เปิดคลิปจากเพจเฟซบุ๊ก Offroad & Camping Trip โพสต์คลิปพร้อมระบุข้อความว่า..“ขับกันแบบนี้ จะมีเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตาย ทุก ๆ ปีก็ไม่แปลก. (ภาพเมื่อปีที่แล้ว)
ผู้ที่กำหนด เวลาขึ้นได้สองเดือน ของเทศกาลขึ้นเขา ก็คืออุทยานแห่งชาติคิชฌกูฏ ผมถามสำหรับที่เขาบอกว่า เปิดสองเดือนเพื่อให้พักเส้นทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟู (ที่นี่เปราะบางกว่าภูกระดึงอีก?) และผมก็ถามอีกว่าขึ้นท้ายรถกระบะ ไม่ผิดกฎหมายครับ มีอุบัติเหตุขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ เขาตอบว่ามีประกันอุบัติเหตุขาย ใครกลัวจะซื้อก็ได้
ความแปลกของที่นี่คือยอดเขา มีหมอกปกคลุมอยู่ตลอด. แม้ไม่มีฝน แต่ช่วงเช้า พื้นดินก็จะแฉะ ถ้าฝนตก ก็จะบันเทิง ไอ้ที่ตรวจสอบสภาพรถ ดูสภาพยางด้วยครับว่าใช้ถูกกับงานรึเปล่า ใช้หลักการไหน ค่าขึ้นหนึ่ง 100 บาท ค่าลง100 บาท ผลประโยชน์หลายสิบล้านบาท ถ้าจะขับกันแบบนี้สร้างกระเช้าไฟฟ้าเถอะครับ ทำไมประเทศไทย มีแต่ Dreamworld กับ หาดใหญ่ ที่มีกระเช้าไฟฟ้า”
โดยคลิปดังกล่าวเป็นคลิปเมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นคลิปรถยนต์ให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งเจ้าของโพสต์ได้ตั้งคำถาม ถามหาถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ หลังเกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บ และถึงขั้นเสียชีวิต
ถึงแม้จะมีการปรับปรุงเส้นทางของถนน แต่ก็ยังมีความอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเส้นทางเป็นทางดิน ที่ตัดผ่านป่าทึบ อยู่บนพื้นที่ลาดชันและแคบ หากมีฝนตก หรือมีน้ำค้างในช่วงเช้า ก็จะทำให้ถนนลื่น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการออกมาตราการให้คิวรถยนต์ให้บริการ ดำเนินการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ ช่วงล่าง เบรก และรายการที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำในทุกปีและที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่เกิดอุบัติเหตุ รถรับ-ส่ง นักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุ จนมีผู้บาดเจ็บ 13 คน เนื่องจากระบบเบรกขัดข้อง
และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ได้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกครั้ง รถยนต์ให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ประสบอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำ ระหว่างลงจากเขา เพื่อส่งผู้โดยสารไปที่คิวรถวัดพลวง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 9 คน เป็นคนไทย 6 คน ชาวรัสเซีย 3 คน และเสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงสาววัย 28 ปี ซึ่งหนึ่งในผู้บาดเจ็บเล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อมาถึงทางโค้ง คนขับไม่ได้ชะลอความเร็ว ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เนื่องจากสภาพถนนลาดชันและช่วงเช้ามีน้ำค้าง ทำให้ถนนลื่น เป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำดังกล่าว
ซึ่งจากการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ ๆ ดังกล่าว ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก นอกจากความอันตรายของเส้นแล้ว สาเหตุก็มาจากโชเฟอร์ผู้ให้บริการรับ-ส่ง ถึงแม้จะมีความชำนาญในเส้นทาง แต่ถ้าหากประมาทก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ รวมถึงการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ถึงแม้จะตรวจสอบอย่างดี แต่หากใช้งานอย่างหนักหน่วงในช่วงเทศกาลก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย ของรถยนต์ที่นำมาใช้รับ-ส่ง ส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยน ซึ่งนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน
คิดอย่างไรกับคลิปนี้ : เปิดคลิปนาทีระทึก ! ความอันตรายของเส้นทางธรรมชาติ โชเฟอร์ขับรถขึ้นไปสู่ “เขาคิชฌกูฏ”?