x close

เปิดประกาศ 12 ข้อ รัฐมอบอำนาจ ศรส. ทั้งจับ-ควบคุม-สอบสวน

เปิดประกาศ 12 ข้อ รัฐมอบอำนาจ ศรส. ทั้งจับ-ควบคุม-สอบสวน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

           เปิดประกาศรัฐมอบอำนาจให้ ศรส. 12 ข้อ ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งจับ-ควบคุม-สอบสวน ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม-22 มีนาคม 2557 เป็นเวลา 60 วัน

           หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ทาง ครม. มีมติเห็นชอบประกาศและบังคับใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม-22 มีนาคม 2557 เป็นเวลา 60 วัน โดยทางรัฐบาลได้มอบอำนาจให้กับศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 12 ข้อ ดังนี้..


           ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ



           วันที่ 21 มกราคม 2557 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 13 ง ได้ลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

           ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
 

           โดยที่ปรากฏว่าได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสาร ด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน คำสั่งและหมายของศาล ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปิดการจราจรในถนนสำคัญ บุกรุกและยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ไล่ข้าราชการพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากสถานที่ราชการ ตัดน้ำตัดไฟ ปิดระบบฐานข้อมูล เอาโซ่คล้องประตูเพื่อไม่ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานได้ทำให้การบริการของรัฐให้แก่ประชาชน ไม่ว่าการจดทะเบียนใบอนุญาต หรือการบริการขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก่อให้เกิดความวุ่นวายเกิดความล่าช้า และสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีความพยายามจะเข้าควบคุมตัวผู้บริหารหรือบุคคลสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินตลอดจนมีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายมีการกระทำการในลักษณะอันเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะจัดให้มีขึ้นอันกระทบต่ออำนาจอธิปไตยและสิทธิของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย

           ซึ่งมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คุ้มครองและผูกพันรัฐสภา ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่องเพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะได้มีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไข ระงับ ยับยั้ง การกระทำดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและกระบวนการใช้กฎหมายยิ่งขึ้นเพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศและเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์

           การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายกรณีเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการการเลือกตั้งและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ในการนี้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในการประชุมวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 ได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว

           โดยให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

           ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557


ประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


           ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 แล้วนั้น

           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

           ข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง และต้องปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

           ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

           ข้อ 3 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน

           ข้อ 4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

           ข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม

           ข้อ 6 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ  เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

           ข้อ 7 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ

           ข้อ 8 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

           ข้อ 9 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนด

           ข้อ 10 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใด ๆ ที่เป็นการปิดการจราจรปิดเส้นทางคมนาคมหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในทุกเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

           ข้อ 11 ให้ข้าราชการทหาร ตามที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 2/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

           ข้อ 12 ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้ใช้มาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ตามที่เห็นสมควร


           ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

           ประกาศ ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557
          
           ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
           นายกรัฐมนตรี



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประกาศ 12 ข้อ รัฐมอบอำนาจ ศรส. ทั้งจับ-ควบคุม-สอบสวน อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2557 เวลา 15:18:38 21,593 อ่าน
TOP