เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เป่านกหวีด กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ บนเส้นทางการเมือง อีกหนึ่งหนทางในการลุกขึ้นปะทะกับความไม่ชอบธรรมรวมกันโดยคนในสังคม
จากเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่มวลชนได้ออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงเจตจำนง คัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม โดยมีทั้งองค์กร มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมาแสดงตัวเคลื่อนไหวกันมากขึ้น นอกเหนือจากการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน และบริเวณแยกอุรุพงษ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือทางกลุ่มชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ได้ที่นัดเป่านกหวีดร่วมกัน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ถนนสีลม
เสียงนกหวีดจากปวงประชาที่พร้อมใจกันเปล่งเสียงเพื่อต้านอำนาจอันมิชอบ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ยังได้เคยเกิดเหตุการณ์เป่านกหวีดต่อต้านหรือรณรงค์การใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐมาหลายครั้งแล้ว ดังเช่นเหตุการณ์ต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2513 ราล์ฟ เนเดอร์ (Ralph Nader) นักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคชาวอเมริกันเลือกที่จะเป่านกหวีดในรัฐสภาเพื่อเตือนรัฐบาล ถึงพฤติกรรมที่ส่อความทุจริตและไม่โปร่งใสในการบริการบ้านเมือง ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเป่านกหวีด
ในปี พ.ศ. 2551 Falling Whistles ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อรณรงค์ให้เกิดสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งได้มีการใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง และขยายแนวร่วมผู้สนับสนุนด้วยการเชิญชวนให้ร่วมเป่านกหวีดเพื่อแสดงออก
ในปี พ.ศ. 2552 ชาวราเนียราว 15,000 คน ได้จัดชุมนุมทั่วประเทศที่จัตุรัสแห่งชัยชนะ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจกลางกรุงบูคาเรสต์ เพื่อประท้วงค่าจ้างแรงงานต่ำ ก่อนเคลื่อนขบวนไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2555 จากนโยบายหยุดและค้น (Stop-and-Frisk' Policy) ของตำรวจนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่มอบอำนาจให้ตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นประชาชนได้อย่างอิสระ จนทำให้ชาวอเมริกันเกิดความอึดอัดและมองว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ได้ก่อให้เกิดแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนพกนกหวีดติดตัวไว้ทุกคน และหากพบตำรวจเข้าตรวจค้นก็ให้เป่านกหวีดใส่ อีกทั้งในกลุ่มผู้ประท้วงหลายสิบคนในเมืองฮาร์เล็ม รัฐแมนฮัตตัน ก็ได้ร่วมกันเป่านกหวีด เพื่อแสดงการต่อต้านนโยบายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนนี้ด้วย
ในปี พ.ศ. 2556 ประชาชนและสื่อมวลชนของประเทศอิรัก ในดินแดนชาวเคิร์ด ได้ร่วมกันเป่านกหวีดหน้ารัฐสภา เพื่อแสดงการต่อต้านพฤติกรรมรัฐบาลที่คุกคามและจำกัดสิทธิการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐได้จับกุมและตั้งข้อหาสื่อมวลชนที่เสนอข่าวโจมตีรัฐบาล
ภาพประกอบจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP
นอกจากนี้ ยังมีคำเรียก คนเป่านกหวีด (Whistleblower) ขึ้น เพื่อใช้เรียกคนภายในองค์กร ซึ่งนำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย รวมถึงการทุจริต คอร์รัปชั่นขององค์กรนั้น ๆ มาเปิดโปงสู่สาธารณะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์โลกก็ได้มีการจารึกถึงเหตุการณ์ที่คนเป่านกหวีดออกมาเปิดโปงการกระทำอันมิชอบเหล่านี้มาหลายครั้งแล้วดังเช่นบุคคลต่อไปนี้
เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) หรือ สิบตรี แบรดลีย์ แมนนิง (Bradley Manning) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ในประเทศอิรัก จากการลักลอบส่งเอกสารข้อมูลลับทางทหารและการทูตกว่า 700,000 รายการ ให้แก่นายจูเลียน อัสซันจ์ (Julian Assange) ซึ่งเอาไปเปิดโปงผ่านเว็บไซต์ Wikileaks เนื่องจากต้องการเผยให้เห็นความโหดเหี้ยมของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อชีวิตมนุษย์ในอิรักและอัฟกานิสถาน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2556 ศาลก็ได้พิพากษาโทษจำคุก 35 ปี รอลงอาญา 8 ปี สำหรับความผิดฐานทำให้ข้อมูลลับรั่วไหลสู่สาธารณะ และได้ถูกจำคุกในเดือนกันยายน 2556 พร้อมถูกปลดประจำการจากกองทัพสหรัฐฯ
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตลูกจ้างสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ได้ออกมาแฉข้อมูลลับเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ในปี 2555 รวมทั้งต่อมาในปี 2556 ก็ได้เปิดโปงว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) สังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลอบดักฟังโทรศัพท์ รวมถึงจารกรรมข้อมูลจากระบบจัดเก็บเอกสาร พร้อมบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านอีเมลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำสถานเอกอัครราชทูต 38 แห่งในกรุงวอชิงตัน ซึ่งประกอบไปด้วยฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก และอินเดีย เมื่อช่วงปี 2553 ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนทั้งโลก เป็นเรื่องควรแก่การประณามอย่างยิ่ง และนั่นทำให้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน กลายบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังต้องการตัวอย่างยิ่งในฐานะคนทรยศ ขณะที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชนยกให้เขาเป็นวีรบุรุษ
ดีพ โทรท์ (Deep Throat) แห่งคดีวอเตอร์เกต หรือชื่อจริงคือ มาร์ก เฟลท (Mark Felt) รองผู้อำนวยการเอฟบีไอ เป็นผู้ที่เผยข้อมูลลับให้แก่ 2 นักข่าววอชิงตันโพสต์ คือ บ็อบ วู้ดวาร์ด (Bob Woodward) และ คาร์ล เบิร์นสเตน (Carl Bernstein) จนนำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ All the President's Men ในปี ค.ศ. 1974 และยังเป็นแหล่งข่าวคนสำคัญเบื้องหลังบทความอื้อฉาวต่าง ๆ ที่บีบให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออก และนำไปสู่การจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายราย สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก
เดเนียล เอลลีสเบิร์ก (Daniel Ellsberg) นักวิเคราะห์ทางทหาร ผู้แอบเอา Pentagon Papers ซึ่งเป็นเอกสารลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบในเวียดนาม มาให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ตีพิมพ์ เพื่อเปิดโปงว่า ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน และริชาร์ด นิกสัน ได้หลอกลวงชาวอเมริกันมาตลอดว่า ทหารสหรัฐฯ กำลังจะได้ชัยชนะในการสู้รบที่สงครามเวียดนาม ทั้งที่เอกสารทางการนี้ได้ยืนยันว่าสหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้
เคซี่ย์ รูด์ (Casey Ruud) ผู้ตรวจสอบรับประกันคุณภาพ ได้เสี่ยงต่ออาชีพการงานของด้วยด้วยการเปิดโปงเรื่องของพลูโตเนียมที่หายไป ต่อสภาคองเกรส ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนงานและสาธารณชนที่อยู่รอบบริเวณแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสีแฮนฟอร์ด (Hanford Nuclear Reservation) ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ และการเปิดโปงของเขานี่เอง ที่นำไปสู่การหยุดชะงักของการผลิตพลูโตเนียมในสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนสิ้นสุดยุคสงครามเย็น
แฟรงก์ แคมป์ส (Frank Camps) วิศวกรออกแบบอาวุโสจากบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ได้ออกมาเตือนบริษัทว่าการออกแบบของรถรุ่น Pinto มีความไม่ปลอดภัยในปี ค.ศ. 1977 ก่อนที่ต่อมารถรุ่นนี้จะถูกถอนออกจากตลาดหลังจากเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากซึ่งทำให้ผู้ขับขี่เกิดแผลไฟไหม้จากการระเบิด เนื่องจากการออกแบบถังแก๊สที่ไม่ปลอดภัยของรถรุ่นนี้
มาร์ก ไวทาค์ซ (Mark Whitacre) 1995 ผู้บริการในเครือ Archer Daniels Midland ได้ออกมาเปิดโปงนายจ้างของตัวเองและกลายมาเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่เอฟบีไอ ในการสืบสวนการกำหนดราคาของบริษัท อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขาให้ข้อมูลแก่เอฟบีไอเขาก็ได้ทำการยักยอกเงินจากบริษัทด้วย เป็นผลให้เขาถูกจับและจำคุกนาน 8 ปี
แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างเพียงเศษเสี้ยวจากกลุ่มคนเป่านกหวีด ที่ออกมาเป่านกหวีดสู่สังคมเพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์ส่วนมากของคนในสังคม แต่เราก็คงพอจะเห็นบทบาทหน้าที่และผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมต่อการเป่านกหวีดของพวกเขาอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาทำย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออาชีพการงานและตำแหน่งฐานะของพวกเขาในกลุ่มองค์กรที่สังกัดอยู่ ดังนั้นจึงได้มีองค์กรต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์และให้ความคุ้มครองแก่เหล่าคนเป่านกหวีดขึ้น โดยองค์กรแรกที่ถูกตั้งขึ้นก็คือ Government Accountability Project ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2520 เพื่อเริ่มภารกิจในการคุ้มครองลูกจ้างหน่วยงานรัฐและเอกชนผู้ที่มีจิตสำนึก และออกมาเป่านกหวีดเพื่อเปิดโปงการกระทำผิดขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ