เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เรียกได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการของโลกก้าวหน้าไปมาก ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษย์มากมาย จนทำให้สิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยฮอตฮิตได้รับความนิยมจนถึงขีดสุดกลับล้าสมัยจนไม่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เทปคาสเซ็ต"
เทปคาสเซ็ต นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ปฏิวัติวงการดนตรีของโลกเลยทีเดียว ถือเป็นตัวแทนของป๊อปเคาเจอร์ (pop culture) ด้านดนตรีที่ใคร ๆ ก็นึกถึง แต่ใครจะเชื่อว่าจนถึงตอนนี้เทปคาสเซ็ตถือกำเนิดบนโลกถึง 50 ปีแล้ว และวันนี้กระปุกดอทคอม จะขอพาเพื่อน ๆ ไปรำลึกถึงเทปคาสเซ็ตกัน
สำหรับเทปคาสเซ็ตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกในปี 1962 (พ.ศ. 2505) โดยบริษัทฟิลลิปส์ได้คิดค้นเทปคาสเซ็ตพกพาออกมา เพื่อใช้สำหรับฟังเพลงโดยเฉพาะ โดยเทปคาสเซ็ตได้เปิดตัวออกสู่สายตาชาวยุโรปเป็นครั้งแรกในวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1963 (พ.ศ. 2506) ที่เบอร์ลิน เรดิโอ โชว์ และที่สหรัฐอเมริกาในปี 1964 (พ.ศ. 2507) ในชื่อที่เรียกว่า "Compact Cassette" หรือเทปคาสเซ็ต นั่นเอง
ในช่วงแรกของเทปคาสเซ็ต คุณภาพเสียงที่ได้นั้นยังไม่ดีนัก แต่ก็มีการพัฒนาปรับปรุงเป็น คาสเซ็ตแบบ 8 แทร็ค ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513) ทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นมาก ส่งผลให้เทปคาสเซ็ตเริ่มกลายเป็นทางเลือกสำหรับคอเพลงคุณภาพสูงแข่งกับแผ่นไวนิลที่เป็นเจ้าตลาดเดิม
ไม่เพียงเท่านี้ ความนิยมของเทปคาสเซ็ตยิ่งพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมในช่วงปี 1980 (พ.ศ. 2523) หลังจากที่โซนี่เปิดตัวเครื่องเล่นพกพา "Walkman" แต่ว่ากว่าที่ส่วนแบ่งของเทปคาสเซ็ตจะสามารถแซงแผ่นไวนิลได้ ก็ล่วงเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว (พ.ศ. 2533) อันเป็นช่วงที่เทปคาสเซ็ตมีความนิยมสูงสุด และค่อย ๆ ลดความนิยมลง หลังจากที่ความนิยมของแผ่นซีดีเริ่มเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เทปคาสเซ็ตได้รับความนิยมได้ไม่นานนัก เทปคาสเซ็ตก็เริ่มถูกซีดีเข้ามาแทนที่ โดยในปี 1993 (พ.ศ. 2536) มีการส่งมอบเครื่องเล่น CD มากขึ้นมาถึง 5 ล้านเครื่อง (เพิ่มขึ้น 21% จากปี 1992) ในขณะที่เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตกลับลดการส่งมอบลงไปเหลือเพียง 3.4 ล้านเครื่องเท่านั้น และจนมาถึงปี 2001 (พ.ศ. 2544) ในบรรดาเพลงที่ขายออกไปได้ มีเทปคาสเซ็ตที่ขายได้คิดเป็นเพียงแค่ 4% เท่านั้น และในปี 2007 (พ.ศ. 2550) ยอดขายของเทปเพลงก็เหลือเพียง 247,000 ตลับ จนในปี 2009 (พ.ศ. 2552) ยอดขายมีเพียง 34,000 ตลับเท่านั้น เทียบกับในปี 1990 (พ.ศ. 2533) ที่มียอดจำหน่ายสูงถึง 442 ล้านตลับ (สถิติในสหรัฐอเมริกา) จากสัญญาณนี้ทำให้ค่ายเพลงหลาย ๆ ค่าย ได้ลดกำลังผลิต หรือยกเลิกการผลิตเทปเพลงลงตั้งแต่ช่วงปี 2002-2003 (พ.ศ. 2545-2546)
ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังเหลือเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ยังคงขายเทปเพลง (เช่น อินเดีย) อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ถูกกว่า และในช่วงหลังการออกผลงานในรูปแบบเทปเพลง เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ศิลปินอินดี้ อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ถูกและสามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีในระดับหนึ่ง