x close

ทดสอบตู้อัตโนมัติ APM ส่งกลับ สิ่งต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน


            จากเหตุดราม่าฮอตเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรณี นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความชื่อดัง โพสต์คลิปและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โวยเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองไร้น้ำใจ ยึด "สิ่งต้องห้าม" ซึ่งเป็นของเหลวขนาด 120 กรัม กับ 150 กรัม ประกอบด้วยครีมล้างหน้ายี่ห้อดังกับน้ำมันรกแกะ

            โดยฝ่ายทนายดัง ระบุว่า แม้จะพยายามฝากเอาไว้ หรือขอวางไว้ เพื่อให้คนมารับกลับ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม จึงถ่ายรูปขู่ห้ามใครลักทรัพย์ ทำให้ถูกกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนัก เพราะเป็นทนายแต่ไม่เคารพกฎระเบียบ จนกลายเป็นกระแสที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง

            อันที่จริงปัญหาดังกล่าวก็พอมีทางออกอยู่ ณ ปัจจุบัน ภายหลังจากทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท. ได้นำตู้ "APM" (Automated Postal Machine) หรือ "ตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติ" มาเริ่มติดตั้งให้ใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 บริเวณผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ฝั่งตะวันออก (Zone 2) และฝั่งทิศตะวันออกบริเวณแถว D โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่เราไม่ต้องไปยืนเข้าคิวที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ให้เสียเวลา และมีข่าวว่าเตรียมติดตั้งเพิ่มเช่นกันที่สนามบินดอนเมือง

            จุดประสงค์ของเจ้าเครื่อง APM ก็เพื่อให้ผู้โดยสารที่บังเอิญลืม หรือถูกตรวจพบว่ามี "สิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน" ติดตัวอยู่ด้วยนั้น จะได้ไม่ต้องเอาไป "ทิ้ง" ให้เสียของ แต่นำมาส่งกลับไปยังที่บ้านพัก หรือจุดที่ต้องการได้ โดยเสียค่าบริการเล็กน้อย
            ล่าสุด ทางผู้สื่อข่าวกระปุกดอทคอม ได้เดินทางไปพิสูจน์ทดลองใช้งานตู้ APM นี้แล้วที่สุวรรณภูมิ

            จากประสบการณ์ตรงถือว่าการใช้งานไม่ยุ่งยากมากนัก หากมีพื้นฐานการใช้ "ตู้อัตโนมัติ" ซื้อสินค้าต่าง ๆ อยู่แล้ว และอ่านขั้นตอนการใช้งานที่ตู้น่าจะใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา สามารถตอบโจทย์ในการที่ไม่ต้องเอาของที่ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ไปทิ้งให้สูญเปล่า

            อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่อาจไม่ค่อยสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการ อาทิ การที่ระบบขอข้อมูลบัตรประชาชนหลายรอบทั้งในขั้นตอนการชำระเงิน และขั้นตอนการส่ง รวมถึงกรณีหลังจากชำระเงินแล้ว

            นอกจากนั้น หากผู้ใช้สามารถกรอกที่อยู่ที่ต้องการจัดส่ง และซองออกมาพร้อมพิมพ์ที่อยู่เลยก็น่าจะดี เพราะกรณีแบบนี้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเนื่องจากผู้โดยสารบางคนอาจ "ไม่มีเวลามากนัก" ก่อนขึ้นเครื่อง หากทำได้จะสะดวกและชัดเจน  และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

            แต่สำหรับภาพรวมหลังได้ทดลองใช้เครื่อง APM แล้วถือว่าเครื่องนี้เป็นก้าวแรกที่ดีมากสำหรับการให้บริการประชาชนด้วยระบบตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติ ที่อาจพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในอนาคต

            สำหรับวิธีการใช้งานตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติ มีสองส่วนคือ การชำระค่าบริการ และขั้นตอนการฝากส่งพัสดุ ดังขั้นตอนต่อไปนี้

1. ชำระค่าบริการ
            - กดเลือกภาษา
            - ใส่เลขบัตรประชาชน หรือ เลขหนังสือเดินทาง
            - เลือกประเทศที่จะส่ง เลือกรหัสไปรษณีย์
            - เอาพัสดุที่จะส่งวางลงชั่งน้ำหนัก
            - เครื่องคำนวณค่าขนส่ง ให้เราชำระเงิน (ช่องใส่เงินอยู่ทางด้านขวา)
            - หลังจากชำระเงิน จะมีซองหล่นมาในช่องทางซ้ายมือของเรา หยิบซองมาใส่สิ่งของที่ต้องการฝากส่ง และจ่าหน้าซองให้เรียบร้อย
            - เครื่องจะพิมพ์สแตมป์ กับ ใบสลิป มาให้อย่างละชิ้น เก็บไว้เพื่อใช้ต่อในขั้นตอน การฝากส่ง

2. การฝากส่ง
            - กดเลือก การฝากส่ง
            - นำ สลิป ที่เครื่องพิมพ์มาให้มา สแกนบาร์โค้ด และทำการชั่งน้ำหนักของอีกครั้ง
            - เมื่อสแกนเสร็จ ฝาที่เปิดอยู่ด้านล่างตู้จะเปิดออก ให้เราใส่ซองพัสดุเข้าไป
            - หลังจากนั้นเครื่องจะพิมพ์สลิปออกมาให้อีกใบ เก็บไว้เป็นหลักฐาน
          

ข้อควรระวังในการส่งของผ่านระบบตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติ ได้แก่
            - น้ำหนักสิ่งของที่ต้องการศกส่งนั้นจะต้องไม่เกิน 500 กรัม
            - สิ่งของที่ห้ามฝากส่ง เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด สิ่งมีชีวิต วัตถุอัดก๊าซ เป็นต้น
            - ตู้นี้รับเหรียญ 1, 2, 5, 10 และธนบัตร 20, 50, 100, 500, 1000 และตู้สามารถทอนเงินได้
            - ตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติ ไม่มีปากกาให้ ต้องนำติดตัวไปเอง เพื่อเขียนจ่าหน้าจดหมาย
            - พัสดุที่จัดส่งนั้น จะเป็นแบบด่วนพิเศษ (EMS) ค่าบริการราคา 50 บาทต่อชิ้น


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทดสอบตู้อัตโนมัติ APM ส่งกลับ สิ่งต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2560 เวลา 12:09:04 4,617 อ่าน
TOP