เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการทูไนท์โชว์ โพสต์โดย คุณ Lakornhd Thaitv สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
หมอบอนด์ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ ที่ตกเป็นข่าวอวดอ้างวุฒิการศึกษาเกินจริง ควงน้องสาวเปิดใจในรายการ ทูไนท์โชว์ ถึงเส้นทางชีวิตของหมอบอนด์และครอบครัว ที่ต้องผ่านปัญหามาแล้วมากมาย รวมถึงเรื่องราวเฉียดตายของคนใกล้ตัวที่หมอบอนด์ได้พบเจอด้วย
กลายเป็นกระแสโด่งดังให้ชาวเน็ตได้วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย สำหรับ หมอบอนด์ หรือ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ อายุ 29 ปี พิธีกรรายการ "เค้าว่ากันว่า" ทาง Workpoint TV และนักเขียนบทความประจำนิตยสารหลายเล่ม ซึ่งมีการระบุข้อมูลเอาไว้ในบล็อกส่วนตัวว่า หมอบอนด์จบการศึกษาจากหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์บัณฑิต แพทยศาสตร์บัณฑิต เศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งใบประกาศนียบัตรอีกนับ 10 ใบ รวมถึงอ้างว่าเป็นจิตแพทย์
ทำให้ชาวเน็ตเกิดความสงสัยขึ้นว่าหมอบอนด์อายุน้อยเกินไป ที่จะศึกษาวุฒิเหล่านี้ได้ทั้งหมด และมีการออกมายืนยันจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าหมอบอนด์ไม่ได้เป็นจิตแพทย์ตามที่กล่าวอ้าง จนหมอบอนด์ต้องออกมาชี้แจงว่า ถูกแฮกข้อมูลเข้ามาเพิ่มวุฒิการศึกษาที่ไม่เป็นจริง จากนั้นจึงปิดบล็อกและเฟซบุ๊กไป พร้อมทั้งอ้างว่าจะขอหยุดพักรักษาคนไข้ และหันไปทำธุรกิจอื่นแทน
ล่าสุด หมอบอนด์ หรือ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ ปรากฏตัวใน รายการทูไนท์โชว์ (22 กรกฎาคม 2556) พร้อมกับ น.ส.ปิยะนุช เศรษฐวงศ์ น้องสาวที่ป่วยด้วยโรคลูคีเมียตั้งแต่อายุ 22 ปี เพื่อมาเปิดเผยเส้นทางชีวิตของเขาและครอบครัวที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ซึ่งถูกบันทึกเทปไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดกรณีวุฒิการศึกษาขึ้น
โดย หมอบอนด์ เล่าว่า คุณพ่อของเขาเป็นหมอ ส่วนคุณแม่เป็นพยาบาล และมีพี่น้องรวม 3 คน เขาเป็นพี่ชายคนโต โดยมีน้องสาวอีก 2 คน คือ นุช (หรือที่บ้านเรียกว่า ผึ้ง) และน้องสาวคนสุดท้องชื่อ พลอย ซึ่งคุณพ่อของเขาทำงานหนักมาก ออกจากบ้านตั้งแต่ 7-8 โมงเช้า กลับบ้านอีกทีก็ 4 ทุ่มไปแล้ว จึงแทบจะไม่ได้เจอหน้ากันเลย
ตอนเด็ก ๆ หมอบอนด์อยากทำงานสายศิลปะ เช่น เล่นดนตรี ทำภาพยนตร์ หรือเขียนหนังสือ แต่เพราะคุณพ่อเป็นหมอ เขาจึงถูกปลูกฝังให้เรียนหมอ และสอบเข้าได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่หลังจากเรียนหมอไปได้ 4 ปี ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่นใจร้อน หมอบอนด์จึงต้องเจอกับปัญหามากมาย ทั้งทะเลาะกับคุณพ่อ และทะเลาะกับคนอื่น จนกระทั่งคุณพ่อเอ่ยปากว่า อย่างเขาเป็นหมอไม่ได้หรอก เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย
หลังจากลาออกจากมหาวิทยาลัย หมอบอนด์ บอกว่า เขาไปค้นหาตัวเอง เล่นดนตรี รับถ่ายภาพ และไปเรียนการแสดง โดยในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่นั้น หมอบอนด์และครอบครัวกลับมองหน้ากันไม่ติด ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนซึมเศร้า ท้อแท้กับชีวิต แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปแสดงละครให้เด็ก ๆ ดู ความอิ่มใจที่เห็นเด็ก ๆ มีความสุข ทำให้เขากลับมามองตัวเองว่าจะยอมจบปัญหาไปง่าย ๆ หรือจะเดินหน้าแล้วสู้ต่อไป เพื่อทำประโยชน์ให้ผู้อื่นบ้าง และนั่นทำให้หมอบอนด์ตัดสินใจสอบเข้าเรียนใหม่อีกครั้ง และติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ส่วน นุช น้องสาวของหมอบอนด์ เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยและกำลังจะเรียนต่อปริญญาโท แต่กลับต้องเจอฝันร้ายหลังจากเพิ่งตรวจร่างกายไปได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยนุชบอกว่า ผลการตรวจร่างกายของเธอในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปกติดีทุกอย่าง แต่กลับมีอาการปวดกระดูกอย่างหนักในเดือนมีนาคม จนกระทั่งไปเจาะเลือดและพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด หรือ ลูคีเมีย ในวัยเพียง 22 ปี ซึ่งทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็เครียดมาก เธอจึงได้แต่ทำใจให้เข้มแข็งและเชื่อมั่นว่าตัวเองจะต้องหาย เพราะไม่อยากให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้อีก
ซึ่งการรักษาของนุช จะต้องทำคีโมเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ดีอื่น ๆ ในร่างกายกลับถูกฆ่าไปด้วย จนทำให้อาการของเธอแย่ลง แต่ถึงแม้อาการจะหนักขนาดไหน นุชกลับมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และบอกตัวเองอยู่เสมอว่าจะต้องหาย โดยมีคุณพ่อที่ทำงานน้อยลง และปลีกเวลามาดูแลเธอมากขึ้น ทำให้เธอสามารถอยู่กับโรคร้ายได้มาจนทุกวันนี้
สำหรับอาการป่วยของคนใกล้ชิดอย่างน้องสาว ไม่ได้เป็นเพียงแค่เคสแรกที่หมอบอนด์เคยเจอ เพราะเขาต้องเจอกับความสูญเสียเพื่อนสนิทด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ กับความสูญเสียคุณยายที่เลี้ยงดูมาด้วยโรคมะเร็ง จนทำให้เขารู้สึกเป๋ ๆ ว่าทำไมต้องเป็นครอบครัวของตัวเอง แต่สุดท้ายก็สามารถปลงได้ว่าบางคำถามก็ไม่มีคำตอบ เพราะถึงแม้จะรู้คำตอบไปก็คงไม่ได้ช่วยอะไร เพียงแต่ต้องรับมือกับมันเท่านั้น
นอกจากนี้ หมอบอนด์ ยังต้องเจอกับความเสียใจอีกครั้ง เมื่อแฟนสาวที่คบหากันอยู่ กลับต้องมีอาการป่วยจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรามาได้ 1 ปี แล้ว ซึ่งหมอบอนด์เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ระหว่างที่กำลังติวหนังสืออยู่ด้วยกัน แฟนสาวก็เอ่ยปากบอกเขาว่า "ที่รัก เค้ามึน ๆ " หลังจากนั้นก็ฟุบลงไป แม้เขาจะปั๊มหัวใจ หรือพยายามช่วยชีวิตขนาดไหน แต่แฟนสาวก็ต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราในที่สุด จนเขายอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักมาก ๆ และเป็นนาทีฉุกเฉินที่เขารู้สึกว่าอยู่ใกล้ตัวจริง ๆ
หมอบอนด์ จึงมีความคิดว่าทุกวันที่ตื่นอยู่ หมอจะต้องช่วยคนให้เต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าในวันพรุ่งนี้ เขาจะได้ตื่นขึ้นมาอีกหรือไม่ และเขายืนดีช่วยผู้อื่น แม้จะไม่สามารถออกแบบปัจจัยภายนอกได้ แต่ก็สามารถออกแบบมุมมองของเราต่อปัญหาได้ ว่านั่นคือปัญหาหรือเปล่า และนี่คือเรื่องราวของ หมอบอนด์ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ และน้องสาว ที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย แต่เลือกที่จะรับมือกับมันอย่างเข้มแข็ง