x close

18 มกราคม วันกองทัพบก


18 มกราคม วันกองทัพบก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            "...ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตและเป็นเหตุที่จะทำให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาเกิดศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกันห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

            พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กล่าวมานั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทหาร ที่นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองและประชาชน วันนี้ทางกระปุกดอทคอม จึงมีประวัติของกองทัพบก มาฝากกันค่ะ

            ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการกำหนดว่าวันใดควรจะเป็นวันที่ระลึกของเหล่าทัพใด สำหรับวันกองทัพบก เมื่อก่อนได้กำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบก เนื่องจากเป็นวันที่กองทัพไทยได้ฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส โดยกระทำพิธีสวนสนามรับมอบดินแดนในอินโดจีน ที่จังหวัดพระตะบอง ต่อมาทางสภากองทัพบกได้กำหนดให้วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีเป็นวันกองทัพบก ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2135 เนื่องจากการกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น นับเป็นการรบทางบกครั้งยิ่งใหญ่ วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันกองทัพบกในช่วงนั้น

            ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ทางคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถี การกำหนดวันดังกล่าวเป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานของราชบัณฑิตยสถาน ทางกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก จึงได้เปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย และวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป


 
ประวัติกองทัพบก

ประวัติของกองทัพบก จะแบ่งออกได้เป็น 3 สมัย คือ

            สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

            ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้ปรับปรุงกองทัพบกให้มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพราะประเทศทางตะวันตกได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม ถึงประเทศไทยด้วย พระองค์จึงทรงจ้าง ร้อยเอก อิมเปย์ และ ร้อยเอก น็อกส์ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ให้เป็นครูฝึกหัดทหารบก ดังนั้นกองทหารที่ได้รับการฝึกและจัดแบบตะวันตกจึงมีดังนี้

            - กองรักษาพระองค์อย่างยุโรป

            - กองทหารหน้า

            - กองปืนใหญ่อาสาญวน

            การจัดกองทหารแบบตะวันตกในสมัยนั้นค่อนข้างกระทำได้น้อย เนื่องจากอำนาจในการปกครองทหารในกรุงเทพฯ แยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหารที่สังกัดพระบรมมหาราชวังขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว และทหารที่สังกัดพระบวรราชวัง หรือวังหน้า ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

            เมื่อ ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่ได้ทรงจัดการด้านทหารไว้เด่นชัด อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์ในการจัดการทางทหารเป็น 2 ประการ คือ

            ประการแรก การปฏิรูปการทหารเพื่อความมั่นคงแห่งราชบัลลังก์

            ประการที่สอง การปฏิรูปการทหารเพื่อความเจริญทางด้านการทหารเอง และให้เหมาะสมกับกาลสมัย ตลอดจนสามารถรักษาความปลอดภัยให้แก่ประเทศชาติ

            การทหารในสมัยนั้นค่อนข้างไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากอยู่ในอำนาจของบุคคลหลายฝ่าย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวีย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นการทหารที่เจริญก้าวหน้า พระองค์จึงโปรดให้มีปรับปรุงการทหารของไทย โดยเอาแบบอย่างทางทหารของต่างประเทศ

            สำหรับทางด้านทหารบก โปรดให้แบ่งหน่วยทหารออกเป็น 7 หน่วย ดังนี้

            - กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

            - กรมทหารรักษาพระองค์

            - กรมทหารล้อมวัง

            - กรมทหารหน้า

            - กรมทหารปืนใหญ่

            - กรมทหารช้าง

            - กรมทหารฝีพาย

            ทหารบกทั้ง 7 หน่วยนี้ มีเจ้านายและข้าราชการซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นผู้บังคับบัญชา และขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ต่อ มาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปรับปรุงกิจการทหารบกให้ดียิ่งขึ้น และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างทหารในทวีปยุโรป เนื่องจากพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ประเทศอังกฤษ และพระองค์ทรงให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารกิจการทหารใหม่ โดย

            1. เปลี่ยนชื่อกรมยุทธนาธิการ เป็น กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดูแลการปกครองเฉพาะกิจการทหารบก

            2. ยกกรมทหารเรือ ขึ้นเป็น กระทรวงทหารเรือ

            3. จัดตั้งสภาป้องกันพระราชอาณาจักร ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงทหารเรือ

            ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบมาถึงกิจการทหารด้วย ทำให้มีการยุบกรมกองและปลดข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ  ปัญหาและผลสะท้อนจากการลดค่าใช้จ่ายในราชการทหารนี้ เป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ใน พ.ศ.2475


            สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

            ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหลังจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการปรับปรุงกองทัพบกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยแบ่งราชการออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนกำลังรบ ต่อมา กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกหลังจากที่ได้สลายตัวไป เนื่องจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้จัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นใน พ.ศ.2503 กองทัพบกจึงเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดนับแต่นั้น


            สมัยปัจจุบัน

            พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปีพ.ศ. 2525 ได้พิจารณาเห็นว่า กองทัพบกยังไม่มีกองบัญชาการเป็นของตนเองเช่นเหล่าทัพอื่น ๆ  จึงได้สั่งการให้พิจารณาหาสถานที่ก่อตั้ง "กองบัญชาการกองทัพบก" แห่งใหม่ ครั้นเมื่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าย้ายไปอยู่ ณ เขาชะโงก จังหวัดนครนายก กองทัพบกจึงพิจารณาเห็นว่า สถานที่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเดิม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่มีความสง่างาม มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่กับกองทัพบก จึงได้สั่งการให้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นกองบัญชาการกองทัพบกเรื่อยมา


18 มกราคม วันกองทัพบก



 
หน้าที่ความรับผิดชอบของกองทัพบก

            กอง ทัพบก มีหน้าที่เตรียมกำลังทางบก และป้องกันราชอาณาจักรจากภัยต่าง ๆ  มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการเตรียมกำลังทางบก และมีหน้าที่อื่น ๆ ดังนี้

            - ยามปกติ เตรียมกำลังจำนวนหนึ่งให้พร้อมรบ

            - วางแผนการใช้กำลังทหาร ทั้งที่มีอยู่ในยามปกติ และที่จะขยายขึ้นในยามสงคราม

            - เตรียมระดมกองกำลังให้สอดคล้องกับแผนการใช้ กำลังทหาร หรือแผนป้องกันประเทศ

            - ป้องกันราชอาณาจักร

            - ใช้กำลังทางบกที่เตรียมไว้เข้ารบตามแผน

            - ระดมกองกำลังตามความจำเป็น เพื่อ สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารและแผนป้องกันประเทศ


กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพบก

            ใน วันสำคัญวันนี้ ประชาชนทั่วไปอาจมีการทำกิจกรรมเพื่อระลึกถึงวีรบุรุษของชาติ เพื่อที่ลูกหลานจะได้เห็นถึงความสำคัญของกองทัพไทย และความสำคัญของการป้องกันประเทศชาติ ดังนี้

            - ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ

            - ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

            - จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพบกตามสถานที่ราชการต่าง ๆ

            นอก จากการทำกิจกรรมของประชาชนทั่วไปแล้ว ทางกองทัพบกเองก็ได้มีการจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ด้วย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตวีรกษัตริย์ และเหล่าทหาร ดังนี้

            - พิธีถวายสักการะและการปฏิญาณตนต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ณ กองบัญชาการกองทัพบก

            - พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล และสวนสนามของหน่วยทหารทั่วประเทศ

            วันกองทัพบก จึงเป็นวันที่เราคนไทยทุกคนควรตระหนักถึงภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งของทหารและ วีรบุรุษไทย ที่ช่วยปกป้องบ้านเมืองและรักษาแผ่นดินไทย ให้เราคนไทยได้มีชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างสงบสุข



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, slideshare.net, rta.mi.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
18 มกราคม วันกองทัพบก อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2560 เวลา 15:10:03 14,672 อ่าน
TOP