วิศวกรรม จุฬาฯ แนะ 8 ขั้นตอน จัดการปัญหาน้ำมันรั่วที่ระยอง




 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
            รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะแนวทางแก้ปัญหาน้ำมันรั่ว 8 ขั้นตอน ชี้เหตุที่เกิดในไทย รุนแรงน้อยกว่าวิกฤติในอ่าวเม็กซิโก เมื่อปี 53 ราว 4,000 เท่า แต่ขอให้เป็นบทเรียนในการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
 
            จากกรณีที่ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. รั่วไหล เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ส่งผลให้น้ำมันดิบจำนวน 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลระยอง จากนั้นกระแสคลื่นลมแรง ได้ทำให้คราบน้ำมันทะลักเข้ามายังชายฝั่งอ่าวพร้าว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ต้องประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อเร่งกำจัดคราบน้ำมันนั้น
 
            ล่าสุด เมื่อวันที่ (30 กรกฎาคม 2556) มีรายงานว่า รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง ภาพรวมแนวทางจัดการน้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) ลงสู่ทะเล เผยแพร่บนเว็บไซต์ eng.chula.ac.th ซึ่งเป็นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเสนอแนวทางการจัดการปัญหาน้ำมันรั่ว 8 ขั้นตอน ได้แก่
 


            1. หยุดการรั่วไหลของน้ำมันให้ได้โดยเร็วที่สุด (Stopping)
            2. การแจ้งเตือนและให้ข้อมูลกับภาคส่วนต่าง ๆ (Information)
            3. การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ (Sampling and Analysis)
            4. การควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการปนเปื้อนน้ำมัน (Contamination area Control)
            5. การแยกน้ำมันปนเปื้อน (Oil Separation)
            6. การบำบัดและกำจัด (Treatment and Disposal)
            7. การติดตามตรวจสอบ (Monitoring)
            8. การฟื้นฟูสภาพ (Remediation)
              
            ในบทความดังกล่าวของ รศ.ดร.พิสุทธิ์ ยังระบุอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของ บริษัท บริติช ปิโตรเลียม (บีพี) ในอ่าวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2553 ที่น้ำมันดิบปริมาณมากถึง 780,000 ลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกเป็นระยะเวลานานถึง 3 เดือน ก่อนที่จะสามารถหยุดการรั่วไหลได้ และต้องใช้เวลานานถึง 5 เดือนกว่า เพื่อปิดตายบ่อน้ำมันดังกล่าวอย่างถาวร
 
            ซึ่งปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้ มีค่าที่ต่ำกว่ามาก ๆ ราว 4,000 เท่า แต่จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำมันรั่วไหลนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดความชัดเจนในการจัดการ, การเตรียมความพร้อม และประสบการณ์ ก็สามารถส่งผลเสียในวงกว้างให้กับหลากหลายภาคส่วนของประเทศได้ ดังนั้น การป้องกันและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุก ๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญ
 
            อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้ระบุเนื้อหาปิดท้ายบทความดังกล่าวว่า เราควรให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบกับระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และเหนือสิ่งอื่นใด ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนคนไทยอีกด้วย
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิศวกรรม จุฬาฯ แนะ 8 ขั้นตอน จัดการปัญหาน้ำมันรั่วที่ระยอง อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2556 เวลา 08:56:01 20,200 อ่าน
TOP
x close