บก.ลายจุด บอก อย่าปลูกเลย หลัง โจอี้ บอย ผุดเพจปลุกระดมคนปลูกป่า ชี้ป่าต้องไม่เกิดจากการปลูก ชี้ภูเขาหัวโล้นเพราะชาวบ้านยากจน แนะสนับสนุนให้คนมีกินและมีป่าอยู่ร่วมกัน
เป็นกระแสโซเชียลที่ชาวเน็ตให้ความสนใจอย่างล้นหลาม หลังจากที่ โจอี้ บอย ได้ออกตัวพร้อมช่วยปลูกป่าเมืองน่าน พร้อมเชิญชวนประชาชนที่สนใจมาร่วมมือกัน พร้อมจัดตั้งเพจ "ปลูกเลย" ขึ้นมานั้น
ก่อนอื่นเลย ตนไม่เคยเห็นการปลูกป่าจริง ๆ ส่วนใหญ่ปลูกแค่ต้นไม้ โดยต้นไม้ที่ปลูกก็มักเป็นรูปแบบของไม้เศรษฐกิจ หรือที่เรียนกันมาว่าในป่าต้องมีต้นสักอะไรทำนองนี้ แต่ในความจริงป่ามีต้นไม้นับร้อยนับพันชนิด ป่าที่สมบูรณ์มีเรือนไม้ 7 ชั้น (7ระดับ)
ภูเขาหัวโล้นที่พวกเราเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจนั้น รากของปัญหามาจากปัญหาความยากจน เพราะพวกเขาต้องปลูกพืชเศรษฐกิจระยะสั้นที่เก็บเกี่ยวภายใน 3 เดือน ป่าไม่ต้องปลูก เพียงมนุษย์เราไม่ไปรบกวนมัน ภูเขาหัวโล้นที่เห็นด็จะฟื้นฟูตัวเองด้วยเริ่มจากไม้เบิกนำ ซึ่งได้แก่ หญ้า ไผ่ และ กล้วย ภายในฤดูฝนเดียวภูเขาทั้งลูกก็จะเขียวขจี หลังจากนั้นต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ก็จะกลับคืนมา
ลองคำนวณว่าถ้าเราต้องไปปลูกต้นไม้บนเขาสักลูกหนึ่งให้ได้เท่ากับที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองใน 1 ปี จะต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรเท่าไหร่เพื่อการนี้
คำตอบที่ถูกต้องคือ ช่วยสนับสนุนชาวบ้านให้มีกินและมีป่าอยู่ไปด้วยกัน อย่าให้พวกเขาหิวโหยในขณะที่นั่งดูต้นไม้เขียว ๆ แบบที่คนกรุงเทพฯ อยากให้เห็น
ดังตัวอย่างเช่นที่อินโดนีเซีย ซึ่งมีปัญหาการทำลายป่าพรุ มีองค์กรแห่งหนึ่งคิดวิธีการระดมทุนเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้ แทนที่จะไปเผาหรือถางป่าก็ไปตรวจดูสุขภาพและความเป็นอยู่ของป่าไม้ แถมยังสร้างจิตสำนึกไปพร้อม ๆ กัน
จริง ๆ มีวิธีการอีกมากที่ชาวบ้านจะอยู่กับป่าได้โดยไม่รุกรานกัน แต่ตนรับประกันว่าไม่ใช่การไปปลูกป่าแล้วตะโกนให้ชาวบ้านตรงนั้นช่วยกันอนุรักษ์เพียงฝ่ายเดียว
และอย่าได้ตีความข้อความนี้เป็นการต่อต้านหรือหมิ่นความปราถนาดีที่ โจอี้ บอย มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ตนเพียงอยากร่วมมือเพื่อให้สิ่งนี้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดเท่านั้น
ขณะที่ชาวเน็ตไม่ใช่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยมองว่าตามกลไกของธรรมชาตินั้นป่าจะมีการฟื้นฟูตัวเองอยู่แล้ว การเข้าไปปลูกอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นหากไม่ศึกษา แต่ถึงอย่างนั้นบางคนมองว่าจะช่วยปลูกป่าก็น่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นที่ดี ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกันช่วยคิดทางออกในการฟื้นฟูป่าร่วมกัน
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สมบัติ บุญงามอนงค์