x close

ศาลแพ่งไม่คุ้มครองชั่วคราวรัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ศาลนัดฟังคำสั่งคดี นายกฯ กับพวก ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิชอบ วันนี้ (31 ม.ค.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ศาลแพ่งไม่คุ้มครองชั่วคราว รัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ ยังไม่เห็นสัญญาณการสลายการชุมนุม แต่สั่งคุ้มครองห้ามรัฐอายัดอาหารและยา

          วันนี้ (31 มกราคม 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นาถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่ารัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมิชอบ ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วครามตามคำร้องของโจทก์ เนื่องจากไม่มีสัญญาณการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ชุมนุมในประเด็นที่ว่า ห้ามศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ยึดและอายัดของอุปโภคบริโภคเกี่ยวกับเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ของผู้ชุมนุมจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง

ศาลนัดฟังคำสั่งคดี นายกฯ กับพวก ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันนี้ (31 ม.ค.)

          ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งคดีที่ ถาวร เสนเนียม ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมพวก ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมิชอบ ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ในวันนี้ (31 ม.ค. 57) เวลา 15 .00 น.

          เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 เวลา 13.00 น. ศาลแพ่งได้นัดเบิกไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังจากที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง กรณี นายถาวร เสนเนียม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ยื่นฟ้องบุคคล 3 ราย  ประกอบด้วย

           น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

           ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.)

           พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรอง ผอ.ศรส.

          สำหรับการยื่นฟ้องในครั้งนี้ คือ การขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม และขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยนายถาวร และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ขึ้นเบิกความต่อศาล ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน ในวันนี้ (31 มกราคม 2557) เวลา 15.00 น.

          ส่วนการเบิกความนั้น นายถาวร ได้ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ห้ามเข้าสถานที่ราชการ ห้ามสัญจรบนถนน 20 สาย ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และกรณียื่นขอออกหมายจับแกนนำ กปปส. ถึง 3 ครั้ง โดยหลังจากมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการจับกุม

          นอกจากนี้ ศรส. ยังได้วางแผนใช้กองร้อยปราบจลาจลกว่า 16,000 นาย ที่มีการติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุม ทั้งที่ขณะนี้ตามสถานที่ชุมนุมก็มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมจะทำให้เกิดความเสียหายและทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายได้

          ด้าน นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เบิกความว่า จากการติดตามข่าวสารตลอดเวลาเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีเหตุรุนแรงพอที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเน้นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลักไม่ได้มุ่งระงับเหตุภายนอกแต่อย่างใด




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลแพ่งไม่คุ้มครองชั่วคราวรัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2557 เวลา 17:12:02 58,005 อ่าน
TOP