x close

จับตาเจรจาการค้าไทย-อียู กับผลประโยชน์ที่ไทยอาจได้ไม่คุ้มเสีย !?


FTA Watch


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก FTA Watch

            FTA Watch ห่วงการเจรจาการค้าไทย-สหภาพยุโรป ประเทศไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย แนะมีประโยชน์ แต่ต้องรอบคอบ หวั่นประเทศไทยถูกผูกขาดทางการเกษตร และเรื่องยารักษาโรค ทำให้ค่าเมล็ดพันธุ์พืช-ค่ายาแพงขึ้น

            จากกรณีที่กลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18-19 กันยายน 2556 เพื่อร่วมกันติดตามการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ที่เตรียมจัดขึ้นรอบ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน พ.ศ. 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ทำให้หลายคนสนใจอยากทราบข้อมูลให้มากขึ้น ว่า เหตุใดเราจึงต้องจับตาการเจรจาในครั้งนี้ด้วย และเราจะได้รับผลกระทบอะไรหากประเทศไทยยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน


เหตุใด FTA Watch จึงต้องจับตาการเจรจาครั้งนี้?


            จากข้อมูลของ FTA Watch ระบุว่า การเจรจาไทย-สหภาพยุโรป ครั้งนี้ มีข้อสังเกตที่ผิดปกติอยู่หลายประการ เพราะมีความพยายามเร่งรีบให้มีการเปิดการเจรจาเอฟทีเออย่างไม่ลดละ ขณะที่ข้อคิดเห็นสาธารณะ รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มภาครัฐ กลุ่มภาคการเกษตร กลุ่มธุรกิจเอกชน และกลุ่มภาคประชาสังคม ก็ไม่เคยถูกนำมาให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเลย

            โดยในเดือนกรกฎาคม 2555 นางศรีรัตน์ ฐาปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในขณะนั้น ได้นำทีมข้าราชการเดินทางไปทำ Scoping Exercise กับสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังคงไม่มีการเปิดเผยว่าไปทำอะไร แม้ทางกรมจะอ้างว่าไปหารือเป็นการทั่วไป แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเมื่อกลับมาถึงก็มีการนัดประชุมระดับสูง เพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปทันที จากนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายกรัฐมนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมจะนำร่างกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกรอบฯ อีก

            เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดกรมเจรจาฯ และรัฐบาลจึงไม่ต้องการนำร่างกรอบการเจรจาฯ เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ไปรับฟังความคิดเห็นดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อถามในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเลี่ยงจะให้ความเห็นในเรื่องนี้ กระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบร่างกรอบฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

            ทั้งนี้ ในเอกสารของกรมเจรจาฯ ระบุว่า หากไม่ทำเอฟทีเอ นักลงทุนจะย้ายฐาน และไทยมีโอกาสจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แต่ทาง FTA Watch กลับมองว่า กรมเจรจาฯ ไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า การถูกตัดสิทธินั้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5 เปอร์เซนต์ ไปแล้ว และแม้จะถูกตัดสิทธิจีเอสพีทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบจากการสูญเสียรายได้เนื่องจากถูกแย่งตลาด ประมาณ 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) เท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออก

            ยิ่งไปกว่านั้น จากเอกสารของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกเรื่องผลกระทบของการปฏิรูประบบจีเอสพีของสหภาพยุโรปต่อการส่งออกของไทย ที่นำเสนอเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ระบุอย่างชัดเจนว่า "ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงปี 2557 และช่วงปี 2558 เป็นต้นไป

            โดยในช่วงปี 2557 สินค้าที่มีแนวโน้มถูกตัดจีเอสพี เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเกินเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนด จำนวน 50 รายการ โดยประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเท่ากับ 77.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ที่ไทยมีแนวโน้มถูกตัดสิทธิทั้งประเทศ ทำให้สินค้าที่เหลือจำนวน 723 รายการไม่สามารถใช้สิทธิจีเอสพี มีผลกระทบเป็นมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพียังมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากสินค้าของไทยไปยังสินค้าของคู่แข่งที่ยังคงรับสิทธิจีเอสพี เป็นมูลค่า 938 ล้านเหรียญสหรัฐ"

            นั่นหมายความว่า การถูกตัดสิทธิจีเอสพีของไทยส่งผลกระทบรวมทั้งสิ้น 1,080 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 34,560 ล้านบาทเท่านั้น


ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป จะกระทบต่อประเทศไทยในด้านใดบ้าง?

            FTA Watch มองว่า หากทีมเจรจารับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป จะไม่คุ้มค่ากับการได้สิทธิจีเอสพี เพราะต้องแลกกับการสูญเสียที่มูลค่าอาจสูงถึง สองแสนล้านบาท โดยผลกระทบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงและกว้างขวางจะมีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ

            1. ผลกระทบต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยา

            หนึ่งในข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปก็คือต้องการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Data Exclusivity) เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "สิทธิบัตรอำพราง" เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ค่ายาในประเทศแพงขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศโคลัมเบียที่ทำสัญญาให้สหภาพยุโรปบังคับผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นถึง 10,200 ล้านบาท

            สอดคล้องกับผลการวิจัยในไทย ที่พบว่าถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556) จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี และการที่ขยายเวลาผูกขาดยาจะทำให้เราต้องสูญเสียถึง 27,883 ล้านบาท

            ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็เคยทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์แสดงความห่วงใยในข้อเรียกร้องประเด็นนี้ เพราะมั่นใจว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยา และเวชภัณฑ์ภาครัฐอันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน เพราะค่ายาจะแพงขึ้นมาก ประเทศชาติจะต้องแบกรับภาระด้านยาเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล และประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จนส่งผลกระทบระดับประเทศ และผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติเท่านั้น

            2. ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และทางด้านชีวภาพ

            ความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศต่าง ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาและสนธิสัญญา 2 ฉบับ คือ ต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1991 (UPOV 1991) และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty)

            ทั้งนี้ ภาคีอนุสัญญายูปอฟ จะมาเพิ่มสิทธิผูกขาดพันธุ์พืช หากไทยยอมรับก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต้องจ่ายพันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยพบว่า ราคาพันธุ์พืชจะขึ้นอย่างต่ำ 2-3 เท่า จนถึง 6 เท่า คือจากมูลค่า 28,000 ล้านบาทในตอนนี้ ก็จะเพิ่มเป็นอย่างต่ำ 80,000 ล้านบาท และอาจถึง 140,000 ล้านบาทต่อปี

            นอกจากนี้ การเก็บรักษาพันธุ์พืชเอาไว้ปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยน จะกลายเป็นมีความผิดถึงขั้นจำคุก ทั้งยังต้องจ่ายค่าเสียหายด้วย นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชน ก็ไม่สามารถปรับปรุงพันธุ์พืชได้ ก็อาจต้องเลิกประกอบกิจกรรมไปในที่สุด และสิ่งนี้จะทำพันธุ์พืชท้องถิ่นหายไป มีพันธุ์พืชใหม่เข้ามาแทนที่ นำมาซึ่งปัญหาตามมามากมายในอนาคต

            เช่นเดียวกับสนธิสัญญาบูดาเปสต์ที่เน้นเรื่องการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ สิ่งนี้บังคับให้ประเทศที่เป็นสมาชิกที่ต้องการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ต้องนำตัวอย่างมาฝากที่องค์กรรับฝาก (สารชีวภาพ) ระหว่างประเทศ (International Depositary Authority - IDA) ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งถ้าประเทศไทยจัดตั้ง IDA ได้ ก็น่าจะได้รับประโยชน์ตรงนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่สนธิสัญญาดังกล่าว "ห้ามเปิดเผยแหล่งที่มา" ในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ จึงไม่สามารถทราบได้ว่าในการจดสิทธิบัตรจุลชีพนั้น มีการลักลอบนำของประเทศไทยไปพัฒนาหรือไม่ และเมื่อไม่มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรการแบ่งปันผลประโยชน์ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่สามารถทำได้

            สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ การนำไปปลูกต่อ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างเกษตรกรและชุมชน ขณะที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ที่เป็นคนไทยจะสูญเสียศักยภาพในการเข้าถึงฐานพันธุกรรม เนื่องจากความเป็นเจ้าของในพันธุกรรมอยู่กับภาคเอกชน ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาบูดาเปสต์ไปแบบเต็ม ๆ จะมีแค่บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมที่สามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้โดยง่าย เพราะมีเทคโนโลยีด้านชีวภาพที่เหนือกว่า

            เช่นนี้แล้ว การลดสิทธิเกษตร ขยายสิทธิผูกขาดของบริษัทจะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น รวมมูลค่ากว่า 84,000-143,000 ล้านบาท 

FTA Watch


ข้อสรุปของ FTA Watch

            อย่างไรก็ตาม FTA Watch สรุปว่า การไม่เจรจากับสหภาพยุโรปอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าในตลาดสหภาพยุโรป แต่การเจรจากับสหภาพยุโรปต้องระมัดระวัง เพราะไทยมีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า และสหภาพยุโรปมีกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนบางเรื่องที่อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศสมาชิก (multi-layer) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดของสินค้า บริการ และการลงทุนของไทย ดังนั้น จึงต้องเจรจาให้รอบด้าน ซึ่งหากเจรจาอย่างรอบคอบแล้ว คาดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้

            สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ ไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ข้าว แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาล

            สินค้าแฟชั่น ได้แก่ อัญมณี และเครื่องประดับ สิ่งทอ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม

            เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

            สาขาบริการที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ ที่พักโรงแรม ร้านอาหารและสปา การบริการสุขภาพ สาขาบันเทิงและโสตทัศน์ รวมทั้งสาขาการรับ-ส่งสินค้าระหว่างประเทศ

            สาขาบริการที่เปิดเสรีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและผู้บริโภค แต่อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในโดยเฉพาะรายย่อย ได้แก่ บริการโทรคมนาคม และบริการการศึกษา

            กลุ่มที่สนับสนุนการเจรจาแต่ขอเวลาปรับตัว และขอรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ สำหรับสินค้าบางรายการในกลุ่มสินค้ายานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ พลาสติกและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และเครื่องหนัง และผลิตภัณฑ์

            จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประชาชน และการส่งออกสินค้าของไทย

            ความร่วมมือเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนามาตรฐานสินค้า รวมทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม การลงทุน และการร่วมทุนในสาขาธุรกิจบันเทิง การจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านมาตรฐาน

            การขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ และการลงทุน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีสะอาด และลดก๊าซเรือนกระจก


ขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อกังวลที่ FTA Watch สรุปไว้ก็คือ


            อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่ไม่พร้อมแข่งขัน/มีความอ่อนไหวสูง ได้แก่ ยารักษาโรค ชิ้นส่วนยานยนต์ เยื่อและกระดาษ ไม้บางและวัสดุแผ่นไม้อัด เครื่องสำอาง นม เนื้อวัว เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ บุหรี่ สาขาบริการโทรคมนาคม การเงิน การธนาคาร ไปรษณีย์ การขนส่งสินค้าทางทะเล มัคคุเทศก์ และคลังสินค้า

            การเปิดเสรีสินค้าและบริการที่ยังมีความเห็นต่าง ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภาคประชาสังคมเห็นว่าไม่ควรเปิดเสรีเพราะมีผลกระทบทางสังคม แต่ผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่าอาจช่วยป้องกันการนำเข้าแบบผิดกฎหมาย) และบริการโลจิสติกส์ การเปิดเสรีจะช่วยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก 

            โครงสร้าง/กลไก ภายในประเทศทำให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่สามารถแข่งขันได้

            การลงทุน และการเข้าถึงฐานทรัพยากรที่เป็นผลจากการเปิดเสรีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีววิถี ชุมชน และฐานทรัพยากรของประเทศ

            ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ และพันธุ์พืช) รวมทั้งที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร (การทำนา ธุรกิจพืชและเมล็ดพันธุ์) และที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และร้านขายยา

            สหภาพยุโรปมีมาตรฐานสินค้า และกฎระเบียบที่หลากหลาย เข้มงวด และซับซ้อน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมของไทย

             ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่มีข้อผูกพันเกินกว่าที่ตกลงแล้วในองค์การการค้าโลก และในเรื่องการเกษตรและจุลชีพประเทศไทยต้องไม่เข้าเป็นภาคีภายใต้สนธิสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ที่คุ้มครองการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการผูกขาดการเกษตรอย่างครบวงจร และกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนและเกษตรกรรายย่อย ส่วนในเรื่องของยาและเวชภัณฑ์ จะต้องไม่มีการผูกขาดข้อมูลทางยา (data exclusivity) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยา และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

            ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ จึงทำให้ FTA Watch นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18-19 กันยายน พ.ศ. 2556 ที่ลานท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปในประเด็นต่าง ๆ และจับตาการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยมีความรอบคอบมากขึ้น เพราะหากไทยยอมรับข้อตกลงของสหภาพยุโรปทั้งหมด จะทำให้เกษตรกรไทยและผู้บริโภคทั้งประเทศต้องจ่ายค่ายา และค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นถึง 189,000-252,000 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มค่ากับสิทธิจีเอสพี ที่คาดว่าบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทส่งออกกุ้ง/ไก่ จะได้รับมาเพียง 34,560 ล้านบาทเท่านั้น



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก FTA Watch




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตาเจรจาการค้าไทย-อียู กับผลประโยชน์ที่ไทยอาจได้ไม่คุ้มเสีย !? อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2556 เวลา 16:18:10 11,743 อ่าน
TOP