Sarawut Chamsaeng / shutterstock.com
ปราชญ์พึงรักษาศีล พุทธศาสนสุภาษิตที่ชาวพุทธควรยึดมั่น และถือเอาไว้เป็นคติสอนใจตัวเอง เพื่อนำพาชีวิตไปสู่ความเป็นมงคล ไม่หลงทางพุทธศาสนสุภาษิตเป็นคำสั่งสอนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และแม้เราจะไม่ได้คุ้นเคยกับพุทธศาสนสุภาษิตมากเท่าไร แต่หากมีโอกาสได้อ่านหรือฟังธรรมที่แฝงไปด้วยคำสอนเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ว่าใครก็ต้องเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมกันบ้าง
อย่างคำกล่าวที่ว่า ปราชญ์ พึงรักษาศีล ที่หากได้รู้ความหมายอันลึกซึ้งของพุทธสุภาษิตประโยคนี้แล้ว เชื่อว่าทุกคนจะมีสติกับการใช้ชีวิตกันมากขึ้น
ปราชญ์พึงรักษาศีล หรือในภาษาบาลีว่า สีลํ รกฺเขยฺย เมธาวี (สีลังรักเขยยะเมทาวี) สามารถตีความหมายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ดังนี้
ปราชญ์ หมายถึง ?
บุคคลผู้มีปัญญา รู้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควร รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป จึงสามารถประพฤติตนด้วยวิถีละสิ่งที่เป็นบาป และเจริญแต่สิ่งที่เป็นกุศล เพราะการรักษาศีลก็เป็นการทำบุญกุศลอย่างหนึ่งซึ่งมีอานิสงส์มาก ปราชญ์ท่านก็รู้จึงได้รักษาอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ นั่นก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต อีกทั้งการรักษาศีลให้อยู่กับตัวได้ ก็เปรียบเสมือนได้สร้างปราการป้องกันความผิดบาป หรือการกระทำชั่วใด ๆ ก็ตาม
ศีล หมายถึง ?
ศีล คือ คุณธรรม ที่ทำให้มนุษย์เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์ไปด้วยคุณงามความดี มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ โดยมีศีลเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิตตามทำนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น งดเว้นจากการประพฤติสิ่งชั่วร้าย และเมื่อถือศีลก็จะปลอดภัยต่อบาปกรรม และจะไม่พาตัวเองไปสู่อันตราย
เพราะเมื่อรักษาศีลให้ดีให้เคร่งครัดแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวต่อโทษและภัยต่าง ๆ ทั้งยังเป็นการป้องกันตัวเองจากอบายมุข และเป็นหนทางที่จะยกตนขึ้นสู่การปฏิบัติธรรมชั้นสูง ๆ ขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงพระนิพพาน
วิธีปฏิบัติตนให้เป็นปราญช์ พึงรักษาศีล
โดยพื้นฐานแล้ว ศีลที่ชาวพุทธควรรักษา และยึดปฏิบัติให้มั่นก็คือศีล ๕ ซึ่งมีหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยการเป็นโจร
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากกล่าวคำเท็จ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด หรือติฉินนินทา
๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
การเป็นปราชญ์ผู้รักษาศีลไม่ได้ยากเย็นเกินเจตนาดีที่เรามีอยู่แน่ ๆ ฉะนั้นอย่างน้อยก็ควรมีสติในการดำเนินชีวิต รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี และหมั่นสร้างบุญสร้างกุศลด้วยการทำดีวันละเล็กละน้อยก็น่าจะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้บ้างนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโชติการาม, พระ บันดล แสงงาม, สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย