เผยวิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย บิดเบือนคำสอนหรือไม่


ว.วชิรเมธี

          เผยวิทยานิพนธ์ ท่าน ว.วชิรเมธี ถึงกรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย ชี้พบเพียงสองลักษณะเท่านั้น คือ ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

          จากกรณีข่าววัดพระธรรมกาย  ที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามของใครหลาย ๆ คนว่า คำสอนของวัดพระธรรมกาย นั้น เป็นการบิดเบือนคำสอนตามพระไตรปิฎกหรือไม่ และเป็นพุทธพาณิชย์อย่างสุดโต่ง โดยการยกเรื่องการทำบุญมาเป็นสินค้าหรือไม่ แท้จริงแล้ววัดพระธรรมกายยึดมั่นหลักคำสอนในพระไตรปิฎกแค่ไหนนั้น...

วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก kan Sangtong/Shutterstock.com

          ทั้งนี้มีข้อมูลเชิงวิชาการจาก บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย (๒๕๔๖)" ของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง) หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี

          โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาบทบาทเฉพาะกรณีวัดพระธรรมกายอย่างเป็นด้านหลัก และศึกษากรณีอื่น ๆ เช่น กรณีสันติอโศก เป็นต้น เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวคิด บทบาท รวมทั้งแรงจูงใจที่เป็นเหตุปัจจัยให้ท่านมีแนวคิดและดำเนินบทบาทในการทำงานรักษาพระธรรมวินัยในแต่ละครั้ง

          ทั้งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้วิเคราะห์สาระสำคัญในการศึกษากรณีวัดพระธรรมกายไว้ 5 บท และสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาเรื่องนี้ 7 ข้อ ดังนี้
วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

          1. กรณีวัดพระธรรมกายหมายถึงชื่อเรียกโดยรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่วัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งสรุปแล้วมีเพียงสองลักษณะเท่านั้น คือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

          2. วัดพระธรรมกาย ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต ซึ่งมีการทำลายความเชื่อถือของพระไตรปิฎก อีกทั้งพยายามปลอมปนคำสอนลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก อีกทั้งพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตน หรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศ โดยใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นอ้างเป็นมาตรฐาน เพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา อาทิ เรื่องนิพพาน ซึ่งพยายามชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบุญ คือสินค้าชนิดหนึ่ง และเมื่อทำบุญและอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่าง ๆ ได้อย่างปาฎิหาริย์

วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA/AFP

          3. นำเอาลัทธิทุนนิยมเข้ามาผสมผสานจัดการการบริหารวัด มีการจัดตั้งองค์กร ระดมทุนและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อีกทั้งสร้างสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนา ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้วัดพระธรรมกายมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และชื่อเสียง แต่วิธีดังกล่าวกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ธรรมดา ไม่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง


          4. พฤติการณ์ของวัดพระธรรมกายนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า หากวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้นไป และสังคมไทยอาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิวิธีที่ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงายไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้


วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก kan Sangtong/Shutterstock.com

          5. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เห็นว่า การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตก็ดี การประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสถาบันสงฆ์ และต่อสังคมไทย ท่านจึงได้อุทิศตนเองออกมาทำหน้าที่ในการรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยการชี้แจงแสดงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาผ่านหนังสือชื่อ "กรณีธรรมกาย" และผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ

วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

           6. สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) สามารถดำเนินบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นเพราะท่านเจริญรอยตามพุทธจริยาและปฏิปทาของบุรพาจารย์ทั้งหลายแต่ปางก่อน และเพราะท่านประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การมีจิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธ การถือธรรมและถือประโยชน์สุขของมหาชนเป็นใหญ่ การเป็นภิกษุผู้เปี่ยมด้วยกตัญญุตาธรรมต่อพระพุทธศาสนา และการมีคุณสมบัติของชาวพุทธชั้นนำตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้อย่างครบถ้วน

วัดพระธรรมกาย
ภาพจาก LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP

          7. ในกรณีวัดพระธรรมกายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ทำบทบาทที่สำคัญสองประการด้วยกัน ดังนี้

          - การทำหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม
          - การได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างของชาวพุทธชั้นนำผู้มีศักยภาพพร้อมเต็มที่ที่จะทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน

วัดพระธรรมกาย

          โดยบทบาททั้งสองประการนี้นอกจากจะช่วยให้กรณีวัดพระธรรมกายคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาพระธรรมวินัยแก่ชาวพุทธร่วมสมัยและแก่อนุชนในภายหลังได้อย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่บุรพาจารย์ทั้งหลายได้เคยทำเอาไว้ในอดีตอีกด้วย

          สำหรับวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม สามารถคลิกอ่านได้ >>ที่นี่<<

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยวิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย บิดเบือนคำสอนหรือไม่ อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2560 เวลา 18:09:51 57,300 อ่าน
TOP
x close