจ่ายประมาณ 5,000 บาท ใช้ชีวิตกันแบบนั้นเป็นเวลากว่า 3 ปี ซึ่งก็มีความสุขกันดี เพราะอยู่กันสบาย ๆ ไม่เหมือนสังคมเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวายและรีบเร่ง
 
            ส่วนสาเหตุที่คุณชาติวุฒิและคุณศิริวรรณกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะคุณชาติวุฒิได้เขียนนิยายเรื่อง คาราโอเกะ ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรกของเขาและเขียนได้ 500 กว่าหน้า แต่หลังจากนั้นคุณชาติวุฒิรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ถ่ายทอดพลังทั้งหมดลงไปในผลงานชิ้นนี้แล้ว จนคิดว่าอาจจะหยุดงานเขียนไว้สักพักเพื่อเติมพลังให้กับตนเอง แต่ก็เริ่มมีความกังวลว่า หากใช้เวลาพักนานเกินไป เช่น 5 ปีแล้วยังไมมีผลงานออกมาอีกเลย จะนำเงินที่มีอยู่มาบริหารจัดการอย่างไร ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจนำเงินก้อนที่มีอยู่มาต่อยอด ด้วยการเปิดร้านก๋วยจั๊บที่กรุงเทพฯ เพราะคุณพ่อคุณแม่ของคุณศิริวรรณมีสูตรก๋วยจั๊บอยู่แล้ว แน่นอนว่าตอนนั้นทั้งคู่ต่างเสียดายชีวิตที่ปากช่องเหมือนกัน แต่เพราะคิดว่าสักวันจะได้กลับไป จึงเดินหน้ากันต่อ

ศิริวรรณ การงานอันวิจิตร์
 
            แต่หลังจากเมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว การดำเนินชีวิตของทั้งคู่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ระหว่างนั้นคุณชาติวุฒิมีการนำงานเก่ามาแก้ใหม่ และมีผลงานเป็นบทความออกมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังเขียนหนังสือไม่ได้ ขณะที่คุณศิริวรรณต้องบริหารร้านอย่างเต็มตัว ซึ่งบ้านที่อาศัยอยู่กับร้านค้าอยู่ห่างจากประมาณ 3 ป้ายรถเมล์ ทำให้ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันเหมือนที่ปากช่อง และส่วนใหญ่ก็จะโน้ตคุยกันว่าถ้ามีอะไรให้โทรไปที่ร้าน หรือเดินไปที่ร้าน ซึ่งช่วงนั้นก็จะมีงอนกันบ้าง เพราะคุณศิริวรรณต้องดูแลร้าน และในหนึ่งเดือนก็จะปิดร้านได้แค่วันเดียว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเยอะ เพราะมีค่าเช่าที่ เงินเดือนลูกจ้าง ฯลฯ ขณะที่ช่วงนั้นคุณชาติวุฒิเองก็ไม่มีรายได้ใด ๆ จึงทำให้เริ่มมีท่าทีอึดอัดใจมากขึ้น
 
            ต่อมาคุณชาติวุฒิแสดงออกว่ามีอาการเครียด โดยมีการบ่นว่า เขียนหนังสือไม่ได้ รวมทั้งเป็นโรคนอนไม่หลับจนต้องพึ่งยานอนหลับ และได้แต่เก็บตัวอยู่ห้อง ไม่ค่อยพูดค่อยจา จนภายหลังได้เขียนโน้ตเขียนไว้ทำนองเหมือนจดหมายลาตาย จากนั้นคุณชาติวุฒิก็บอกว่า รู้สึกเหมือนไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว พร้อมเขียนบันทึกไว้ว่าจะจบชีวิตตัวเองที่ไหน อย่างไรดี กระทั่งวันหนึ่งคุณชาติวุฒิได้ใช้ปืนจ่อยิงศีรษะตนเอง แต่โชคดีที่กระสุนด้านจึงปลอดภัย ซึ่งคุณชาติวุฒิยังเปรยว่า ที่เป็นเช่นนี้ อาจเพราะเขาต้องการให้ตนเขียนงานต่อ ตอนนั้นแม้คุณศิริวรรณจะตกใจมาก แต่คำพูดของคุณชาติวุฒิทำให้คุณศิริวรรณคิดว่า เขาน่าจะดีขึ้นและมีแรงบันดาลใจในการเขียนงานใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง
 
            ทว่า คุณศิริวรรณก็ยังไม่วางใจนัก เธอจึงรีบปรึกษาพ่อแม่และเพื่อนเพื่อหาทางออก เมื่อทุกคนทราบเรื่องก็พยายามช่วยกันหาทางนำปืนออกห่างจากคุณชาติวุฒิ แต่กลายเป็นว่าคุณชาติวุฒิมีอาการหวาดระแวงมากกว่าเดิมและถึงขั้นพกปืนไปไหนมาไหนตลอด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลาของรายการได้หมดลง ดังนั้นเรื่องราวของคุณศิริวรรณที่ต้องรับมือกับสถานที่เลวร้ายนั้นจะเป็นเช่นใด ต้องติดตามตอนต่อไปในรายการน้ำผึ้งพระจันทร์ ออกอากาศวันที่ 24 มิถุนายน 2556 เวลา 22.30 น. ทาง ททบ. 5
 
            สำหรับประวัติของ คุณชาติวุฒิ บุณยรักษ์ พบข้อมูลว่า เกิดวันที่ 27 เมษายน 2518 จบการศึกษา ปริญญานิเทศศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปี 2543

ชาติวุฒิ บุณยรักษ์


ผลงานของ ชาติวุฒิ บุณยรักษ์
 
 ปี 2546 มีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก คือ รักลอยลม ตีพิมพ์ในนิตยสารสุดสัปดาห์
 ปี 2547 ออกหนังสือรวมเรื่องสั้น 2 เล่ม คือ ตำนานสุดท้าย-ไอ้มดแดง และ วันพิพากษา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เดอะรีดเดอร์เฮ้าส์
 ปี 2548 ผลงานรวมเรื่องสั้น ตำนานสุดท้าย-ไอ้มดแดง เข้ารอบ 1 ใน 20 เล่มสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรท์ประจำปี 2548
 ปี 2549 มีผลงานรวมเรื่องสั้นลำดับที่ 3 คือ นาฏกรรมเมืองหรรษา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

 
สำหรับเกียรติประวัติอื่น ๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้
 
2547

 เรื่องสั้น “มุมใหม่” ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดรางวัล “mBook Contest สนุกคิด สนุกเขียน” ซึ่งจัดโดย บริษัท โฟธอท จำกัด ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

 
2548

 เรื่องสั้น “วูบ” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจากการประกวดเรื่องสั้นของนิตยสาร ’m fine ครั้งที่หนึ่ง

 เรื่องสั้น “ทาส” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2548 จากเว็บไซต์ประพันธ์สาส์น

 เรื่องสั้น “คือคำสารภาพ” ได้รับรางวัลจากการประกวดเรื่องสั้นโครงการ “เปลือย” ของสุดสัปดาห์สำนักพิมพ์

 เรื่องสั้น “รักลอยลม” ได้รับรางวัลจากการประกวดเรื่องสั้นโครงการ “เปลือย” ของสุดสัปดาห์สำนักพิมพ์

 เรื่องสั้น “รอยเดิม” ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดเรื่องสั้นโครงการชีวจริยธรรมกับสังคม โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 เรื่องสั้น “บัวห้าดอก” เป็น 1 ใน 20 เรื่องสุดท้ายของการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์แนวสืบสวนสอบสวน รางวัล Nation Book Award ครั้งที่ 2

 เรื่องสั้น “รอยแยก” เป็น 1 ใน 12 เรื่องสุดท้ายของการประกวดรางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้าประจำปี 2548

 เรื่องสั้น “เจตนารมณ์สุดท้ายของชายวิปลาส” (จากหนังสือรวมเรื่องสั้นตำนานสุดท้าย-ไอ้มดแดง) ได้รับการจัดทำเป็นละครเวทีโดยอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม และจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์

2549

 เรื่องสั้น “คนรัก” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากการประกวด “โครงการวรรณกรรม-วรรณศิลป์ ครั้งที่ 1” ของนิตยสารสกุลไทย

 เรื่องสั้น “คำถาม” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากการประกวด “โครงการวรรณกรรม-วรรณศิลป์ ครั้งที่ 1” ของนิตยสารสกุลไทย

 เรื่องสั้น “นาฏกรรมริมฝั่งโขง” เป็นหนึ่งในผลงานจากการประกวดวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง โดยเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

 เรื่องสั้น “รอยแยก” เป็น 1 ใน 25 เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 7 ประจำปี 2549

 เรื่องสั้น “เรื่องกล้วยๆ และหลอดไฟของพ่อ” เป็น 1 ใน 25 เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 7 ประจำปี 2549















ขอขอบคุณข้อมูลจาก



 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภรรยา ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ เผยความรักที่จบลงด้วยน้ำตา ในศึกน้ำผึ้งพระจันทร์ โพสต์เมื่อ 18 มิถุนายน 2556 เวลา 23:17:07 9,274 อ่าน
TOP