x close

สมเกียรติ แนะม็อบใช้ความจริงสู้ ชี้อารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่งดงาม

สมเกียรติ แนะม็อบใช้ความจริงสู้ ชี้อารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่งดงาม

สมเกียรติ แนะม็อบใช้ความจริงสู้ ชี้อารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่งดงาม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก Somkiat Onwimon
 
          สมเกียรติ แนะ ม็อบใช้ความจริงสู้รัฐบาล-ทักษิณ ชี้ อารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่งดงาม อินเดียและสหรัฐฯ เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

          วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2556) เฟซบุ๊ก Somkiat Onwimon ของนายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน มีการเขียนข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ว่า การต่อสู้แบบอารยะขัดขืน ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ให้ความร่วมมือรัฐเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤศจิกายนนี้ โดยนำความจริงมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับรัฐบาล ถือเป็นแนวทางที่งดงาม และการต่อสู้อารยะขัดขืนเคยประสบความสำเร็จในอินเดียและสหรัฐอเมริกามาแล้ว นอกจากนี้ นายสมเกียรติยังได้เขียนทิ้งท้ายด้วยว่า การต่อสู้แบบไม่สันติ แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็ไม่งดงาม

สำหรับข้อความทั้งหมดของนายสมเกียรติ มีดังนี้

          "ขบวนการพลเมืองดื้อแพ่ง

          Civil Disobedience

          From Henry David Thoreau to Mahatma Gandhi สู่ ประเทศไทย

          การหยุดไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ที่เรียกว่า "อารยะขัดขืน" เป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่งดงาม มีแบบอย่างแห่งความสำเร็จมาแล้วในสหรัฐและอินเดีย

          ประชาชนไทยผู้ชุมนุมประท้วงประกาศ "อารยะขัดขืน" กำหนดประท้วงใหญ่ทั่วประเทศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐสามวัน คือ วันที่ 13-14-15 พฤศจิกายน 2556 นี้ โดยจะหยุดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หยุดงาน หยุดเรียน หยุดหรือชลอการจ่ายภาษี ฯลฯ ถือเป็นการทดลอง "อารยะขัดขืน" โดยการ "ทดลองกับความจริง" ใช้ "ความจริง" เป็นอาวุธและใช้ "สันติวิธี" เป็นวิถีแนวทาง

          "อารยะขัดขืน" เป็นศัพท์ใหม่ในบริบทการเมืองไทย เริ่มใช้กันประมาณสิบปีเศษที่ผ่านมา มาจากคำว่า "Civil Disobedience" จากแนวคิดของ Henry David Thoreauและมหาตมะ คานธี ที่ถูก "Civil Disobedience" ควรแปลว่า "พลเมืองดื้อแพ่ง" "พลเมืองขัดขืน" หรือ "พลเมืองไม่เชื่อฟัง" จะถูกต้องกว่า

          "Civil Disobedience" เป็นบทเรียงความอมตะแห่งประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในปี 1849 เขียนโดย Henry David Thoreau (1817-1862) เพื่อเสนอแนวทางต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้นจนเกินขนาด และเป็นอำนาจฉ้อฉล

          มหาตมะ คานธี (1869-1948) เกิดหลัง Henry David Thoreau 52 ปี ต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของอินเดียด้วย "สัตยะเคราะห์" และขบวนการดื้อแพ่ง ประท้วงด้วยกิจกรรมดื้อแพ่ง ไม่ให้ร่วมมือกับรัฐบาลอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ ที่ครอบครองอินเดียมานานกว่าสองร้อยปี จนประสพชัยชนะในที่สุด ทำให้อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 แต่มหาตมะ คานธี เองกลับต้องภัยความรุนแรง โดยถูกยิงตายในปี 1948

          "Ciivil Disobedience" แปลว่า "พลเมืองดื้อแพ่ง" โดยพร้อมใจกันทำกิจกรรมต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่ร่วมมือกับรัฐที่ใช้อำนาจฉ้อฉล ประชาชนพลเมืองจะทำกิจกรรมโดยสันติวิธี มหาตมะ คานธี เรียกกระบวนการต่อสู้แบบนี้ว่า "สัตยะเคราะห์" หมายถึงการต่อสู้ด้วยความจริง และขบวนการดื้อแพ่งต้านอำนาจรัฐก็ให้ทำอย่างสันติ หรือเรียกว่าเป็นวิธี "อหิงสา"

          ให้ยึดความจริง หรือ "สัตยะ" เป็นอาวุธ และยึดความสงบและสันติ หรือ "อหิงสา" เป็นพลังนำทาง ด้วยการหยุดงาน หยุดเรียน หยุดจ่ายภาษี เข้าอาศรมหรือรวมกลุ่มศึกษาหาความจริง แล้วประกาศความจริงให้ปรากฎอย่างอาจหาญ

          "สัตยเคราะห์" โดยสันติวิธีนั้น ต้องสันติทั้ง กาย วาจา และใจ ต้องอดทนและอดกลั้น ต้องมีสมาธิสูงในการต่อสู้ หากทำได้ การได้ประกาศความจริงก็จะถือว่าเป็นชัยชนะของพลเมืองแล้ว ไม่จำต้องรอผลการต่อสู้เฉพาะหน้า ไม่หวังผลเฉพาะหน้าที่เป็นรูปธรรมตามแผนที่คาดหวัง ดังนั้นการตั้งความประสงค์ไว้ให้รัฐบาลยอมแพ้ เช่นให้รัฐบาลลาออก ให้รัฐบาลขอโทษ ให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติ หรือให้รัฐบาลทำตามที่พลเมืองผู้ชุมนุมเรียกร้อง ย่อมไม่ใช่เป้าประสงค์ที่ต้องให้ได้สมประสงค์ในทันที นักสัตยะเคราะห์แบบ มหาตมะ คานธี จะไม่รอผลเช่นนั้น เพราะเมื่อได้ประกาศความจริงแล้วก็ถือว่าได้รับชัยชนะแล้ว การกดดันรัฐบาลต่อไปย่อมเป็นการต่อสู้ที่ทำได้ แต่ต้องทำอย่างสงบและสันติและไม่มีทุกข์เร่าร้อนอยู่ในหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการต้อสู้ยังไม่บรรลุผลเฉพาะเรื่องที่อยากได้นอกเหนือจากการประกาศความจริง

          "อหิงสา" ปฏิเสธแม้กระทั่งความรุนแรงในการพูดการอภิปราย ทั้งความคิดโกรธแค้นที่อยู่ในใจก็ถือเป็นความรุนแรงที่ต้องห้าม หากทำได้ดั่งนี้แล้วจึงเรียกได้ว่าเป็นวิถี "อหิงสา"

          "สัตยะเคราห์" จึงต้องไปด้วยกันกับ "อหิงสา" คือการต่อสู้ด้วยความสัตย์จริงอย่างสงบและสันติ โลกส่วนใหญ่รวมทั้งอินเดียเองก็ทำไม่ได้ครบทั้งสองส่วน มักจะทำได้ดีในส่วนแรก คือการประกาศ "สัตยะ" หรือ "ความจริง" แต่จะทำได้ยากในเรื่องสันติแบบอหิงสา ซึ่งรวมสันติทางวจีกรรม-คือทางการพูด และสันติทางมโนกรรม-คือทางความคิด ด้วย

          การใช้ความจริงเป็นอาวุธในการต่อสู้กับอำนาจ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-เพื่อไทย" ที่ฉ้อฉลทุจริตคดโกงชาติขณะนี้มีพลังบรรลุชัยชนะในการการประกาศความจริงแล้ว เมื่อความจริงประจักษ์แล้วว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-เพื่อไทย ทุจริต ฉ้อฉล ลุแก่อำนาจ ก็ถือเป็นชัยชนะแบบสัตยเคราะห์แล้ว

          ส่วนการต่อสู้กับอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-เพื่อไทย ที่ฉ้อฉลทุจริตคดโกงชาติ ต่อไปนี้ก็จะเป็นขบวนการหยุดความร่วมมือกับรัฐเพื่อกดดันให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยอมรับในความจริงที่มวลชนประกาศ ซึ่งความจริงที่ประกาศแล้วควรจะมีผลทำให้รัฐบาลฯอับอาย สำนึกผิด และลาออก คืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชนได้พิจารณาตัดสินใหม่ตามวาระของระบอบและแบบแผนประเพณีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

          เมื่อรัฐบาลฯ ยังไม่รู้จักแบบแผนประเพณีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง การต่อสู้ของพลเมืองจึงยังต้องดำเนินต่อเนื่องต่อไป...จนกว่ารัฐบาลจะมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อความจริงและยอมจำนนต่อพลัง "สัตยะเคราะห์-อหิงสา"

          ในระหว่างนี้ ประชาชนต้องเคร่งครัดเรื่อง "สันติวิธี" หรือ "อหิงสา" ให้มาก

          เพราะ ความจริงโดยสันติ เป็นชัยชนะที่งดงาม

          แต่ความจริงโดยปราศจากสันติ แม้จะเป็นชัยชนะ แต่ก็ไม่งดงาม

          สมเกียรติ อ่อนวิมล
          12 พฤศจิกายน 2556

อ้างอิง:

          Thoreau, Henry David: Walden, Civil Disobedience and Other Writings, Norton Critical Edition, Third Edition, W.W. Norton and Company, New York, London, 2008

          Gandhi, M.K.: Non-Violence Resistance (Satyagraha), Schocken Books, New York, 1961, sixth printing 1971


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมเกียรติ แนะม็อบใช้ความจริงสู้ ชี้อารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่งดงาม อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12:06:45 10,282 อ่าน
TOP