x close

ป.ป.ช. แสดงจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เตรียมยื่นฟ้อง ยูเอ็น





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ parritpond puey สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            ป.ป.ช. แสดงจุดยืนไม่เอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้กว่า 25,000 คดีเกี่ยวกับนักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐต้องระงับไป เตรียมยื่นฟ้อง ยูเอ็น

            เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงถึงท่าทีของ ป.ป.ช. ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาตรา 3 ทำให้มีประเด็นปัญหาที่กระทบถึงการป้องกันละปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและธรรมาภิบาล เสริมสร้างทัศนคติ และค่านิยมที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีเอซี) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา

            และในฐานะที่ ป.ป.ช. มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (10) (13) (14) จึงเห็นมีข้อสมควรให้เสนอแนะต่อวุฒิสภา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังนี้

            1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลกระทบที่สำคัญต่อเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ดำเนินการไต่สวน และส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว รวมถึงเรื่องที่ คตส. ได้ส่งมอบให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่รวม 24 เรื่อง

            เรื่องกล่าวหาที่ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่จำนวน 25,331 เรื่อง เป็นเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงจำนวน 400 เรื่อง และเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปจำนวน 24,931 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจำนวน 666 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวเกี่ยวกับการทุจริต จะเป็นอันต้องระงับสิ้นไปหากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ออกมา

            เรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษา เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลกระทบที่สำคัญร้ายแรงเป็นอย่างมาก

            2. ประเทศไทยเป็นภาคีของยูเอ็นซีเอซี หากออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริตจะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้แจ้งต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) โดยมีรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีต่อวุฒิสภาดังกล่าวข้างต้น เพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งวันนี้ (6 พฤศจิกายน) นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ได้นัดตัวแทนจากยูเอ็นโอดีซี สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อนำถ้อยแถลงดังกล่าวส่งไปยังสำนักงานใหญ่ต่อไป

            ด้านนายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า คดีที่ได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ตามที่ คตส. ไต่ส่วนมี 24 เรื่อง แบ่งเป็น

            1. คดีที่ศาลมีคำตัดสินเรียบร้อยแล้ว 5 เรื่องได้แก่ คดีร่ำรวยผิดปกติของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีที่ดินรัชดาฯ คดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เลี่ยงภาษีอากร คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง คดีทุจริตจัดซื้อโครงการกล้ายาง

            2. คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลคือ คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

            3. คดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ป.ป.ช. 8 เรื่อง คือ คดีบ้านเอื้ออาทร 5 โครงการ คดีคืนภาษีให้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานให้บริษัท เอไอเอส ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากโทรศัพท์ระบบเติมเงิน คดีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้เอไอเอสใช้สัญญาณโรมมิ่งจาก กสท. และ ทศท.

            4. คดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว 3 เรื่อง ได้แก่ คดีแอร์พอร์ต ลิงค์ คดีเซ็นทรัลแลป คดีการแก้ไขสัมปทานลดสัดส่วน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)

            5. คดีที่ ป.ป.ช. สั่งไม่ฟ้องคือ คดีซีทีเอ็กซ์

            6. คดีที่ ป.ป.ช. พิจารณาเสร็จแล้ว คือ คดีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) คดีอนุมัติเงินสินไหมทดแทนให้ดาวเทียมไทยคม 3 เช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ

            7. คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับอัยการ คือ คดีทุจริตโครงการจัดซื้อท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สนามบินสุวรรณภูมิ

            เมื่อถามว่า ป.ป.ช. กังวลหรือไม่ที่จะถูกมองว่าไปก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณากฎหมายนั้น นายวิชา กล่าวว่า กฎหมายได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ไว้ ที่สามารถเสนอแนะป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อรัฐสภา ต่อคณะรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้หากรู้ล่วงหน้าว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะออกมาแบบนี้ ก็จะมีหนังสือข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรว่า อย่าทำเรื่องดังกล่าวเลย แต่เรื่องนี้ไม่ทราบมาก่อน เพราะทางกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างมาก ได้เพิ่มเนื้อหานี้มาภายหลัง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่เคยคิดต่อต้านหรือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยเลย





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป.ป.ช. แสดงจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เตรียมยื่นฟ้อง ยูเอ็น โพสต์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09:24:31 13,810 อ่าน
TOP