x close

บันทึกเหตุการณ์สำคัญ กับการต่อสู้ 100 วัน ของม็อบ กปปส.





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

          ย้อนเส้นทางการชุมนุมใหญ่ของม็อบ กปปส. นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในเวลา 100 วัน กับการยกระดับภารกิจจากคัดค้านนิรโทษกรรมเป็นขจัดระบอบทักษิณ เพื่อปฏิรูปประเทศไทย

          คงไม่มีใครคาดคิดว่า การประกาศตั้งเวทีชุมนุมของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เวทีสามเสน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งจากจุดเริ่มต้นในวันนั้นมาถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ก็เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อครบ 100 วันพอดิบพอดี

          เส้นทางการต่อสู้ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากแล้วว่า "ลุงกำนัน" ในตลอดเวลา 100 วันที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้น อันจะเรียกว่าเป็น "ปรากฏการณ์" ก็ว่าได้ ซึ่ง สำนักข่าวอิศรา ก็ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นกับ "ม็อบนกหวีด" เอาไว้ดังต่อไปนี้

  7 กุมภาพันธ์ 2557

          สุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนจากเวทีสีลม เดินขบวนไปตามเส้นทางถนนสีลม เจริญกรุง เพื่อเรี่ยไรเงินช่วยเหลือชาวนา หลังจากชาวนาจำนวนมากออกมารวมตัวกันปิดถนน เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว

  5 กุมภาพันธ์ 2557

          ศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 19 คน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีคำสั่งให้มารายงานตัวภายใน 48 ชั่วโมง แต่ภายหลัง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. แถลงว่า แกนนำทั้ง 19 คน จะยังไม่มอบตัวในช่วงนี้ เพราะติดภารกิจดูแลการชุมนุม พร้อมยืนยันว่าจะไม่หนี

  4 กุมภาพันธ์ 2557

          ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย 5 ปี เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุให้วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

  3 กุมภาพันธ์ 2557

          กปปส. ประกาศยุบเวทีห้าแยกลาดพร้าว และเวทีอนุสาวรีย์ชัย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม หลังเกิดเหตุป่วนที่สองจุดนี้บ่อยครั้ง ทำให้เวทีปราศรัยของ กปปส. เหลืออยู่เพียง 5 จุด

  2 กุมภาพันธ์ 2557

          เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งภาพรวมผ่านไปได้โดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่ทว่า บางเขตในกรุงเทพมหานคร ระยอง และหลายเขตในพื้นที่ภาคใต้ ไม่สามารถเปิดลงคะแนนได้

  1 กุมภาพันธ์ 2557

          ในช่วงเย็นวันนี้ ได้เกิดเหตุปะทะขึ้นที่แยกหลักสี่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย อย่างไรก็ตาม มีสื่อมวลชนหลายสำนักที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้ถ่ายภาพชายชุดดำถืออาวุธสงครามเอาไว้ได้ ซึ่งทั้งฝ่าย กปปส. และฝ่ายโกตี๋ ที่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ต่างปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชายชุดดำ

  31 มกราคม 2557

          ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว กรณีรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจาก นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ยื่นคำร้องต่อศาล โดยศาลให้เหตุผลว่ายังไม่มีสัญญาณการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด

  28 มกราคม 2557

          รัฐบาล และ กกต. ได้เข้าประชุมหารือเรื่องการเลือกตั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สามารถออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่สุดท้ายแล้ว ที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการออก พ.ร.ฎ. เลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ออกไป เพราะไม่มีหลักประกันว่าหากเลื่อนออกไปแล้ว กลุ่ม กปปส. จะยอมยุติการชุมนุม

  26 มกราคม 2557


          วันเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศ แต่เกิดปัญหาขึ้นในหลายพื้นที่ เมื่อมีมวลชนเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ และได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นที่เขตบางนา เมื่อมีคนลอบยิง นายสุทิน ธราทิน แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เสียชีวิต ขณะอยู่บนรถปราศรัย

  23 มกราคม 2557

          ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8-0 ให้ออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ โดยให้นายกฯ ประชุมหารือกับ กกต. ต่อไป





  22 มกราคม 2557

          คณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเวลา 60 วัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มกราคม-22 มีนาคม 2557 พร้อมกับตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ขึ้น มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการ

  19 มกราคม 2557

          เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่เวที กปปส. อนุสาวรีย์ชัย ใกล้เต็นท์สื่อมวลชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเผยภาพมือปาระเบิดที่กล้องวงจรปิดบันทึกไว้ได้

  18 มกราคม 2557

          สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุม หลังเกิดเหตุระเบิดที่บรรทัดทอง โดยประกาศให้มวลชนระดมพลไปปิดล้อมสถานที่ราชการในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มจากภาคใต้

  17 มกราคม 2557

          ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนเคลื่อนขบวนผ่านไปยังถนนบรรทัดทอง ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลัง ทหารได้บุกค้นตึกร้างที่มีคนระบุว่าเห็นคนร้ายปาระเบิดลงมาจากตึกนั้น และตรวจพบอาวุธปืนจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในตึก ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแถลงข่าวว่า ปืนที่พบเป็นบีบีกัน ไม่ใช่อาวุธปืนจริง และในวันเดียวกันนั้นเอง ผู้บาดเจ็บ 1 ราย คือ นายประคอง ชูจันทร์ ก็ได้เสียชีวิตลง




  13 มกราคม 2557

          กปปส. นัดระดมพลปิดกรุงเทพฯ หรือชัตดาวน์กรุงเทพฯ โดยตั้งเวทีหลักใน 7 จุดสำคัญ คือ ราชประสงค์ ปทุมวัน สวนลุมพินี สีลม แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อโศก พร้อมกับยุบเวทีราชดำเนินทิ้ง

  29 ธันวาคม 2556

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นเวทีราชดำเนิน ประกาศมีแผนชัตดาวน์กรุงเทพฯ หลังปีใหม่ พร้อมระดมพล

  27 ธันวาคม 2556

          เกิดความวุ่นวายในการรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ เมื่อมวลชนได้รวมตัวกันปิดทางเข้าออกสถานที่รับสมัคร เป็นเหตุให้ 28 เขตเลือกตั้งในภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. แม้แต่คนเดียว ขณะที่ กกต. หลายเขต ประกาศลาออก เพราะได้รับแรงกดดันจากทั้งสองฝ่าย

  26 ธันวาคม 2556

          กกต. เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง แต่เกิดความวุ่นวายขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาปิดล้อมสถานที่ตั้งแต่กลางดึกพยายามสกัดกั้นไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปจับสลากหมายเลขลงเลือกตั้ง ก่อนจะเกิดเหตุปะทะกันขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ และนายวสุ สุฉันทบุตร

          จากนั้น กกต. ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปก่อน เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย

  25 ธันวาคม 2556

          นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกทั้งหมด 499 คน โดยจะคัดสรรจากตัวแทนประชาชนเข้าร่วม





  22 ธันวาคม 2556

          กปปส. นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง โดยประกาศตั้งเวทีใหญ่ 5 จุด คือ อนุสาวรีย์ชัย แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน แยกอโศก และสวนลุมพินี เพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก ตั้งสภาปฏิรูปขึ้นก่อนเลือกตั้ง

  21 ธันวาคม 2556


          พรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมองว่าไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองได้

  18 ธันวาคม 2556

          กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งอายัดบัญชีแกนนำ กปปส. รวม 18 คน พร้อมเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาที่ว่าร่วมกันก่อกบฏ





  9 ธันวาคม 2556

          กปปส. นัดชุมนุมใหญ่ เคลื่อนขบวนจาก 8 เส้นทาง บุกล้อมทำเนียบรัฐบาลขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และระบอบทักษิณ แต่ก่อนถึงเวลารวมพล ในตอนเช้า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมเฉพาะกิจประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม กปปส. ก็ยังคงชุมนุมต่อไป พร้อมกับยุบเวทีที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และกระทรวงการคลัง มารวมอยู่ที่ราชดำเนินเพียงจุดเดียว

  8 ธันวาคม 2556

          มติพรรคประชาธิปัตย์ให้ ส.ส. ลาออกจากตำแหน่งยกพรรค โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว 

  3 ธันวาคม 2556

          ผู้ชุมนุม กปปส. บุกทำเนียบรัฐบาลและ บช.น. อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยอมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้ามาได้โดยไม่มีการสกัดกั้นอีก และหลังจากผู้ชุมนุมเข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาล และ บช.น. ได้แล้ว ก็ได้ถอนกำลังกลับไป พร้อมกับประกาศชัยชนะ

  2 ธันวาคม 2556

          มวลชน กปปส. พยายามบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล และ บช.น. แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไว้

  1 ธันวาคม 2556


          มวลชน กปปส. พยายามบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล สตช. และ บช.น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอย่างเข้มงวดไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกเข้ามา ก่อนจะมีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และน้ำผสมสารเคมี โดยเหตุการณ์วันนี้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

          ขณะเดียวกัน แกนนำ กปปส. ก็ได้นำมวลชนบุกไปตามฟรีทีวีช่องต่าง ๆ เรียกร้องให้เสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และขอให้ถ่ายทอดสัญญาณจากบลูสกาย

          จากนั้น นายสุเทพ ได้อ่านแถลงการณ์ กปปส. ฉบับที่ 1 ประกาศให้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป เป็นวันหยุดงานทั่วประเทศ

  30 พฤศจิกายน 2556

          ระหว่างที่กลุ่ม นปช. นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ย่านรามคำแหง อยู่นั้น ด้านนอกมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ได้เกิดเหตุปะทะขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

          วันเดียวกัน กปปส. ได้บุกยึด กสท. โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าไปควบคุมระบบโทรคมนาคม





  29 พฤศจิกายน 2556

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตั้ง "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)" โดยมีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแกนนำกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) เข้าร่วม

  27 พฤศจิกายน 2556


          สุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนบุกศูนย์ราชการ และอีก 14 กระทรวง ก่อนประกาศนอนค้างคืนที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทำให้เกิดเวทีปราศรัยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 จุด คือที่ศูนย์ราชการ ทำให้ในวันนี้ มีเวทีชุมนุมทั้งหมด 3 จุด คือที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

  26 พฤศจิกายน 2556

          สภาฯ เปิดประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย เป็นวันที่ 2 ก่อนนัดลงมติ ซึ่งในที่สุดแล้ว ทั้งสองคนได้รับเสียงไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

  25 พฤศจิกายน 2556

          มวลชน กปปส. ประกาศดาวกระจาย 13 จุด คือ กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตำรวจนครบาล (บช.น.) ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานประมาณ เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ มาอยู่ข้างประชาชน

          ภายหลัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศปักหลักที่กระทรวงการคลัง เปิดเวทีปราศรัยเป็นแห่งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้สำนักงบประมาณเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณอีกต่อไป

  24 พฤศจิกายน 2556

          สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และประกาศแผนดาวกระจาย 13 จุด ในวันที่ 25 พฤศจิกายน

  20 พฤศจิกายน 2556


          ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นเสียบบัตรแทนกันที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 แต่ไม่มีความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรคเพื่อไทย

  19 พฤศจิกายน 2556


          กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน

  17 พฤศจิกายน 2556


          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศรวมพล 1 ล้านคน ล้างระบอบทักษิณ เพื่อการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน

  15 พฤศจิกายน 2556

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุมจากการต่อต้านการนิรโทษกรรมสุดซอย เป็นการขับไล่ระบอบทักษิณ พร้อมประกาศ 4 มาตรการอารยะขัดขืน โค่นระบอบทักษิณ คือ ร่วมลงชื่อถอดถอน ส.ส. ทั้ง 310 คน ที่เห็นชอบร่างนิรโทษกรรม, ให้เป่านกหวีดใส่คนที่ทำงานรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ, ร่วมกันต่อต้านสินค้าในเครือ พ.ต.ท.ทักษิณ และชวนข้าราชการหยุดงานทั้งประเทศ



  11 พฤศจิกายน 2556

          ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยกระดับการต่อสู้คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่วันเดียวกัน วุฒิสภาได้ลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังให้สถานการณ์ผ่อนคลายลง

          นอกจากนี้ ในช่วงเย็น ศาลโลกได้อ่านคำวินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเจรจาหาวิธีบริหารจัดการพื้นที่พิพาทร่วมกัน




  7 พฤศจิกายน 2556

          มติสภาฯ ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวม 6 ฉบับที่ยังไม่ได้พิจารณา ออกจากวาระการประชุม ฟากรัฐบาลได้เรียกร้องให้มวลชนยุติการชุมนุม โดยยืนยันว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสิ้นสุดแล้ว

  4 พฤศจิกายน 2556

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนเดินจากเวทีสามเสนมาสักการะศาลหลักเมือง และวัดพระแก้ว ก่อนจะประกาศยุบเวทีสามเสน แล้วย้ายมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแทน

  3 พฤศจิกายน 2556

          ตัวแทนราชสกุล เครือข่ายแพทย์ฯ กลุ่มนักธุรกิจสีลม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะที่เวทีการชุมนุมที่สามเสนประกาศยกระดับการชุมนุมเคลื่อนขบวนกดดันรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (4 พฤศจิกายน 2556)

  2 พฤศจิกายน 2556


          กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ ประกาศจุดยืนไม่เอานิรโทษกรรมสุดซอย เพราะมองว่าเป็นการทำให้ผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนพ้นผิดกลับมามีอำนาจอีก แต่ยืนยันว่าแม้จะคิดต่างกับพรรคเพื่อไทย แต่จะไม่มีวันทำลายพวกเดียวกันเองเด็ดขาด

          ขณะที่กลุ่มศิลปินดาราจำนวนมากต่างพากันเขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ซึ่งก็ทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากเขียนข้อความต่อต้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จนเต็มไทม์ไลน์ ขณะเดียวกันก็ยิ่งปลุกกระแสให้คนออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านการนิรโทษกรรมมากขึ้น

  1 พฤศจิกายน 2556


          การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระที่ 3 ลากยาวมาราธอนจากช่วงสายวันที่ 31 ตุลาคม 2556 มาถึงช่วงเช้ามืดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ก่อนที่ในเวลาประมาณ 04.00 น. สภาฯ มีมติผ่านร่างดังกล่าว และปิดประชุมทันที ท่ามกลางการวอล์กเอาต์ของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ไม่พอใจที่ถูกเบรกไม่ให้อภิปราย

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ได้เริ่มจุดกระแสให้คนที่ไม่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็น รวมทั้งออกมาร่วมชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวกันมากขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรต่าง ๆ เริ่มออกแถลงการณ์ และเขียนข้อความตำหนิรัฐบาลอย่างเจ็บแสบ

  31 ตุลาคม 2556

          นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตั้งเวทีปราศรัยที่สถานีรถไฟสามเสน ใกล้ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย โดยประกาศว่าจะเคลื่อนไหวต่อสู้ทั้งในสภาและนอกสภา จนกว่ากฎหมายฉบับนี้จะถอนออกไป





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บันทึกเหตุการณ์สำคัญ กับการต่อสู้ 100 วัน ของม็อบ กปปส. อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 11:02:12 25,319 อ่าน
TOP