x close

ธีระชัย แจงศาลฯ ไม่ได้ลำเอียง ชี้ความต่าง 2 ล้านล้าน-ไทยเข้มแข็ง

ธีระชัย โพสต์ภาพการประปายกเลิกปล่อยกู้ ธ.ก.ส. แล้ว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

             ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โพสต์เฟซบุ๊ก แจงศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินลำเอียง ชี้ความต่างของการพิจารณากฎหมายกู้ 2 ล้านล้านบาทและไทยเข้มแข็ง เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องตราไว้ในรูปพระราชกำหนด 

             วานนี้ (15 มีนาคม 2557) เวลา 21.27 น. ที่เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการโพสต์ข้อความอธิบายความแตกต่างของการพิจารณากฎหมายกู้ 2 ล้านล้านและไทยเข้มแข็ง ว่า กฎหมายกู้ 2 ล้านล้านบาทนี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและไม่ได้ตราไว้ในรูปพระราชกำหนด เป็นแค่การตรากฎหมายแบบเรื่องปกติทั่วไป ทำให้ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับไทยเข้มแข็งได้ จึงถือได้ว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ลำเอียง 


โดยมีเนื้อหาทั้งหมด ดังนี้

            "การพิจารณากฎหมายกู้ 2 ล้านล้าน แตกต่างจากไทยเข้มแข็งอย่างไร

             ยังมีผู้สื่อข่าวสอบถามผม เกี่ยวกับประเด็นนี้ อีกหลายคน ซึ่งแสดงว่าคงยังมีหลายกลุ่ม ที่ไม่เข้าใจ ผมจึงเห็นว่าจำเป็นต้องอธิบาย

             ในการบริการการคลังของทุกประเทศในโลก รัฐบาลส่วนใหญ่ จำเป็นต้องออกพันธบัตร ขายแก่ผู้ลงทุนทั่วโลก เป็นประจำ ทุกรัฐบาล จึงจำเป็นต้องรักษาความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน โดยจะต้องยืนยันแก่ผู้ลงทุน ว่าประเทศนั้น ๆ ยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง อย่างชัดเจน

             วิธียึดกรอบวินัยการเงินการคลังนั้น ไม่ใช่ดูเฉพาะแต่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อรายได้ประชาชาติ เพราะสัดส่วนนี้ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ในกรอบวินัยการเงินการคลังโดยรวม แต่กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่สำคัญที่สุด ก็คือประเทศนั้น ๆ จะต้องมีระบบการควบคุมการใช้เงินของประเทศ ที่รัดกุม ระบบการควบคุมการใช้เงิน ที่ทุกประเทศใช้กันนั้น ก็คือระบบงบประมาณ

             ระบบงบประมาณของทุกประเทศ จะบังคับ ว่าถ้าหากรัฐบาลของประเทศนั้น ประสงค์จะกู้เงิน หรือจะใช้เงิน รัฐบาลจะต้องทำเป็นกฎหมายงบประมาณ เสนอผ่านรัฐสภา และรัฐสภาจะต้องมีอำนาจ และมีสามารถกำกับควบคุม การใช้เงินของรัฐบาลได้เสมอ

             ถ้าไม่มีระบบงบประมาณที่น่าเชื่อถือ นักลงทุนก็จะไม่อยากซื้อพันธบัตร รัฐบาลก็จะไม่สามารถกู้เงินได้ หรือหากจะกู้ได้ ก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงลิบ ตัวอย่างเช่น ประเทศกรีซ และประเทศลาตินอเมริกาอีกหลายประเทศ แต่จะยกเว้น เฉพาะกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นพิเศษ จึงจะอนุญาตให้ดำเนินการนอกระบบงบประมาณได้ โดยมักจะต้องออกเป็นกฎหมายฉุกเฉินพิเศษ

             กรณีของประเทศไทย การออกกฎหมายฉุกเฉินพิเศษนั้น จะกระทำในรูปพระราชกำหนด ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Emergency Decree กรณีที่มีการออกกฎหมาย ในรูปของพระราชกำหนด ภายหลังที่มีการตรารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น ก็คือ 

             (1) กรณีไทยเข้มแข็ง ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์

             (2) กรณีบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้าน ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย

             ทั้งสองกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้ขาด ให้พระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ผ่าน แต่กรณีกฎหมายกู้ 2 ล้านล้านนี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มิได้ตราไว้ในรูปพระราชกำหนด 

             เป็นการตรากฎหมายแบบเรื่องปกติทั่วไป คือตราไว้ในรูปพระราชบัญญัติ เหมือนกับกฎหมายอื่น ๆ ครับ

             ดังนั้น จึงไม่สามารถเปรียบเทียบ ระหว่างกฎหมายกู้ 2 ล้านล้าน กับไทยเข้มแข็ง หรือกับกรณีบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้าน หากจะเปรียบเทียบกับไทยเข้มแข็ง ก็ต้องเปรียบเทียบกรณีบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้าน

             การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมิได้ลำเอียงแต่ประการใด แต่คนที่จะทำความเข้าใจ จะต้องค่อย ๆ อ่านครับ"








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธีระชัย แจงศาลฯ ไม่ได้ลำเอียง ชี้ความต่าง 2 ล้านล้าน-ไทยเข้มแข็ง โพสต์เมื่อ 16 มีนาคม 2557 เวลา 10:22:37 19,821 อ่าน
TOP