x close

แซนโฎนตา พิธีบูชาบรรพบุรุษในวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเขมร

วันแซนโฎนตา

        ประเพณีแซนโฎนตา 2560 ตรงกับวันที่ 19 กันยายน ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

        ประเพณีวันสารทของชาติต่าง ๆ นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ครอบครัวและเครือญาติได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เฉกเช่นเดียวกับ "วันสารทไทย", "วันสารทจีน" และในวัฒนธรรมของชาวเขมรก็มีประเพณี "วันสารทเขมร" หรือที่เรียกกันว่า "ประเพณีแซนโฎนตา" ซึ่งชาวเขมร รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างยิ่ง

ความหมายของแซนโฎนตา

          วันแซนโฎนตา หรือ ไงแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งในปี 2560 วันแซนโฎนตา ตรงกับวันที่ 19 กันยายน

          คำว่า "ไง" หมายถึง วัน คำว่า "แซน" หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า "โฎน" หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า "ตา" หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร

วันแซนโฎนตา

พิธีแซนโฎนตา สำคัญอย่างไร

          ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานชาวเขมรที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

          ทั้งนี้ ชาวเขมรมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า "วันเบ็นตูจ" โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ "วันเบ็นทม" ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา

          การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไปไม่สิ้นสุด

          หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเตรียมตัวทำบุญตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 สาเหตุเป็นเพราะมีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษที่ถูกปล่อยมาในวันนั้นต้องเดินทางมาไกล และเกิดความเหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย และทรมานจากการรับกรรมอยู่ในนรก

          เมื่อมาถึงโลกมนุษย์ก็จะอยู่ที่วัด รอคอยว่าญาติหรือลูกหลานจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้หรือไม่ หากเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติหรือลูกหลานนำอาหารจำนวนมากมาทำบุญที่วัด บรรพบุรุษก็จะเกิดความปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องกลับไปนรก ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่เห็นลูกหลานเตรียมสำรับไว้ให้ ก็จะรู้สึกโศกเศร้า ผิดหวัง จนโกรธและสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ ดังนั้นชาวเขมรจึงประกอบพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วันแซนโฎนตา

เครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในพิธีแซนโฎนตา

          สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ที่นิยมใช้ในพิธีมีทั้งอาหารและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับอุปกรณ์ก็อย่างเช่น เสื่อหวาย ที่นอนแบบพับ หมอน ผ้าขาว ผ้าไหม ผ้าโสร่ง อาภรณ์ต่าง ๆ พาน ธูป เทียน กรวย 5 ช่อ ที่ทำจากใบตองสดม้วนเป็นกรวย แล้วสอดด้วย ธูป และใบกรุย สำหรับการจัดกรวย 5 ช่อ มีความหมายคือ "ขันธ์ 5" หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

          ในส่วนของอาหารนั้น มีทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ เครื่องดื่มที่ลูกหลานแต่ละบ้านช่วยกันทำ ได้แก่

          - อาหารหวาน เช่น ขนมกระยาสารท ขนมนางเล็ด ข้าวเม่า ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ขนมเทียน ขนมเปีย ขนมฝักบัว ขนมโดนัทเขมร หรือขนมกันตรำ เป็นต้น
          - อาหารคาว เช่น กับข้าวที่ทำจากเนื้อหมู ปลา ไก่ และอาหารประเภทข้าวต้มต่าง ๆ
          - ผลไม้ เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยสุก ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น
          - เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า เหล้าขาว น้ำอัดลม เหล้าสีต่าง ๆ

          อีกส่วนสำคัญคือการเตรียม "บายเบ็ญ" โดยเตรียมอาหาร ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงเล็ก ๆ หลายใบ และจัดใส่กระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ นำมาตั้งไว้นอกรั้วบ้านในวันแรม 15 ค่ำ เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติ

วันแซนโฎนตา

ขั้นตอนประกอบพิธีแซนโฎนตา

          ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 แต่ละบ้านจะจัดเตรียมสำรับและเครื่องเซ่นไหว้ไว้ที่บ้าน จากนั้นผู้อาวุโสจะเรียกถามหาลูกหลานว่ามาพร้อมหน้าหรือยังแล้วให้มารวมกันหน้าเครื่องสักการะ ก่อนจะเริ่มพิธีเซ่นไหว้ด้วยการจุดธูปเทียน กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย สวดชุมนุมเทวดา และพูดเชื้อเชิญดวงวิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ จากนั้นญาติ ๆ จะผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปกรวดน้ำ รินน้ำล้างมือ และรินเครื่องดื่ม เช่น เหล้า น้ำอัดลม ฯลฯ รวมทั้งพูดรายชื่ออาหารคาว-หวาน ผลไม้ต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษชอบ เพื่อบอกให้รู้ว่ามีเครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง


          จากนั้นทิ้งระยะเวลาช่วงหนึ่งแล้วลาสำรับ ลูกหลานก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้นั้นมารับประทานร่วมกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ลูกหลาน ญาติมิตร เพราะหนึ่งปีมาพบหน้ากันเพียงครั้งเดียว ก่อนที่จะเดินทางกันไปที่วัดเพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมกับเชิญบรรพบุรุษไปที่วัดด้วย เมื่อกลับมาที่วัด ลูกหลานจะเตรียมปูที่นอนและเครื่องใช้ให้บรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษจะค้างที่บ้านในคืนนี้

          พอวันรุ่งขึ้นก่อนสว่าง ลูกหลานจะทำเรือกาบกล้วย ใส่เงินกระดาษ ขนม อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ และเสื้อผ้า ของใช้ขนาดเล็ก จุดธูปเทียนแล้วลอยไปในแม่น้ำ หรือบ่อในบริเวณบ้านเพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่ยมโลกก่อนสว่าง หากไม่ทำเรือส่งท่านก็จะกลับไปยมโลกไม่ได้ และจะติดค้างอยู่ในโลกจนกระทั่งถึงไงแซนโฎนตาอีกรอบ นับเป็นการสร้างบาปและความทุกข์แก่วิญญาณบรรพบุรุษ

          ทั้งนี้ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงเช้าตรู่ ชาวไทยเชื้อสายเขมรทุกครอบครัวก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปที่วัดอีกครั้ง เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีไม่มีญาติ และนำบายเบ็ญวางไว้นอกรั้วบ้าน

          อย่างไรก็ตาม การประกอบพิธีดังกล่าวอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

วันแซนโฎนตา

พิธีแซนโฎนตาในประเทศไทย

          เมื่อใกล้ถึงวันสารทเขมร ลูกหลานชาวไทยเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ จะออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปประกอบพิธีเซ่นไหว้ หรือหากใครเดินทางไปทำงานยังถิ่นอื่น ก็จะเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงนี้

          ขณะที่ภายในจังหวัดเองก็มีการจัดงานประเพณีแซนโฎนตาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ประชาชนชาวไทยเขมรได้มีความรัก ความสามัคคี และแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นการสืบทอดประเพณีนี้ต่อไป

ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, INN

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
เฟซบุ๊ก Buriram Lifestyle
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แซนโฎนตา พิธีบูชาบรรพบุรุษในวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเขมร อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2560 เวลา 11:43:24 80,623 อ่าน
TOP