x close

ประวัติสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประวัติพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

        ประวัติ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)  เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ได้รับโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

       เป็นเรื่องที่สังคมติดตามข่าวกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ซึ่งภายหลังได้มีการเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่หลายองค์



       จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดเผยพระบรมราชโองการของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็น สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะมีการสถาปนา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

        ประวัติ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

       สำหรับประวัติของ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ปัจจุบัน สิริอายุ 89 ปี 68 พรรษา ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม สังกัดธรรมยุติกนิกาย รวมทั้งยังเป็นแม่กองงานพระธรรมทูต มีนามเดิมว่า นายอัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี บิดาชื่อ นายนับ ประสัตถพงศ์ ส่วนมารดาชื่อ นางตาล ประสัตถพงศ์

       เมื่อเติบโตขึ้น นายอัมพร ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมืองลพบุรี จนจบชั้น ป.4 และได้บรรพชาเป็นสามเณรที่บ้านเกิด เมื่อปี 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมา สามเณรอัมพร ได้จำพรรษาที่ วัดตรีญาติ ต.พงสวาย อ.เมืองราชบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ในปี 2483 ก่อนจะสอบได้นักธรรมชั้นโท ในปี 2484 สอบได้นักธรรมชั้นเอกและสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี 2486 นอกจากนี้ยังสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค เมื่อปี 2488

        ต่อมาในปี 2490 สามเณรอัมพร ได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร และได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์


       เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชรวิหาร และสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ในปี 2491 และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ในปี 2493 ก่อนจะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก่อนจะจบการศึกษาในปี 2512

       นอกจากนี้ในปี 2552 ทางมหาเถรสมาคม ได้มีมติแต่งตั้งให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พระสาสนโสภณ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เนื่องจากสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร องค์เดิม มรณภาพด้วยโรคปอดติดเชื้อ

       ต่อมาในปีเดียวกัน สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ และในปี 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ เนื่องจากเห็นว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้บำเพ็ญศาสนกิจนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนา สังคม ประเทศชาติ

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประวัติพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

       สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ กับสมณศักดิ์ ที่ผ่านมา มีดังนี้

      - ปี 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี

       - ปี 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

       - ปี 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

       - ปี 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

       - ปี 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

       - ปี 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประวัติพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ประวัติพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพและข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ Nalinee_PLE, mcu.ac.th, mahathera.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15:22:23 119,238 อ่าน
TOP