ประมงจังหวัดสกลนคร เตรียมเปลี่ยนชื่อ ปลาสวาย เป็น ปลาโอเมก้า 3 แก้วิกฤตคนไทยไม่นิยมบริโภค เหตุมีกลิ่นคาว-ราคาถูก ชี้มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเลน้ำลึก พร้อมผลักดันเกษตรกรเลี้ยง เพิ่มมูลค่าการตลาด วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ว่าที่ร้อยโท สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ปลาสวายเป็นปลาที่ผู้บริโภคมักไม่นิยมรับประทาน ด้วยนิสัยสายพันธุ์ของปลาดังกล่าวที่มักจะอาศัยอยู่ในน้ำขุ่น ไม่สะอาด รวมไปถึงหากผู้บริโภคนำมารับประทานแล้วชำแหละไม่ถูกต้องจะมีกลิ่นคาวมาก เพราะปลาสวายมีเส้นกลิ่นคาวอยู่ข้างลำตัว และมีราคาที่ไม่สูงมาก รับซื้อกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท จึงทำให้ผู้บริโภคมองว่าเป็นปลาไม่อร่อย
แต่ความจริงแล้วปลาสวายมีโอเมก้า 3 สูงมาก สูงกว่าปลาทะเลน้ำลึก
หากบริโภคแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานของสมอง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครจึงได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดสกลนคร
ดำเนินการทำให้ปลาสวายที่เปี่ยมไปด้วยโอเมก้า 3
กลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ
และช่วยเพิ่มมูลค่าของปลาสวายให้มีราคามากขึ้น
ด้าน ว่าที่ร้อยโท
สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า
อันดับแรกต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่า ปลาสวายมีโอเมก้า 3
ที่สูงมาก 2,570 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว
พร้อมกับเตรียมตั้งชื่อ ปลาสวาย อีกชื่อเป็น ปลาโอเมก้า 3
เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม
ในส่วนการเลี้ยงประมงจังหวัดสกลนคร จะส่งเสริมให้เกษตรกรทราบถึงวิธีเลี้ยง
การจัดหาช่องทางจำหน่าย และการแปรรูป เช่น นำไปประกอบอาหารเป็นเมนู ลาบ
ต้มแซ่บ ปลาแดดเดียว หมกปลา ลวกจิ้ม หรือดัดแปลงเป็นเมนูอื่น
ให้ร้านอาหารนำไปประกอบอาหารสร้างกลไกทางตลาด
เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบริโภคปลาน้ำจืดที่มีประโยชน์สูง ราคาถูก
และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
ที่สำคัญต้องส่งเสริมทุกโรงเรียนให้เยาวชนบริโภคปลา
เพื่อสร้างพัฒนาการด้านสมอง
ภาพและข้อมูลจาก