จากกรณีข่าวสุดสลดที่ น.ส.ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปี ซึ่งตั้งใจมาเที่ยวฟูลมูนปาร์ตี้ในค่ำวันที่ 1 สิงหาคม 2558 บนเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กลับต้องมาเสียชีวิต หลังจากได้ลงไปเล่นน้ำทะเลที่หาดริ้น เพราะถูกพิษจากแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เราจึงได้ส่งผู้สื่อข่าวไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการแก้พิษเบื้องต้น และพูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิต
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทางครอบครัวก็ได้นำศพมาบำเพ็ญกุศลที่วัดไทรใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เสียชีวิต ผู้เป็นแม่และพี่สาวที่กำลังอยู่ในอาการโศกเศร้าได้เล่าว่า ผู้ตายเป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่คิดว่าจากไปเร็วขนาดนี้
ส่วนเพื่อนที่อยู่ในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นคนลงไปช่วยและโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องเช่นกัน เล่าว่า ระหว่างที่ผู้ตายเล่นน้ำอยู่กับเพื่อน ได้ไปสัมผัสถูกแมงกะพรุนพิษ ที่ลอยมากับกระแสน้ำทะเลโดยบังเอิญหลายครั้ง จนรู้สึกปวดแสบปวดร้อนทั่วร่าง จึงพยายามร้องขอความช่วยเหลือ สักพักเดียวผู้ตายเกิดวูบหมดสติ เพื่อน ๆ จึงเข้าไปช่วยอุ้มร่างขึ้นจากน้ำ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ทัน
ล่าสุด มีรายงานว่า ทีมข่าวรายการยกทัพข่าวเช้า ช่องพีพีทีวี ได้ไปสอบถาม ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ทำให้ทราบว่า แมงกะพรุนกล่อง หรือ Box jellyfish มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกจากหลายพันชนิด พบได้ในทะเลทุกที่ของประเทศไทย ลักษณะคือ ตัวใส แต่มีสายยาว มากที่สุดถึง 3 เมตร มักมีหนาแน่นในช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายน-ตุลาคม หรือวันที่ฝนตกหรือเพิ่งตกไม่นาน
เมื่อโดนเข็มพิษจากสายแมงกะพรุนกล่องจะรู้สึกแสบร้อนเหมือนโดนแซ่ฟาด ให้ขึ้นจากน้ำทันที ห้ามปัดออก เพราะจะยิ่งทำให้มันปล่อยเข็มพิษมากขึ้น จากนั้นให้ถอดเสื้อออกกันเข็มพิษที่อาจจะติดอยู่ และให้ใช้น้ำทะเลล้างออก ห้ามใช้น้ำชนิดอื่นแม้แต่น้ำส้มสายชู และหากหมดสติให้พยายามปั๊มหัวใจ อาการจะเกิดในช่วงเวลา 10 นาที หากพ้นจากนี้ถือว่าปลอดภัย ส่วนผู้เสียชีวิตรายนี้คาดว่าเกิดจากเป็นคนแพ้พิษชนิดนี้ไม่ว่าร่างกายจะแข็งแรงแค่ไหนก็ตาม รวมถึงโดนเข็มพิษไปเป็นจำนวนมาก และมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ถูกวิธี สังเกตได้จากเสื้อที่ยังไม่มีการถอดออก
ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ยังบอกเพิ่มเติมว่า แมงกะพรุนชนิดนี้เพียงตัวเดียวสามารถฆ่าคนได้ถึง 60 คน โดยในประเทศไทยพบว่ารายนี้เป็นรายที่ 13 ที่เสียชีวิต รวมถึงยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกพันกว่าคนจากแมงกะพรุนกล่อง นับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งหากประชาชนที่ต้องการเล่นน้ำในช่วงนี้ให้เล่นบริเวณคลื่นกระทบฝั่ง แมงกะพรุนจะไม่อยู่บริเวณนี้ หรือใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด โดยห้ามเล่นเมื่อเห็นน้ำทะเลขุ่น
ภาพจาก ยกทัพข่าวเช้า , เฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) EMIT_1669
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
รายการยกทัพข่าวเช้า ช่อง PPTV