จากเสียงประชาชนสู่การปกครองตนเอง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร









จากเสียงประชาชนสู่การปกครองตนเอง "พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร"

             เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556 ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง อันประกอบไปด้วย เครือข่ายศาสนา ชนเผ่าชาติพันธุ์ เครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายแม่ญิงเชียงใหม่ และเครือข่ายการศึกษาได้จัดกิจกรรม "เดินหน้า...เชียงใหม่มหานคร" เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวเชียงใหม่ออกมาร่วมขับเคลื่อน พ.ร.บ เชียงใหม่มหานคร โดยกิจกรรมจัดขึ้นตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองร่วมกันประกอบพิธีไหว้สาครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา นำโดยนายจำเหลาะ สมจิตติ นักวิชาการอาวุโส เป็นผู้กล่าวนำคำนมัสการครูบาศรีวิชัย ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนเดินรณรงค์จากลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามถนนห้วยแก้วมุ่งหน้าสู่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

             หลังจากที่ขบวนเดินมาถึงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ก็ได้มีการจัดกิจกรรมการแสดงของกลุ่มต่าง  ๆ สลับการปราศรัยเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานครจากตัวแทนต่าง  ๆ กระทั้งเวลาประมาณ 15.00 น.จึงได้มีการอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ ก่อนที่ตัวแทนเยาวชนจะยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวน 12,000 รายชื่อ โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนเพื่อรับไปพิจารณาในสภาฯ ต่อไป

             โดยคุณสวิง ตันอุด ผู้อำนายการสถาบันจัดการทางสังคม แกนนำภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวเสริมแนวทางการทำงานของเครือข่ายยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครให้ฟังว่า

             "เชียงใหม่จัดการตนเอง - เชียงใหม่มหานคร เป็นขบวนการมีส่วนร่วมของคนเชียงใหม่หลายภาคส่วนที่ได้มาร่วมแรง ร่วมใจปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่การจัดการตนเอง เนื่องจากที่ผ่านเราเห็นว่าการปล่อยให้อำนาจการตัดสินใจดำเนินการบริหารราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางได้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราจึงคิดว่าหากรัฐเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยบริหารงาน ปัญหาดังกล่าวก็น่าจะมีปริมาณที่ลดลง โดยเฉพาะในเรื่องของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่น่าจะสอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น


             โดยที่ผ่านมาก่อนห้านี้เครือข่ายได้มีการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเดินรณรงค์ 120 วันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดให้ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเสนอร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร และเพื่อให้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงเราได้จัดเวทีกับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อร่วมกันยกร่างให้เป็นกฎหมายกลางโดยใช้หลักการพื้นฐานจากร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯ เพื่อที่ว่าต่อไปเมื่อมีกฎหมายกลางเกิดขึ้นแล้วจังหวัดอื่น ๆ ก็ไม่ต้องไปล่ารายชื่อทีละจังหวัดอีก ซึ่งผมเชื่อว่านับจากนี้ไปเชียงใหม่และจังหวัดต่าง ๆจะไม่เหมือนเดิมต่อไปอย่างแน่นอน"

             ด้านคุณวิสุทธิ์ ไชยณรุณรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า "การรับมอบร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่จัดการตนเองครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพราะว่าเป็นครั้งแรกที่สภาผู้แทนราษฎรออกมารับมอบร่างกฎหมายนอกสถานที่ ส่วนตัวจากที่ได้อ่านรายละเอียดพบว่ากฎหมายฉบับนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติจะนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้สภาผู้แทนฯ ศึกษาหาข้อมูลและให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาตีความ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มีการผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้คิดว่าหากไม่มีมาตราที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปัญหาจะมีก็เพียงแต่ในระยะเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จะไปเร่งรัดไม่ได้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยการจะผ่านร่างนั้นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบโดยเฉพาะต้องไม่ขัดกับกฎหมายระเบียบราชการที่มีอยู่แล้ว"


หลักการพื้นฐานของร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร

             1. ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดยส่วนราชการส่วนท้องถิ่นจะแบ่งเป็น 2 ระดับ(tier) ระดับบนเรียกว่าเชียงใหม่มหานคร ระดับล่างเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมแต่อาจเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเทศบาลหรือ อบต.ของมหาดไทยโดยอาจเรียกว่า "นครบาล"ตามร่างแก้ไข พรบ.กรุงเทพมหานครฯที่เห็นพ้องกับร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯซึ่งจัดการปกครองท้องถิ่นเป็น 2 ระดับแทนที่มีเพียงระดับเดียวแบบกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ใหญ่โตและเทอะทะเกินไป โดย 2 ระดับนี้อยู่ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำไม่ใช่ลักษณะของการบังคับบัญชา

             2. มีโครงสร้าง 3 ส่วน ประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง,สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง (Civil Juries) โดยเชียงใหม่มหานครนี้จะทำทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับ การทหาร, การต่างประเทศ, การเงินการคลังระดับชาติและการศาล

             3. จัดแบ่งรายได้กับส่วนกลางในอัตราส่วน 70/30 คือ เก็บไว้ใช้ในท้องถิ่น 70 เปอร์เซ็นต์และส่งส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์







































































เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากเสียงประชาชนสู่การปกครองตนเอง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร อัปเดตล่าสุด 29 ตุลาคม 2556 เวลา 11:48:45 7,830 อ่าน
TOP
x close