x close

เจาะข่าวเด่น อ.สุขุม นวลสกุล วิพากษ์การเมือง หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

สุขุม นวลสกุล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ NewsThai19 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          อาจารย์สุขุม นวลสกุล วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมที่มา ส.ว. ขัดต่อระบอบการปกครอง ในรายการเจาะข่าวเด่น เชื่อ สถานการณ์เบาลง ขณะที่ม็อบราชดำเนินต้องกำลังหาทางลง

          สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงมาหลายสัปดาห์เริ่มผ่อนคลายได้อีกหนึ่งเปาะ เมื่อในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.นั้น ถือเป็นการกระทำที่มิชอบตามกฎหมาย เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เพราะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา ขณะที่กรณีเสียบบัตรแทนกัน และไม่เปิดให้อภิปรายนั้น ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 ถือว่าขัดแย้งต่อหลักการรัฐธรรมนูญนั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีผลให้เกิดการยุบพรรคการเมือง

          คำตัดสินดังกล่าวที่ออกมา ทำให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศยุติการชุมนุม ขณะที่กลุ่มมวลชนที่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ชุมนุมกันอยู่ถนนราชดำเนิน ก็ยังคงปักหลักอยู่ถนนราชดำเนิน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิเคราะห์กันว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ และสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้น หรือเลวร้ายลงอย่างไร

          เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ในรายการเจาะข่าวเด่น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า จากคำตัดสินของศาลที่ระบุว่าการแก้ที่มาของ ส.ว. ครั้งนี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แสดงให้เห็นว่า ศาลได้กำหนดรูปแบบการปกครองที่ละเมิดมิได้มาแล้ว คือต้องมี ส.ว. ทั้งที่มาจากการสรรหา และเลือกตั้ง ถึงจะเป็นระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขอีกได้แล้ว ยกเว้นถ้ามีการเปลี่ยนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมาตรฐานในการตัดสิน

         อาจารย์สุขุม ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่เหมือนศาลอื่น ๆ และตนก็พูดมานานแล้วว่าในคดีที่เหมือนกัน ถ้าคนละเวลา ศาลก็อาจตัดสินไม่เหมือนกันได้ ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ขอย้อนไปถึงตอนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็มีการแก้ไขเรื่องที่มา ส.ส. แต่ตอนนั้นก็ไม่เป็นปัญหา

          "แต่วันนี้ที่มา ส.ว. ที่มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา กลับมีปัญหา เพราะศาลไปนิยามคำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึงต้องมีวุฒิสภาแบบนี้ โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไปแก้จุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 จริง ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลมาวินิจฉัยแบบนี้ แต่ผมก็มองว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจมาจากประชาชน ตราบใดถ้าการแก้ไขทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจมากขึ้น มันก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น การที่ ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา มันก็เหมือนเป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่งในความรู้สึก ถ้า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งหมด ผมถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตย"

          เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ ปี 50 อาจารย์สุขุม บอกว่า ในตอนที่ทำประชามตินั้น คนทำก็บอกให้รับร่างไปก่อน แล้วค่อยมาแก้กันทีหลังรัฐประหาร แต่พอมาแก้ตามบทบัญญัติไว้ กลับบอกว่าแก้รูปแบบไม่ได้ กำหนดไว้แล้วว่าเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น

          ทั้งนี้ หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะไปยื่นคำร้องขอให้ถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ที่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องปมที่มา ส.ว. เช่นเดียวกับ นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.เลือกตั้ง ที่ออกมาเรียกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะเคยพยายามยับยั้งไม่ให้ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว แต่นายกฯ กลับนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่ฟังคำทัดทาน

          เรื่องนี้ อาจารย์สุขุม มองว่า นี่คือเรื่องการเมืองล้วน ๆ โดยที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้สำเร็จไปเสียทุกครั้ง และถึงจะแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยแก้ แต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ส่วนที่ว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะกระบวนการมาอย่างนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน ดังนั้น นายกฯ จำเป็นต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ การที่บอกจะให้นายกฯ รับผิดชอบ ตนมองว่าเป็นการพยายามสร้างเหตุผลทางการเมืองขึ้นมา

          ส่วนสถานการณ์การชุมนุมที่ในขณะนี้มีทั้งคนเสื้อแดง และเวทีราชดำเนินนั้น หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยออกมา อาจารย์สุขุม มองว่า คนที่ผิดหวังจากการแก้รัฐธรรมนูญจะรู้สึกกดดัน ในขั้นต่อไปอาจมีความพยายามเปลี่ยนแปลงศาลรัฐธรรมนูญ โดยฟ้องว่าศาลปฏิบัติเกินหน้าที่ก็เป็นได้ แต่ถึงจะไม่พอใจก็จะไม่ก่อความรุนแรงขึ้นมา เพราะฝ่ายตัวเองเป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ ถ้าทำความวุ่นวายขึ้นมาจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

          ขณะที่เวทีราชดำเนิน อาจารย์สุขุม กลับมองว่า เวทีนี้น่าห่วง โดยก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่า วันที่ 20 จะเป็นวันพีค แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ และที่เขาประกาศยกระดับการชุมนุมไปถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ก็น่าวิเคราะห์ว่าทำไมต้องเป็นวันที่ 24 อาจเป็นเพราะตอนแรกเขาจะรอให้เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน พอลงมติ เสียงฝ่ายค้านในสภาจะแพ้ เขาจะสามารถนำไปต่อยอดได้ว่า ดูสิขนาดอภิปรายขนาดชัดเจนขนาดนี้แล้ว เสียงข้างมากก็ยังลากให้รัฐบาลชนะ จนทำให้ไปพีควันที่ 24 แต่แผนนี้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะรัฐบาลแก้เกมกลับโดยไม่ยอมให้บรรจุญัตติอภิปรายในสัปดาห์นี้ และที่ศาลตัดสินมาก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรง

         รศ.สุขุม บอกว่า วันนี้ยังรู้สึกสงสัยว่า ยกสุดท้ายของเวทีราชดำเนินจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ประกาศชัดเจน ตนยังกลัวว่าจะไปเอารูปแบบสภาแต่งตั้งมา ส่วนสภานิติบัญญัติที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ บอกจะแต่งตั้งขึ้นมานั้น ตนยังมองไม่เห็นว่าจะเอาอำนาจอะไรไปกำหนดตรงนั้น

          "เอาอำนาจของคนในที่ชุมนุมเป็นแสนเป็นล้านตั้งขึ้นมาหรืออย่างไร ใครจะไปยอมรับ คงไม่ถึงจุดนั้น การจะไปสู่จุดนั้นได้ ปกติต้องไปถึงได้ด้วยอำนาจพิเศษ คือ ยึดอำนาจปฏิวัติอย่างเดียว แต่โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ได้เปิดช่องให้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงยังไม่รู้ว่าที่จะประกาศวันที่ 24 พฤศจิกายนคืออะไร"

          เมื่อถามว่า คิดว่าการเมืองที่เผชิญหน้ากันอยู่ในตอนนี้จะจบลงอย่างไร รศ.สุขุม เชื่อว่า ถ้าคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ก็แสดงว่าเขาจะไปหาช่องทางเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญในช่องทางอื่น ๆ เช่นไปฟ้องร้อง ส่วนม็อบราชดำเนิน อาจจะประกาศว่า พอล่ารายชื่อคนได้ครบในการยื่นถอดถอน ส.ส. แล้ว ก็คงต้องหยุดกันไป เพราะวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ใกล้มาแล้ว คือต้องเลือกภายใน 45 วัน ทั้งสองฝ่ายต้องไปเตรียมเลือกตั้งอีก

          การที่นายสุเทพประกาศว่า วันที่ 24 นี้จะขอมติจากประชาชน และรัฐบาลอยู่ได้ถึงแค่สิ้นเดือนนี้นั้น รศ.สุขุม มองว่า เป็นสิ่งที่นายสุเทพตั้งเป้าหมายไว้ แต่คำถามก็คือคนจะมาถึงล้านตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ปัจจุบันนี้ยอมรับว่าการล่ารายชื่อได้ผล แต่ในวันนั้นจะมากันอย่างไรล้านคน การตั้งเป้าหมายแบบนั้นเป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อหาทางลงหรือไม่ เหมือนที่ เสธ.อ้าย เคยตั้งเป้าจำนวนผู้ชุมนุมเพื่อหาทางลงเช่นกัน

         หลังจากวันนี้ไป อาจารย์สุขุม เชื่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะต้องเบาลง เพราะฝ่ายที่ผิดหวังเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบ แต่สิ่งที่ตนวิตกก็คือ กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอยู่ขณะนี้จะลงอย่างไรถึงจะสง่างาม ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามีประเด็นอะไรให้ขึ้นมาใหม่แล้ว

         ขณะที่ ส.ว. 312 คน ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปมที่มา ส.ว. นั้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ส่วนนายกฯ ไม่ต้องไปขอพระราชทานคืน แต่อาจจะรอจนถึง 90 วัน ค่อยว่ากันใหม่ ถ้า 90 วันไม่กลับมาแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ก็ตกไป

         แต่ถ้าถามว่าหลังจากนี้จะมีอะไรรุนแรงขึ้นหรือไม่ อาจารย์สุขุม บอกว่า ไม่มั่นใจในเรื่องนี้ เพราะแม้ความรุนแรงจะไม่มี แต่ความขัดแย้งยังอยู่ แล้วเรื่องต่าง ๆ ที่เข้าคิวรออยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญหาความแน่นอนไม่ได้ในการตัดสิน ไม่รู้คดีไหนจะช็อตขึ้นมา จากนี้เป็นต้นไปรัฐบาลต้องอยู่อย่างตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ไม่รู้คดีไหนจะโดนบ้าง เพราะตอนนี้มีคดีที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกเพียบ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะข่าวเด่น อ.สุขุม นวลสกุล วิพากษ์การเมือง หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08:36:24 99,162 อ่าน
TOP