x close

สมเกียรติ อ่อนวิมล อธิบายการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ กับ อหิงสา


 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก สมเกียรติ อ่อนวิมล | Somkiat Onwimon
 
            สมเกียรติ อ่อนวิมล อธิบายความหมายสัตยาเคราะห์ ปรัชญาสำคัญทางการต่อสู้ทางการเมืองของมหาตมะ คานธี ซึ่งซับซ้อนกว่าคำว่า อหิงสา
 
            เมื่อวานนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2557) เฟซบุ๊ก สมเกียรติ อ่อนวิมล | Somkiat Onwimon ของนายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง มีการเขียนข้อความในหัวข้อ คำปราศรัย เวทีราชประสงค์ เรื่อง มหาตะ คานธี กับสัตยาเคราะห์แบบอหิงสา มีใจความว่า... ทุกวันนี้คนไทยพูดถึงการต่อสู้แบบอหิงสา ซึ่งเป็นคำที่กล่าวกันมาอย่างยาวนานโดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ทั้งที่สัตยาเคราะห์ จะเป็นปรัชญาที่ลึกและซับซ้อนกว่าอหิงสามาก มีคำอธิบายคือ สัตยาเคราะห์ เป็นการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ทำให้ตัวเราได้รับความเจ็บปวด แต่คนอื่นจะไม่ทุกข์ทรมานจากการกระทำ ซึ่งการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ เป็นการต่อสู้แบบปราศจากอาวุธ และจะไม่มีวันพ่ายแพ้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการต่อสู้ของมหาตมะ คานธี ส่วนอหิงสา เป็นการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็เกิดความสูญเสียหรือการเสียชีวิตได้
 
สำหรับข้อความทั้งหมดของนายสมเกียรติ มีดังนี้
 
            มหาตะ คานธี กับ สัตยาเคราะห์ แบบ อหิงสา
            Non-Violence Resistance โดย M.K. Gandhi
 
            การชุมนุมล้มระบอบทักษิณ และขับไล่รัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ในนาม "มวลมหาประชาชนไทย" ในกรุงเทพมหานคร เป็นการต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยสมัยใหม่
 
            คณะกรรมการจัดการชุมนุมและบรรดาผู้ขึ้นเวทีปราศรัยจำนวนนับร้อยคน นอกจากจะได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ยังได้สร้างปรากฏการณ์ทางวิชาการที่น่าศึกษาอีกด้วย เพราะที่ชุมนุมได้อ้างอิงหลักปรัชญาการเมือง หลักรัฐศาสตร์ และหลักประชาธิปไตย ซึ่งปรกติจะซับซ้อนเข้าใจไม่ง่ายนักสำหรับเวทีสาธารณะขนาดมหึมาเช่นนี้ แต่ก็น่าทึ่งที่ผู้ปราศรัยหลายคนเป็นนักคิดและนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทย นอกเหนือจากอารมณ์ร่วมอุดมการณ์พื้นฐานทางการเมืองที่มุ่งต่อต้านการทุจริตคดโกงของรัฐบาล ผู้บงการเบื้องหลังนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองสังกัดพรรครัฐบาลแล้ว นักวิชาเหล่านั้นก็สามารถปราศรัยให้ความรู้ทางวิชาการได้อย่างเข้าใจง่ายและเพลิดเพลิน แม้จะผิดหลักอหิงสาอยู่บ้างตรงที่ใช้ความรุนแรงทางวจีกรรม แต่มวลมหาชนก็ได้รับอานิสงส์ความรู้ทางปรัชญารัฐศาสตร์ด้วยทุกวัน ประมวลจากการปราศรัยตั้งแต่วันแรกเริ่มมา จนถึงวันนี้
 

            ตั้งแต่การปราศรัยที่เวทีราชดำเนิน มาจนอีก 7 เวทีหลังวันที่ 13 มกราคม 2557 หรือวันปิดกรุงเทพมหานคร เป็นต้นมา หากไม่นับรวมพระพุทธเจ้า, พระศาสดาโมฮัมหมัด, และพระเยซูคริสต์  ผมสรุปได้ว่ามีนักปรัชญา นักคิดและนักปฏิบัติทางการเมืองคนสำคัญของโลก มีอิทธิพลทางความคิดต่อการจัดการมวลมหาประชาชนไทย อยู่ 8 คน คือ:
 
            1. Mahatma Gandhi
            2. Thomas Hobbes
            3. Thomas Jefferson
            4. Abraham Lincoln
            5. John Locke
            6. John Rawls
            7. Henry David Thoreau
            8. Voltaire
 
            Henry David Thoreau, John Rawls และ มหาตมะ คานธี นับว่ามีอิทธิพลมากที่สุด เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดความคิดเรื่องกระบวนการดื้อแพ่งของประชาชนผู้มีอารยธรรมซึ่งนักวิชาการสันติศึกษาในประเทศไทยเรียกว่า "อารยะขัดขืน" จากรากศัพท์เดิมของ Henry David Thoreau ว่า "Ciivil Disobedience"
 
            ซึ่งควรแปลว่า "การดื้อแพ่งแบบมีอารยะ" หรือ "อารยะดื้อแพ่ง" หรือ "อารยะขัดขืนและฝ่าฝืน" หรือ "อารยะขัดฝืน" ก็ได้ 
 
            ผมใช้คำว่า "ขบวนการดื้อแพ่ง" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ครั้งที่เริ่มเป็นอาจารย์สอนวิชาเอเชียใต้ศึกษา - การเมืองการปกครองอินเดีย - และปรัชญาอินเดีย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
            คำว่า "ดื้อแพ่ง" แปลได้ตรงตัว ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 
 
            ส่วน "civil" ก็แปลได้ตรงตัวว่า "พลเมือง/พลเรือน" ก็ได้, "ผู้มีการศึกษามีวัฒนธรรมหรือมีอารยธรรม" ก็ได้
 
            เนื่องจากเรื่องนี้แม้จะเก่านานเกือบสองร้อยปีแล้ว แต่สังคมไทยยังไม่คุ้นเคยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นิยามศัพท์จึงยังไม่ลงตัว แต่เราก็นิยมเอาคำว่า "อหิงสา" มาใช้อย่างฉาบฉวยในการต่อสู้ทางการเมืองมานานแล้ว ใช้โดยไม่รู้ความหมาย ไม่เข้าใจพลังที่แท้จริงของคำ การใช้อหิงสาเป็นอาวุธทางการเมืองในประเทศไทยจึงล้มเหลวตลอดมา
 
            การลุกขึ้นต่อสู้ล้มระบอบทักษิณโดยพลเมืองไทยตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นมา ก็ทำนองเดียวกัน มีการนำคำว่า "อหิงสา" มาใช้โดยอ้างมหาตมะ คานธี ทุกวัน แต่ไม่มีใครเข้าใจว่าคืออะไร และต้องทำอย่างไร ไม่มีการอธิบายบนเวทีปราศรัย นอกจากจะบอกว่า
 
            "เราใช้สันติวิธี...ใช้หลักอหิงสา… ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ"
 
            ประชาชนไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางปรัชญา ไม่มีประสบการณ์ความพ่ายแพ้หรือบาดเจ็บล้มตายจากอหิงสามาก่อน อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอหิงสาก็บาดเจ็บได้ ตายได้
 
            นอกจากนั้น การพูดถึงอหิงสา ก็มิได้พูดถึง "สัตยาเคราะห์" ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และในกระบวนการภาคปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนหลากหลาย
 
            ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนไทยได้ยินแต่ "อหิงสา" โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง และไม่เคยได้ยินคำว่า "สัตยาเคราะห์" จากผู้นำขบวนการต่อสู้ของประชาชน หากจะวัดผลตามปรัชญาและแนวปฏิบัติ "สัตยาเคราะห์-อหิงสา" ก็กล่าวได้ว่ามวลมหาประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่ได้ปฏิบัติครบถ้วน ส่วนผู้นำมวลชนก็เช่นกัน ไม่รู้จักอหิงสาที่แท้จริงเท่า ๆ กับมวลชน
 
            เพียงขอยืมอหิงสามาใช้ตามความสะดวกเหมาะสมทางยุทธศาสตร์เท่านั้น แถมยังประกาศใช้สัตยาเคราะห์อีกด้วยโดยไม่รู้ตัว
 
            ดังนี้แล้วท่านมหาตมะ คานธีก็คงจะบอกล่วงหน้าได้ว่ามวลมหาประชาชนไทยจะมิได้พบกับสิ่งที่ปรารถนาตามหลักทฤษฎีของมหาตมะ คานธี 
 
            หากจะได้รับชัยชนะ ท่านก็จะบอกว่า "อหิงสาและสัตยาเคราะห์ไม่เกี่ยว"
 
            ถ้าจะว่าเกี่ยว ก็เกี่ยวประเดี๋ยวเดียว …. เกี่ยวแล้วก็หลุด!

 
            การต่อสู้ของมวลมหาประชาชนหากจะได้รับชัยชนะ - ซึ่งผมเองก็มีความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายมวลมหาประชาชนผู้ชุมนุมอยู่ด้วย - ผมก็มั่นใจว่าประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะการต่อสู้กับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม โดยมีข้อมูลความจริง หรือ "สัตยา" ชัดเจน ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากชัยชนะจะต้องเป็นของประชาชน !
 
            แต่ผมก็จำต้องวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าว่าชัยชนะที่มวลมหาประชาชนจะได้นั้น จะเป็นชัยชนะทางการเมืองที่ใช้เทคนิคการต่อสู้ผสมผสาน ทั้งแบบปรัชญาการเมืองตะวันตก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาพุทธศาสนา ทั้งแบบคลาสสิก และแบบประยุกต์
 
            และที่สำคัญ จะเป็นชัยชนะที่พึ่งยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองแบบไทยร่วมสมัย ที่ทั้งรัฐบาลที่ถูกต่อต้าน และทั้งฝ่ายประชาชนที่เป็นฝ่ายต่อต้าน ต่างก็ใช้ตำราเดียวกัน คือตำรายุทธศาสตร์การเมืองแบบไทย ๆ ที่ทำอย่างไรก็ทำได้ ตามที่เห็นเหมาะสม
 
            และ ที่สำคัญคือการใช้หลักการพื้นฐานทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงจากประชาชน …..

            ……สู้กับรัฐบาลที่มิได้ยึดหลักอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากตำรารัฐศาสตร์ที่ไหนเลย

            ผู้มีอุดมการณ์ย่อมมีพลังเหนือผู้ไร้อุดมการณ์ แน่นอน

 
            ทว่าวิธีที่สังคมไทยใช้อยู่ ณ เวลานี้นั้น มหาตมะ คานธี ท่านจะเรียกว่าเป็นวิธีตะวันตกที่ใช้อหิงสาและอารยะดื้อแพ่งตามความสะดวกเท่านั้น
 
            อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าบทความต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมหาประชาชนไทย โดยเฉพาะคณะกรรมการ กปปส. ผู้นำการจัดการชุมนุม จะได้มีความรู้เพิ่มเติมในหลักการสำคัญ เพื่อจะได้นำไป "ประยุกต์" ใช้เพื่อเสริมโอกาสให้ได้รับชัยชนะเหนือรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมได้เร็วขึ้น
 
            ผมเน้นเฉพาะเรื่องอหิงสา และ สัตยาเคราะห์ ของมหาตมะ คานธี ก่อน ทั้ง ๆ ที่โดยหลักวิวัฒนาการอารยะดื้อแพ่งแล้วควรต้องเริ่มที่ต้นแบบตำรา Civil Disobedience ของ Henry David Thoreau ก่อน เพราะเป็นต้นทางความคิด และมีอิทธิพลไม่น้อยต่อชีวิตและงานของมหาตมะ คานธี และเป็นความคิดที่มีมาก่อนมหาตมะ คานธี ถึง 52 ปี ในเมื่อไม่มีใครพูดถึง Thoreau กันเลย กันผมก็ขอเก็บความรู้ไว้คนเดียวก่อน ได้จังหวะเมื่อไรจะอธิบายให้ได้นำไปคิดต่อในอนาคตอันใกล้
 
            ส่วน John Rawls และนักคิดคนอื่นก็เช่น ผมได้ฝากอาจารย์รัฐศาสตร์บางท่านไปบ้างแล้วให้ไปหาทางสอนแทรกในชั้นเรียนของนิสิตนักศึกษา หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนมัธยม เพื่อจะได้เบ่งบานทางสันติศึกษากันตั้งแต่วัยเยาว์
 
            การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย หรือในที่ไหน ๆ ในโลกเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อฉลมักจะได้โอกาสเข้ามาฉ้อฉลระดับชาติได้เสมอ คราใดที่ประชาชนขาดการศึกษาเรื่องปรัชญารัฐศาสตร์ และขาดการใส่ใจในประโยชน์ส่วนรวม หากได้เข้าใจ "อหิงสา" "สัตยาเคราะห์" และ "อารยะดื้อแพ่ง" อย่างดีแล้ว จะได้เข้าใจวิธีต่อสู้กับความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ ด้วยการใช้ความไม่รุนแรงของประชาชนพลเมืองได้
 
            ต่อไปนี้เป็นบทแปล บทความของ Bharatan Kumarappa (ภารธาน กุมารัปปะ) เขียนเมื่อปี 1950 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือของมหาตมะ คานธี ชื่อ Non-Violence Resistance พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 1951 รวมข้อเขียนบทความของมหาตมะ คานธี โดยตรง จากปี 1920 ถึง 1940 ส่วนใหญ่นำมาจากหนังสือพิมพ์ Young India ที่ท่านมหาตมะ คานธี เป็นบรรณาธิการเอง 
 
            ผมแปลบทความทั้งหมดแต่ต้นจนจบ โดยไม่มีความเห็นส่วนตัวแทรก ยกเว้นการใช้ถ้อยคำสำนวนที่ปรับให้ร่วมสมัยมากขึ้น (ข้อความในวงเล็บเพิ่มเติมโดยผมเอง)
 
            บทความนี้เป็นบทนำของหนังสือ ก่อนจะเข้าเนื้อหาโดยละเอียดในเล่ม แม้จะมิใช่ข้อความของมหาตมะ คานธี โดยตรง แต่ผมเห็นว่าเป็นบทสรุปที่ถูกต้องแม่นยำ เข้าใจง่าย สำหรับคนไทยที่อยากรู้โดยกว้าง ว่า สัตยาเคราะห์ อหิงสา และ อารยะขัดขืน นั้นเป็นอย่างไร
 
—————————————————————————————————————————
 
EDITOR’S NOTE
บันทึกบรรณาธิการ
 

            สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) หมายความตามตัวอักษรว่า "ยึดมั่นในสัตย์" ("สัตย์" แปลว่า "ความจริง" และสำหรับท่านมหาตมะ คานธี ท่านถือว่า "สัตย์" (หรือ ความจริง) คือพระเจ้า. สัตยาเคราะห์ โดยความหมายทั่วไปของคำศัพท์ หมายถึงวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้ซึ่งยึดมั่นแนบแน่นในพระเจ้า (God) และอุทิศชีวิตให้กับพระองค์ ดังนั้นนักสัตยาเคราะห์ (Satyagrahi) จึงเป็นบุคคลผู้ซึ่งนับถือบูชาพระผู้เป็นเจ้า (a man of God)
 
            บุคคลดังว่า คือผู้ซึ่งอยู่บนโลกนี้ พบว่าตัวของตนต้องเผชิญกับความชั่วร้ายที่จำต้องขัดฝืน (resist - ขัดขืนและฝ่าฝืน) เขาเจอกับความอยุติธรรม ความโหดร้ายทารุณ การเอารัดเอาเปรียบ และการกดขี่ข่มเหง เขาจำต้องต่อต้านทุกรูปแบบด้วยทุกสิ่งอย่างที่พึงมีและพึงจะทำได้
 
            ในกระบวนการต่อสู้ของเขานั้น เขาพึ่งเพียงความสัตย์ หรือพระเจ้า ;
 
            และในเมื่อความสัตย์จริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเอกภาพรวมของสรรพชีวิต การที่จะให้ได้บรรลุถึงซึ่งความสัตย์จริงนั้นก็มีหนทางเดียว คือโดยการแผ่ความรักความเมตตาแด่เหล่าผู้คนทั้งมวล โดยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง (หรือ ความไม่รุนแรง - non-violence)
 
            ดังนั้น อาวุธของนักสัตยาเคราะห์คือความไม่รุนแรง สัตยาเคราะห์ ในความหมายแคบซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไปจึงหมายความว่าเป็นการขัดฝืนความชั่วร้ายผ่านพลังแห่งจิตวิญญาณ (soul-force) หรือ ความไม่รุนแรง (non-violence)
 
            เพื่อให้มีพลังจิตวิญญาณตามประสงค์ :
 
            บุคคลจำต้องมีวินัยในตนเอง ต้องมีวินัยในการกำกับควบคุมตนเอง
            ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ยอมรับโทษทุกข์ทรมานโดยไม่หวาดหวั่นหรือเกลียดชังใคร
            รับรู้ถึงเอกภาพของมวลสิ่งมีชีวิตทั้งหมด
            มุ่งก่อประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านของตนโดยเต็มหัวใจและไม่เห็นแก่ประโยชน์ตอบแทน
 
            คำปฏิญาณตนที่ท่านมหาตมะ คานธี อธิบายขยายความต่อเหล่าสมาชิกอาศรมสัตยาเคราะห์ของท่าน ณ ริมฝั่งแม่น้ำสาบาร์มาติ [Sabarmati เป็นชื่อแม่น้ำทางภาคตะวันตกของอินเดีย ผ่านเมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) ทางเหนือของรัฐกุจจารัต (Gujarat)] ถือเป็นที่น่าสนใจตามมุมมองนี้
 
            - คำปฏิญาณที่ว่านั้นกล่าวถึงความสัตย์จริง,

            - ความไม่รุนแรง,

            - พรหมจรรย์ (Brahmacharya),

            - ความไม่กลัว,

            - การควบคุมเพดานปาก (อันเป็นส่วนอวัยวะอ่อนและแข็งที่ต่อระหว่างปากกับจมูก มีปราสาทสำหรับลิ้มรสอาหาร),

            - การไม่ยึดติดกับความเป็นเจ้าของในสรรพสิ่ง,
           
            - ไม่เป็นขโมย,
           
            - การทำงานเพื่อยังชีพ,
          
            - ความเสมอภาคกันของทุกศาสนา,
           
            - การต่อต้านการเหยียดหยามจัณฑาลชนต่ำชาติวรรณะ ,
           
            - การใช้ของที่ผลิตเองในประเทศ (Swedishi)
 
            ท่านมหาตมะ คานธี สร้างสรรค์พัฒนาลัทธิสัตยาเคราะห์ของท่านมาจากหลายแหล่งวิชาความรู้ อาจค้นเฉพาะที่สำคัญ ๆ
 
            ย้อนหลังกลับไปได้ถึงความคิดเรื่องกรรมาโยคิน จากภควคีตา (Garmayogin / Gita),

            และเทศนาบนเขาของพระเยซู (Sermon on the Mount) ก็ด้วย;

            และข้อเขียนของ Henry David Thoreau,

            John Ruskin,

            และมากเป็นพิเศษจาก Leo Tolstoy
 
            แต่ว่าการกระทำในภาคปฏิบัติของท่านในกระบวนการสังคมและการเมืองล้วนเป็นความคิดของท่านเองทั้งหมดทั้งสิ้น
 
            สัตยาเคราะห์ในความหมายแคบมีหลากหลายรูปแบบ :
 
            ในขั้นพื้นฐานสัตยาเคราะห์เป็นการเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เหตุผลและจิตสำนึก โดยที่ผู้เรียกร้องเป็นฝ่ายยอมสละตนให้เป็นผู้รับทุกข์ทรมานเสียเอง
 
            แรงจูงใจให้ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามได้เปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนแปลงตนเอง ทำให้เขากลับมาเป็นพันธมิตรและเป็นเพื่อนโดยสมัครใจอย่างเต็มใจ แนวทางนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าการเรียกร้องด้วยศีลธรรมไปยังหัวใจและจิตสำนึกนั้นในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน จะมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล มากกว่าการเรียกร้องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการข่มขู่เพื่อให้เกิดภัยอันตราย การบาดเจ็บต่อร่างกาย หรือภัยจากการใช้ความรุนแรง
 
            ในความเห็นของมหาตมะ คานธี:

            ความรุนแรงไม่มีวันที่จะเอาชนะความบาปหยาบช้าเลวร้ายใด ๆ ได้เลย;
 
            มันเพียงได้แต่กดทับเอาไว้ได้ระยะหนึ่ง แล้วบาปหยาบช้าเหล่านั้นมันก็จะผุดกลับขึ้นมาอีก คราวนี้มันจะเพิ่มพลังบาปหยาบช้าขึ้นอีกเท่าตัว
 
            ในทางตรงกันข้าม การไม่ใช้ความรุนแรง จะเป็นการหยุดบาปหยาบช้านั้นได้จบสิ้น เพราะผู้ทำบาปหยาบช้านั้นได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วโดยพลานุภาพของความไม่รุนแรง
 
            แต่การไม่ใช้ความรุนแรงที่ว่านี้ หากจะสามารถมีชัยชนะเหนือความบาปหยาบช้าได้นั้น จะต้องมิใช่การต่อสู้ต่อต้านขัดขืนแบบตั้งรับของคนอ่อนแอ (passive resistance of the weak)
 
            การไม่ใช้ความรุนแรงของนักสัตยาเคราะห์นั้นมิมีวันที่จะยอมสยบให้กับความอ่อนแอ
 
            มันคือการไม่ใช้ความรุนแรงของผู้มีความกล้าหาญ
 
            มันจะนำนักสัตยาเคราะห์ไปสู่ความตายขณะที่มีรอยยิ้มอยู่บนริมฝีปากของเขา และไร้ร่องรอยแห่งความเกลียดชังในหัวใจของเขาด้วย
 
            นักสัตยาเคราะห์จำต้องมีคุณสมบัติของคนมีวินัยก่อนที่จะมาทำสัตยาเคราะห์ได้

            ต้องมีคุณสมบัติไม่เห็นแก่ตัว และเสียสละตนโดยไม่หวั่นไหวต่อภาระหน้าที่

            นักต่อสู้ขัดฝืนแบบเพียงตั้งรับ ตรงข้ามกับแบบรุกด้วยความรุนแรง, หรือผู้ซึ่งยึดวิธีไม่ใช้ความรุนแรงเป็นแค่ "นโยบาย" นั้น ที่จริงแล้วก็มิใช่ผู้ที่นิยมความไม่รุนแรงที่แท้จริงเลย เพราะเขาถือความไม่รุนแรงเป็นเพียงนโยบาย หากมีโอกาส มีลู่ทาง เขาก็จะใช้ความรุนแรงได้ และที่เขาเป็นคนไม่ใช้ความรุนแรงอยู่นั้นก็เพราะ ณ เวลานั้น เขายังไม่มีลู่ทางหรือขีดความสามารถที่จะใช้ความรุนแรงได้เท่านั้น ดังนั้นความไม่รุนแรงแบบที่ว่านี้ถือว่ายังห่างไกลจากสัตยาเคราะห์ และยังไม่ใช่สัตยาเคราะห์แบบตั้งรับด้วยความสัตย์จริงอย่างจริงแท้เลย
 
            สัตยาเคราะห์อาจใช้รูปแบบการไม่ให้ความร่วมมือ (non-cooperation) และเมื่อถึงตอนนั้น มันต้องไม่ใช่การไม่ให้ความร่วมมือกับพวกคนบาปหยาบช้า หากแต่มันเป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับการกระทำอันเป็นบาปหยาบช้าของคนเหล่านั้นต่างหาก นี่เป็นความแตกต่างที่สำคัญ
 
            นักสัตยาเคราะห์จะยังร่วมมือกับคนบาปหยาบช้าเฉพาะในส่วนที่เป็นกิจกรรมดี เพราะนักสัตยาเคราะห์มิได้มีความเกลียดชังต่อตัวบุคคลนั้น ตรงกันข้าม นักสัตยาเคราะห์มีแต่มิตรภาพที่จะหยิบยื่นให้กับเขา ด้วยการให้ความร่วมมือกับเขา ทำเฉพาะในเรื่องที่ไม่เป็นบาปหยาบช้าเลวร้าย นักสัตยาเคราะห์ก็จะประสบความสำเร็จในการฉุดเขาให้พ้นจากการกระทำที่เป็นบาปหยาบช้าและเลวร้าย
 
            การทำสัตยาเคราะห์อาจมาในรูปแบบการประท้วงอดอาหาร เมื่อต้องทำเช่นนั้นจะต้องไม่มีการคำนึงถึงตนเองเป็นแรงผลักดันจูงใจ การประท้วงด้วยการอดอาหารจะต้องกระทำโดยการคำนึงถึงหน้าที่ของการเป็นผู้เสียสละสูงสุด และมีแต่ความรักที่จะให้แก่ฝ่ายตรงข้าม จะต้องมีเป้าประสงค์ในอันที่จะทำตนให้บริสุทธิ์ เพราะถ้าขาดขีดความสามารถในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อถือแล้ว ก็จะปรากฏเป็นจุดบกพร่องให้เห็นในตัวนักสัตยาเคราะห์เอง นักสัตยาเคราะห์จะต้องพยายามหาทางแผ่อิทธิพลเหนือฝ่ายตรงข้ามด้วยการเปลี่ยนใจเขาให้ได้ ไม่ใช่วิธีไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่มีความมุ่งมั่นอยากจะทำ
 
            ตามความคิดของท่านมหาตมะ คานธี การประท้วงด้วยการอดอาหารควรจะกระทำก็ต่อเมื่อเชื่อได้เป็นแน่แท้แล้วว่าผู้ประท้วงมีจุดยืนที่ถูกต้องชอบธรรมแท้จริง และการประท้วงวิธีอื่นทำแล้วและล้มเหลวจนหมดสิ้นวิธีประท้วงอื่นแล้ว
 
            การประท้วงด้วยการอดอาหารต้องเป็นหนทางสุดท้าย เมื่อหมดทางเลือกอื่นแล้ว  จะต้องทำโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน และต้องทำด้วยการสวดมนต์เป็นธรรมชาติเพื่อสร้างจิตให้บริสุทธิ์ และรับพลังพรจากพระผู้เป็นเจ้า
 
            สัตยาเคราะห์ในทางการเมือง มาในรูปแบบของการดื้อแพ่งไม่เชื่อฟังแบบผู้เจริญหรือผู้มีอารยะธรรม
 
            [Civil Disobedience แปลว่า "การดื้อแพ่งอย่างผู้เจริญ" หรือที่เรียกกัน ทั่วไปในประเทศไทยว่า "อารยะขัดขืน"]
 
            สัตยาเคราะห์ในรูปแบบนี้เองที่ท่าน "คานธีจี" มีชื่อเสียงโด่งดังมาก
 
            [Gandhiji เป็นคำเรียกท่านมหาตมะคานธีในแบบแผนประเพณีการแสดงความเคารพผู้อาวุโส]
 
            สัตยาเคราะห์ในรูปแบบนี้เองที่ท่านคานธีจีมีชื่อเสียงโด่งดังมาก

            มันหมายความถึงการที่มวลมหาชนกระทำกิจกรรมดื้อแพ่งสัตยาเคราะห์พร้อมกันด้วยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง เป็นการต่อต้านรัฐบาล เมื่อวิธีการต่อสู้ด้วยการเจรจาและวิธีทางรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ
 
            ที่เรียกว่า "civil" หรือ "อารยะ" นั้นก็เพราะเป็นการแสดงการขัดขืนและฝ่าฝืนแบบไม่รุนแรงโดยประชาชนพลเมืองผู้ซึ่งในยามปรกติเป็นผู้เคารพกฎหมายเสมอมา;
 
            และด้วยอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่ากฎหมายที่มวลมหาประชาชนขัดฝืน นั้นมิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม แต่เป็นกฎหมายเฉพาะที่เป็นอันตรายเสียหายต่อประชาชนเท่านั้น มันเป็น "อารยะ" ด้วยเพราะเหล่ามวลมหาประชาชนที่ประท้วงโดยการขัดฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น จะต้องปฏิบัติตนอย่างผู้มีอารยธรรม มีความปราถนาดีและปฏิบัติแบบนุ่มนวลต่อผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย
 
            นักอารยะขัดขืนควรจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความอับอายด้วยซ้ำไป … ถ้าเป็นไปได้
 
            ท่าน "คานธีจี" บริหารจัดการขบวนการสัตยาเคราะห์เป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ต่อต้านกฎหมายอันน่าอับอายขายหน้าหลายฉบับ ที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ใช้กดขี่เอาเปรียบชุมชนชาวอินเดียในประเทศนั้น จากประสบการณ์นั้นท่านก็ได้นำมาใช้บริหารจัดการสัตยาเคราะห์จนประสบความสำเร็จมากในประเทศอินเดีย - เริ่มที่กิจกรรมสัตยาเคราะห์ของชาวนาที่เมืองจัมปารัญ (Champaran อยู่ในรัฐพิหาร), เคดา (Kheda อยู่ในรัฐกุจารัต), และ บาร์โดลี (Bardoli อยู่ในรัฐกุจารัต) สามารถปลดเปลื้องปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้านได้
 
            แต่สัตยาเคราะห์นั้นสามารถทำในระดับชาติได้
            เพื่อใช้ต่อต้านรัฐบาลของประเทศทั้งหมด
 
            ใช้สัตยาเคราะห์ต่อรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นกระทำการอันมิชอบ
            เมื่อรัฐบาลทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา สิ้นสุข เสียขวัญ  
 
            การทำสัตยาเคราะห์ระดับชาติ อาจใช้รูปแบบการไม่ให้ความร่วมมือ (non-cooperation) กับรัฐบาล ดังที่มหาตมะคานธีบริหารจัดการให้เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอินเดีย เรียกว่า Civil Disobedience Movements (ขบวนการอารยะดื้อแพ่ง หรือ อารยะขัดขืน) ระหว่างช่วงปี 1920-1922, 1930-1934, และ 1940-1944
 
การไม่ให้ความร่วมมืออาจแสดงออกโดย:

            - คืนตำแหน่งหรือเกียรติยศต่าง ๆ ที่เคยได้จากรัฐบาล

            - ลาออกจากราชการ

            - ถอนตัวออกจากงานตำรวจ งานทหาร

            - งดการเสียภาษี

            - ประท้วงคว่ำบาตรศาลยุติธรรม 

            - ปิดโรงเรียนหรือไม่ไปโรงเรียน

            - คว่ำบาตรสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภา
 
            (เมื่อไม่ให้ความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว) ให้ก่อตั้งและบริหารจัดการสถาบันใหม่ของตนขึ้นมาแทนสถาบันหรือองค์กรที่ประท้วงไม่ร่วมมือด้วยดังกล่าว
 
            อย่างไรก็ตาม ท่านคานธีจีก็มีความระมัดระวังมากในบางรูปแบบของกระบวนการไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนี้ เพราะอาจทำให้รัฐบาลที่โหดร้ายได้อ้างเป็นเหตุกระทำการรุนแรงต่อประชาชน
 
            ท่านมิได้ต้องการให้ประชาชนต้องเดือดร้อนทุกข์ยากมากเกินกว่าที่จำเป็นจากการกระทำของรัฐบาลผู้กดขี่
 
            กระบวนการอารยะดื้อแพ่ง หรือ อารยะขัดขืน ที่กล่าวมานี้จำต้องให้ประชาชนมีวินัย เมื่อมารวมตัวประท้วงร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ประชาชนต้องมีขีดความสามารถในการรับทุกข์ทรมานโดยไม่ตอบโต้
มวลมหาประชาชนต้องเชื่อฟังผู้นำขบวนการสัตยาเคราะห์อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุที่การมีวินัยและการเคารพเชื่อฟังทำนองนี้มิได้อาศัยกำลังบังคับ ต่างกับพวกทหาร
 
            ผู้นำขบวนการสัตยาเคราะห์จะต้องเป็นคนที่มีบุคลิกน่าเชื่อถือให้ประชาชนปฏิบัติตาม ต้องเป็นผู้ที่มีประวัติเคยทำงานเสียสละและสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะมาก่อน ประชาชนจะได้ให้ความเคารพและพร้อมที่จะเชื่อฟัง หมายความว่าคณะบุคคลที่เป็นผู้นำขบวนการสัตยาเคราะห์จะต้องเคยรับใช้ประชาชนในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สาธารณะมาแล้วหลายรูปแบบ
 
            ท่านคานธีจีจึงย้ำหนักแน่นมากในเรื่องนี้ว่าต้องถือเป็นคุณสมบัติสำคัญขั้นพื้นฐานของโครงการสร้างสรรค์ของท่านในการทำสัตยาเคราะห์
 
            ไม่เพียงแต่เท่านั้น วินัยและการทำงานเป็นกลุ่มจำจะต้องสร้างให้เกิดในหมู่ประชาชนด้วยการฝึกฝนอบรมอย่างต่อเนื่อง
 
            จะต้องสอนประชาชนให้เข้าใจในเรื่อง เช่น กระบวนการความร่วมมือ, ความสามัคคีในชุมชนที่แม้จะมีความแตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรมชาติพันธุ์, ความกล้าหาญ, การคำนึงถึงการทำประโยชน์และความดีงามเพื่อสังคมส่วนรวม, การเป็นที่พึ่งของตนเองได้, การทำให้ตัวเองมีคุณประโยชน์ต่อสังคมในหลาย ๆ ด้าน, และ ประชาชนจะต้องมีพลังเข้มแข็งทางร่างกาย พลังจิตใจ และพลังคุณธรรม 
 
            ทุกสิ่งอย่างที่กล่าวมานี้จะสามารถทำได้โดยผ่านความพยายามเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเสนอเป็นกิจกรรมนำทางโดยท่านคานธีจี  ตัวอย่างเช่น
 
            โครงการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจในหมู่บ้าน,

            การศึกษา,

            การละเลิกเครื่องดื่มสุรายาเมา,

            การเลิกแบ่งชั้นวรรณะและเลิกเหยียดหยามคนต่ำวรรณะ,

            สามัคคีภาพระหว่างคนต่างศาสนาและเผ่าพันธุ์,

            ยกระดับสตรีให้เท่าเทียมกันกับบุรุษ,

            การสาธารณสุข, ความสะอาด,

            ปรับปรุงการโภชนาการ,

            สวัสดิการเด็กและเยาวชน, ฯลฯ. 
 
            ดังนั้น :-
 
            สัตยาเคราะห์ ในด้านการเมือง จึงมิใช่เพียงแค่แผนปฏิบัติการเฉพาะกิจเฉพาะช่วงเวลา ไม่ใช่ว่าจบแล้วก็เลิกรากันไป สำเร็จตามเป้าหมายแล้วก็ไม่ต้องมาทนทำกันอีกต่อไป;
 
            สัตยาเคราะห์ คาดหวังให้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ต้องทำไปเป็นชีวิตประจำวันด้วย ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองด้วย ทำงานรอบด้านเพื่อการพัฒนาตัวบุคคลนั้น ๆ เอง ตั้งแต่แรกเกิดนอนเปล ไปจนถึงเวลาลงหลุมฝังศพ
 
            ในเรื่องนี้ "สัตยาเคราะห์" หรือการขัดฝืนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังที่คิดโดยคานธีจี ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับพวกชาวตะวันตก (และชาวไทย) ที่เป็นนักสันติวิธีและพวกต่อต้านสงคราม นักสันติวิธีชาวตะวันตก (และชาวไทย) ที่ผ่านมามักจะทำไม่สำเร็จ เพราะเขาเหล่านั้นคิดเพียงว่าสามารถต่อต้านขัดฝืนสงครามได้ด้วยการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อและการต่อต้านโดยใช้จิตสำนึกพื้นฐาน และการจัดกระบวนวิธีตกลงรอมชอมความขัดแย้งเท่านั้น
 
            ท่านคานธีจีแสดงให้เห็นว่าถ้าจะให้การไม่ใช้ความรุนแรงสัมฤทธิ์ผล จำต้องมีความพยายามเชิงสร้างสรรค์ในทุกด้านของวิถีชีวิต ทั้งด้านส่วนตัว, สังคม, เศรษฐกิจ, และ ด้านการเมือง ทุกด้านที่ว่านี้จำต้องมีการบริหารจัดการ จัดทำรูปแบบใหม่ให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ว่าการที่จะเป็นคนรักสินติไม่ใช้ความรุนแรงได้นั้นจะต้องทำเช่นไรในชีวิตประจำวัน
 
            ให้รู้จักจัดการงานในชีวิตตนให้เกิดความร่วมมือกับผู้อื่นโดยยึดสันติวิธีเป็นพื้นฐาน แล้วจึงจะได้บังเกิดพลังเข้มแข็งพอเพียง และเกิดความเป็นผู้มีคุณค่าหลากหลายทาง ทำให้พร้อมที่จะทำกิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาขัดแย้ง
 
            ดังนั้น กระบวนการไม่ใช้ความรุนแรงในด้านการเมืองจึงมิใช่เพียงแค่เรื่องการอบรมสั่งสอน …. แต่มันคือการก่อร่างสร้างทุกสิ่งอย่าง ดุจก่อกำแพงด้วยอิฐทีละก้อน ๆ ด้วยความอดทน ขยันหมั่นเพียร  สร้างระเบียบสังคมและเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่มีความรุนแรง
 
            ทั้งหมดนี้ที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับการกำจัดความรุนแรงให้สูญสิ้นไปจากหัวใจของบุคคล ทำให้บุคคลนั้นเปลี่ยนผันไปเป็นคนใหม่ที่มีวินัยในตนเอง ท่านคานธีจีได้สร้างมรดกทางความคิดไว้ให้ในเรื่องการจัดทำรูปแบบกระบวนการและเทคนิคจำเป็นพื้นฐานในเรื่องสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) และ "การไม่ใช้ความรุนแรง" ซึ่งภาษาสันสกฤติเรียกว่า "Ahimsa" หรือ "อหิงสา"
 
—————— [จบบทแปล บทนำบรรณาธิการ] ——————
 
ท่านมวลมหาประชาชนที่รักและเคารพครับ
 
            คำว่า "สัตยาเคราะห์" เป็นคำภาษาสันสกฤต ที่เพิ่งจะเกิดเป็นคำใหม่เมื่อเมื่อประมาณ 100 ปีเศษที่แล้ว แต่มีความหมายตามหลักการต่อสู้ที่ปรากฏแต่โบราณกาลแล้ว
 
            "สัตยาเคราะห์" แปลว่า "ยึดมั่นยืนหยัดในความจริง, และพลังอันเกิดจากการยึดมั่นยืนหยัดในความจริงนั้นนั้น" [insistence on truth, and force derivable from such insistence]
 
            ท่านมหาตมะ คานธีกล่าวเมื่อวันที่ 25 มกราคม 1920/2463 หรือเมื่อ 94 ปีที่แล้ว ว่า : 1
 
            "สัตยาเคราะห์ (หรือการต่อสู้ด้วยพลังแห่งความจริง) เป็นอาวุธของผู้มีความเข้มแข็ง; สัตยาเคราะห์ไม่อนุญาตให้มีความรุนแรงใดไม่ว่าจะในสถานการณ์และรูปแบบใดทั้งสิ้น; และสัตยาเคราะห์ยืนหยัดในความจริงเสมอมั่น"
 
            ผู้ที่จะเป็นนักสัตยาเคราะห์จะต้องยึดมั่นเป็นพิเศษสุดในความจริง พลังแห่งความจริงจะเข้มแข็งทรงพลังยิ่งกว่าร่างกายที่แข็งแรง
 
            นักสัตยาเคราะห์ต้องไม่ใยดีต่อทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่ง  เพราะความมั่งคั่ง กับ ความจริง มักจะขัดแย้งตรงข้ามกันเสมอ
 
คำสอนเรื่องหลักสัตยาเคราะห์ มี 15 ข้อ : 2

            - นักสัตยาเคราะห์/อหิงสา ต่อยึดมั่นในความจริงในทุกกรณี

            - ไม่มีที่ว่างสำหรับความรุนแรง ไม่กล่าวร้ายหยาบใครต่อผู้ใด

            - ไม่มีที่ว่างสำหรับกิริยามารยาทที่ไม่สุภาพหยาบกระด้าง

            - ต้องจำไว้ว่าการต่อสู้แบบอหิงสา/สัตยาเคราะห์เป็นดุจการทำสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะเป็นผู้แพ้ในการปฏิบัติธรรมในทุกศาสนา

            - เราต่อต้านความมัวเมาลุ่มหลงในอำนาจ การใช้กฎหมายอย่างหน้ามืดตามัว

            - เราต้องคิดว่ารัฐบาลและประชาชนเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

            - เราต้องไม่คัดค้านตำหนิว่าร้ายต่อคนที่มีความเห็นต่างไปจากเรา เราต้องเอาชนะผู้มีความเห็นตรงข้ามด้วยมิตรไมตรี

            - เราต้องไม่ทำตนเป็นผู้อวดรู้ เราต้องมีความจริงใจและตรงไปตรงมา

            - เมื่อนักสัตยาเคราะห์/อหิงสา ผ่านแวะไป หรือพำนัก ณ หมู่บ้านใด (หมายถึงมาอยู่ในกรุงเทพฯ เวลานี้) จะต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือรับบริการใด ๆ จากเจ้าของบ้านให้น้อยที่สุด หากเดินเท้าไปถึงได้ก็ให้เดิน ไม่ต้องใช้ยานยนต์ ขออาหารแบบที่ทำได้ง่ายที่สุด, อย่าได้ให้ชาวบ้านต้องมาห่วงใยให้เกียรติยกย่องเรา

            -  เมื่อนักสัตยาเคราะห์/อหิงสา เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน (กรุงเทพฯ) ให้ระมัดระวังปกป้องสภาวะเศรษฐกิจของท้องที่หมู่บ้าน เมื่อมีเวลาว่าง ขอให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้าน เช่นในเรื่องการศึกษา และอื่น ๆ

            - ถ้าเป็นได้ ก็ให้ช่วยเหลือร่วมมือสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน

            - หากสังเกตเห็นปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้านที่ไปพำนักอยู่ ก็พึงแจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบด้วย

            - ต้องไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกัน

            - ให้อ่านหนังสือ หรือบรรยายเรื่องสัตยาเคราะห์เผยแพร่ต่อชาวหมู่บ้าน และทำให้รู้ว่าหลักสัตยาเคราะห์นั้นมีอยู่ในวรรณกรรมตะวันตก และในวรรณกรรมอิสลามด้วย

            - ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ในสถานการณ์เช่นไร นักสัตยาเคราะห์/อหิงสาจะต้องไม่มีการใช้อาวุธใด ๆ เด็ดขาด. เราจะต้องไม่ลืมว่าการต่อสู้นี้ ต้องใช้ "สัตยาเคราะห์/อหิงสา" ในระดับสูงสุด
 
            "สัตยาเคราะห์" หมายถึงการต่อสู้ต่อต้านการกดขี่จากฝ่ายตรงข้าม โดยเราเป็นฝ่ายอาสาที่จะเป็นผู้รับทุกข์ทรมานเสียเอง จงอย่าต่อสู้โดยทำให้ผู้อื่นได้รับทุกข์ทรมานจากการทำ "สัตยาเคราะห์/อหิงสา" ของเรา
 
            "สัตยาเคราะห์" จะนำไปสู่ชัยชนะเสมอ

            "สัตยาเคราะห์" ไม่มีวันพ่ายแพ้ 3
 
            ท่านคานธีจียังได้แสดงวิธีการทำสัตยาเคราะห์เห็น






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมเกียรติ อ่อนวิมล อธิบายการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ กับ อหิงสา อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 15:46:23 8,486 อ่าน
TOP