x close

วิกฤติคนชราต่างแดน ลูกหลานแห่ส่งมาอยู่เนิร์สซิ่งโฮมเมืองไทย


วิกฤติคนชราต่างแดน ลูกหลานแห่ส่งมาอยู่เนิร์สซิ่งโฮมเมืองไทย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            สำหรับบ้านเราแล้ว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่ชราย่อมเป็นสิ่งพึงปฏิบัติของลูกหลาน แต่สำหรับสังคมต่างประเทศทางแถบยุโรปนั้น สถานที่สำหรับคนชรา ก็คือบ้านพักคนชรา หรือที่เรียกว่า เนิร์สซิ่งโฮม (nursing home) อันเป็นสถานที่สำหรับใช้ชีวิตในบั้นปลายสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ลูก ๆ เลือกให้ และจ่ายค่าบริการให้เป็นรายเดือน โดยตามบริบทสังคมของเขาแล้ว การให้พ่อแม่มาอยู่ที่บ้านพักคนชรานั้น ก็ไม่นับเป็นการทอดทิ้งหรือเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่บ้านเรามักมองกันว่าเป็นเช่นนั้น ลูก ๆ เองก็คัดสรรหาเนิร์สซิ่งโฮมที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ตัวเองเช่นกัน และนั่นทำให้ชาวยุโรปเริ่มหันมาส่งพ่อแม่ที่ชราของตัวเองมาเนิร์สซิ่งโฮม ที่เมืองไทย ด้วยเหตุผลด้านราคาที่ย่อมเยาว์กว่าในบ้านตัวเอง แต่คุณภาพการดูแลเอาใจใส่ก็ยังดีเยี่ยมน่าพึงพอใจ

            ตามรายงานในคอลัมน์จากเว็บไซต์บีบีซี ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2014 ระบุว่า นางซีบิลลี่ วีดเมอร์ ชาวสวิส ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจส่งมารดาวัย 91 ปี ของเธอ มาพำนักอยู่ที่เนิร์สซิ่งโฮมแห่งหนึ่ง ซึ่งบริหารโดยชาวสวิสในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ 4 ปีครึ่งแล้ว สถานที่แห่งนี้มีทั้งผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ทั้งจากสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมัน อยู่ร่วมกันอีกกว่าสิบคน

            สิ่งที่ทำให้นางวีดเมอร์ตัดสินใจส่งมารดาของเธอข้ามน้ำข้ามทะเล มายังบ้านพักคนชราที่อยู่ห่างกันข้ามทวีปเช่นนี้ ก็เป็นเพราะคุณภาพการดูแลเอาใจใส่ที่เรียกได้ว่าใส่ใจทุกรายละเอียด ยิ่งกับมารดาของเธอที่เป็นโรคสมองเสื่อมด้วยแล้ว ก็ยิ่งได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษมากขึ้น อย่างที่นายมาร์ติน วูดทิล ผู้จัดการเนิร์สซิ่งโฮมแห่งนี้ กล่าวว่า ผู้มาเข้าพักที่นี่สามารถมีผู้ดูแลได้มากถึง 3-4 คน และการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดชนิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้เลยในประเทศแถบยุโรป ซึ่งเป็นจุดอ่อนมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่คนไทยเคารพให้เกียรติ และดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุกันจนเป็นวัฒนธรรมฝังอยู่ในสายเลือดแล้ว

            นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอีกก็คือ ราคาของการใช้บริการเนิร์สซิ่งโฮมในประเทศไทยที่ถูกกว่าอยู่มาก โดยในสวิตเซอร์แลนด์นั้นจะต้องจ่ายราว 5,000-10,000 เหรียญ/เดือน (ประมาณ 150,000-300,000 บาท/เดือน) ในอังกฤษราว 3,600 เหรียญ/เดือน (ประมาณ 108,000 บาท/เดือน) แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น ค่าการบริการอย่างเอาใจใส่ใกล้ชิด อยู่ที่เพียง 3,000 เหรียญ/เดือน (ประมาณ 90,000 บาท/เดือน) เท่านั้น ด้วยเหตุประกอบกันสองประการนี้ ทำให้ชาวยุโรป รวมทั้งตัวนางวีดเมอร์เอง ตัดสินใจที่จะส่งบุพการีของตนข้ามแดนมาไกล เพื่อรับการดููแลเอาใจใส่ที่เนิร์สซิ่งโฮมในประเทศไทย

            ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ภายในปี 2050 นี้ ประชากรโลกที่มีอายุยืนเกิน 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มมากกว่าปัจจุบันถึง 4 เท่า กลายเป็น 395 ล้านคน โดย 1 ใน 6 ในกลุ่มนี้ จะมีปัญหาโรคสมองเสื่อมเข้ามาร่วมด้วย จึงอาจไม่น่าแปลกใจที่บริการเนิร์สซิ่งโฮม จะมียอดความต้องการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่บ้านเองตลอดเวลา อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน

            แต่อย่างไรก็ดี นายมาร์คัว ลีเซอร์ จากสมาคมผู้ให้บริการเนิร์สซิ่งโฮม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า การตัดสินใจส่งพ่อแม่ของตัวเองไปอยู่ภายใต้การดูแลของเนิร์สซิ่งโฮมต่างแดนนั้น ไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะอยู่กันแสนห่างไกลแล้ว ก็ยังมีอุปสรรคทางภาษาด้วย อันหมายความว่าผู้สูงอายุอาจรู้สึกถูกตัดขาดจากครอบครัวโดยสิ้นเชิง และส่วนตัวเขาเอง คงไม่เลือกเนิร์สซิ่งโฮมต่างแดนไว้ให้สำหรับพ่อและแม่ของตัวเองเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่าราคาไม่ใช่เหตุผลหลักในการตัดสินใจว่าจะดูแลพ่อแม่อย่างไร

            แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า ในสภาพสังคมปัจจุบัน คนวัยกลางคนอายุ 40-50 ปี จำนวนมาก ประสบภาวะวิกฤติเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการดูแลลูก และการดูแลพ่อแม่ ยิ่งถ้ามีบุพการีที่ป่วยต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องนำเรื่องราคามาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาร่วมด้วย ฉะนั้นเราคงจะได้เห็นคนชราต่างชาติอย่างมารดาของนางวีดเมอร์ เพิ่มขึ้นในบ้านเราเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิกฤติคนชราต่างแดน ลูกหลานแห่ส่งมาอยู่เนิร์สซิ่งโฮมเมืองไทย โพสต์เมื่อ 6 มกราคม 2557 เวลา 13:19:33 19,753 อ่าน
TOP