6 ตุลาคม 2519 รำลึกครบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ณ ธรรมศาสตร์

           6 ตุลาคม 2519 รำลึกครบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับประวัติศาสตร์ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย




           วันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว ในอดีต (6 ตุลาคม 2519) ได้เกิดเหตุการณ์การเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมืองไทย โดยเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชน ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก

           และวันนี้ (6 ตุลาคม 2562) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีพิธีร่วมรำลึกครบรอบ 43 ปี 6 ตุลา 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำหรับกิจกรรม 43 ปี 6 ตุลา ในปีนี้ มีการจัดนิทรรศการ "ประจักษ์ / พยาน" ซึ่งมีการนำหลักฐานประวัติศาสตร์ของจริงมาจัดแสดงในงาน โดยจัดขึ้นที่บริเวณโถงหอประชุมศรีบูรพา 


ย้อนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

           เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เกิดขึ้นหลังคนไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย  ฝ่ายแรก (ฝ่ายซ้าย) คือกลุ่มที่สนับสนุนนิสิต นักศึกษาและต่อต้าน จอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร และ ฝ่ายที่สอง (ฝ่ายขวา) คือ ฝ่ายที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับนิสิต นักศึกษา เช่น พวกกลุ่มนวพล (ขบวนการฝ่ายขวาต่อต้านการปกครองแบบระบบคอมมิวนิสต์) กลุ่มกระทิงแดง (ขบวนการฝ่ายขวาที่มีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อตั้งโดยกองบัญชาการรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อปราบคอมมิวนิสต์) วิทยุยานเกราะ, ตำรวจตระเวนชายแดน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน 

           ทั้งนี้จากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลา 2516 เป็นเหตุให้ จอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไป แต่แล้วในปี 2519 ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทยก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติของทหาร หลังมีข่าวว่า 2 จอมพลจะเดินทางกลับไทย

           และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519 จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางเข้าไทย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 ทำให้กลุ่มนิสิต นักศึกษาและประชาชน ได้ลุกออกมาประท้วงขับไล่ จอมพลถนอม ออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองฝ่ายขวา นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ฉวยโอกาสก่อรัฐประหาร และทำการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หรือที่เรียกกันว่า 6 ตุลา 19 โดยได้ใช้กำลังปราบปรามนิสิต นักศึกษา อย่างรุนแรง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก จนนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุติการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา และทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทหารต่อมาเป็นเวลาปีเศษ

6 ตุลา
ย้อนลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

           เมื่อเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา 19 เวลาประมาณ 02.00 น. กลุ่มกระทิงแดง ล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบ และมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิต นักศึกษา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิต นักศึกษา

           เวลาประมาณ 05.00 น. เริ่มมีการยิงจากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้

           เวลาประมาณ 07.00 น. กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัย และใช้อาวุธหนักระดมยิง ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่าง ๆ เข้าถึงที่เกิดเหตุ

           เวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมยิงกระสุนเข้าใส่นักศึกษา

           เวลา 08.30-10.00 น. นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งหนีวิถีกระสุน บางคนวิ่งหนีออกทางประตูหน้ามหาวิทยาลัย บางส่วนหนีออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนถูกรุมตี รุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บถูกนำไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพ ขณะที่ศพนักศึกษาบางคนถูกลากเอาไปเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยใช้ยางรถยนต์ทับและราดด้วยน้ำมันเบนซิน บางส่วนใช้ของแข็งทำอนาจารศพนักศึกษาหญิง

           เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ และให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มคนที่มุงดูใช้ก้อนหิน อิฐ ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ

           เวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยใช้รถบรรทุกที่ทำเป็นเวทีปราศรัยบุกพังประตูเข้าไป บางคนได้ถือเชือกเข้าไปโดยจะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาล ได้แก่ นายชวน หลีกภัย, นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ และนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เนื่องจากกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่า บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว มีผู้ตะโกนถามว่า ท่านจะจัดการอย่างไร ม.ร.ว.เสนีย์ ตอบว่า ท่านจะบอกให้รัฐมนตรีทั้ง 3 ลาออกเองเพื่อความสงบของบ้านเมือง มีผู้ถามต่อไปว่า ถ้าบุคคลทั้ง 3 ไม่ลาออกจะทำอย่างไร ม.ร.ว.เสนีย์ตอบว่า ท่านจะลาออกเอง แต่ภายหลังข้อความนี้ได้ถูกวิทยุยานเกราะนำไปตัดต่อกลายเป็นข้อความว่า ท่านไม่เคยรู้มาก่อนว่าบุคคลทั้ง 3 นี้เป็นคอมมิวนิสต์ และท่านจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

           ครั้นถึงเวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี จนมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด

 
***หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 21.15 น. วันที่ 6 ตุลาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ,  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ตุลาคม 2519 รำลึกครบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ณ ธรรมศาสตร์ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2562 เวลา 21:17:09 79,205 อ่าน
TOP
x close